เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าวอิรวดี รายงานว่า ทหารพม่าได้โจมตีด้วยปืนใหญ่และจุดไฟเผาบ้านเรือน ในหมู่บ้านงาปิโอ เกวปีงโกน และหมู่บ้านนะมะซายิ้ด อำเภอชเวโบ ภาคสะกาย ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 24 และ เช้าวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยเผาบ้านเรือนประมาณ 200 หลังในหมู่บ้านงาปิโอ จากนั้นจึงเผาบ้านในหมู่บ้านเกวปีงโกนต่อ และเมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. ทหารพม่าได้บุกเข้าไปในหมู่บ้านนะมะซายิ้ด และได้จุดไฟเผาบ้านเรือนของประชาชน
ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า “ทหารพม่ายิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านนะมะซายิ้ดจนเกิดไฟไหม้และมีผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตจากการโจมตี” และได้มีการเข้าจู่โจมอย่างกะทันหันทำให้ชาวบ้านกว่า 5,000 คน จากหมู่บ้านงาปิโอ เกวปีงโกน นะมะซายิ้ด มองแต้ะ โอนเป้า แตโกน หยั่วตะโกน กั่งจีโกน ตะกังตา แส่จี และหมู่บ้านโจจา ต้องหลบหนี

ด้านรัฐคะเรนนีมีรายงานว่า ขณะที่ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังคะเรนนีเป็นเวลา 9 วันในเมืองโมบะแย ชายแดนระหว่างรัฐฉานและรัฐคะเรนนี กำลังขาดแคลนอาหารและที่พักพิงอย่างมาก โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนคะเรนนี เปิดเผยว่า การต่อสู้ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ ไม่เพียงแต่ชาวบ้านในเมืองโมบะแยและบริเวณรรอบๆเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ลี้ภัยจากการสู้รบที่ลอยก่ออีกครั้งที่ต้องการอาหาร น้ำ ยา และที่พักพิง สำหรับผู้ลี้ภัยกว่า 10,000 คน
Karenni Nationalities Defense Force (KNDF) ประกาศว่า การต่อสู้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ นอกจากยานเกราะแล้ว ยังมีการยิงปืนใหญ่ระยะไกล 120 มม. และ80 มม. ทำให้พลเรือนมากกว่า 10 คนเสียชีวิต
ด้านโฆษกของ Karenni Democratic Front (KDF) กล่าวว่า กองทัพพม่ากำลังเข้าโจมตีด้วยเส้นทางทัพ 2ทาง ผ่านเมืองโมบะแย ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจะมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านที่มีผู้ลี้ภัยมากที่สุด
ขณะที่สำนักข่าว Dawei Watch รายงานว่า เยาวชน 9 คนถูกจับที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองทวาย และถูกพิพากษาจำคุก 9 ปี โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 เยาวชน 9 คน ถูกจับกุมที่ร้านอาหาร Micky ในเขตซีงซัด เมืองทวาย โดยถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 505(ก) 505(ค) และ52(ก)
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 505(ก) ระบุว่าผู้ใดเผยแพร่ข้อความ กระจายข่าวลือ ด้วยเจตจำนงที่ทำให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร ต้องฝ่าฝืนคำสั่ง เพิกเฉย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ต้องได้รับโทษปรับหรือจำคุกเป็นเวลา 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 505(ค) ระบุว่าบุคคลใดมีเจตนาที่จะปลุกระดมหรือที่มีแนวโน้มว่าจะยั่วยุกลุ่มบุคคลหรือชุมชนใด ๆ ให้กระทำความผิดต่อกลุ่มหรือชุมชนอื่น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกซึ่งอาจขยายเป็นเวลาถึงสองปีหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 52(ก) เป็นกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าสามปีสูงสุดเจ็ดปี รวมทั้งปรับ
เยาวชนผู้ถูกคุมขังทั้ง 9 คนถูกตัดสินโทษจำคุก 9 ปีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยศาลพิเศษเรือนจำทวาย โดย 9 คนได้แก่ แยมีงจ่อ จ่อเซยะ อ่องมโยไฮน์ เอโซปาย อ่องมโยเท ซุหล่ายเนว่ ซาน มยัดมยัดตู่ แทะแทะส่อ และอิตันตา
ในบรรดาเยาวชน 9 คน ซุหล่ายเนว่ กำลังทุกข์ทรมานจากโรคมดลูกและไต โดยได้ขอการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ตามตัวเลขที่เผยแพร่โดยเครือข่ายนักโทษการเมืองทวาย ประชาชนหลายร้อยคนถูกคุมขังในภาคตะนาวศรีตั้งแต่เกิดรัฐประหาร เมื่อกุมภาพันธ์ 2564