เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าว Laotian Times รายงานถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างบ้านให้กับผู้ประสบภัยจากสันเขื่อนดินย่อย D ของเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย แตกเมื่อ 2561 หรือเมื่อ 4 ปีก่อนว่ายังไม่แล้วเสร็จตามเป้าหมายโดยอ้างเหตุโควิดทำให้ขาดแรงงานและอุปกรณ์ก่อสร้าง
กรณีเหตุสันเขื่อนดินย่อย D ของเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย แตก ที่เมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว ได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติต่อประชาชนในพื้นที่นับหมื่นราย และมีผู้เสียชีวิต 40 คน โดยผู้รอดชีวิตได้พักพิงอยู่ ศูนย์พักพิงชั่วคราวในพื้นที่ทางรัฐบาลและบริษัทเจ้าของโครงการจัดหาให้ ขณะนี้ทางบริษัทเจ้าของโครงการกำลังก่อสร้างบ้านทดแทนให้กับประชาชน จำนวน 770 หลังคาเรือน นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ด้วยมูลค่ากว่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 การก่อสร้างบ้านเรือนดังกล่าวคืบหน้าเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นายสุลีวง อาไพวง นายอำเภอเมืองสนามไซย แขวงอัตตะปือ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างบ้านเรือนให้ประชาชนนั้นดำเนินการโดยบริษัทวันแสง คอนสตรัคชั่น เดเวอลอฟเมนท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้สัมปทาน ขณะนี้มีบ้านที่สร้างเสร็จและได้ส่งมอบให้กับผู้ประสบภัยแล้ว 401 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 700 หลังคาเรือน และกำลังก่อสร้างอีก 299 หลัง
“การก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถส่งต่อให้ชาวบ้านได้ตอนนี้ ความคืบหน้าประมาณ 88 เปอร์เซ็นต์” เขากล่าวพร้อมระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 และการล็อคดาวน์เมืองต่าง ๆ ทำให้ขาดแคลนแรงงานจากต่างถิ่น และทางการได้คุยกับผู้รับเหมาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน นี้
ทั้งนี้สหประชาชาติ ได้สนับสนุนเงินในการก่อสร้างบ้านเพิ่มเติมให้กับกรณีจำนวน 66 หลังคาเรือน และรัฐบาลไทยได้ใช้เงินทุนสนับสนุนจำนวน 35 หลังคาเรือน
อนึ่ง เว็บไซต์ EGAT Today ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งดําเนินการโดย บริษัท เซเปียน เซน้ำน้อย พาวเวอร์ จำกัด (PNPC) ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ (Commercial Operation Date : COD) ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากผ่านการทดสอบการเดินเครื่องและได้รับการรับรองจาก กฟผ. โดยจะมีอายุของสัญญา 27 ปี นับจากวันซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ มีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาเท่ากับ 2.432 บาท/หน่วย(กิโลวัตต์ชั่วโมง)