เมื่อต้นเดือนมีนาคมได้เกิดการวิพากษ์และตอบโต้กันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง สะท้อนให้เห็นถึงสนามการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นระหว่างมหาอำนาจทั้งสองโดยมีประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นฉากใหญ่
ประเด็นเริ่มจากสื่อออนไลน์ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลจีน Global Times ได้รายงานข่าวที่ระบุว่าผู้เชี่ยวชาญชาวจีนพบข้อผิดพลาดที่เห็นได้ชัดในข้อมูลอคติเกี่ยวกับเขื่อนแม่น้ำโขงของจีน ชุดข้อมูลดังกล่าวผลิตโดยโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ
เนื้อหาของรายงาน Global Times ชิ้นนี้ระบุว่าผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยาของจีนค้นพบว่าการอ่านระดับอ่างเก็บน้ำเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่ออกโดยโครงการ “Mekong Dam Monitor (MDM)” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เต็มไปด้วยข้อผิดพลาดร้ายแรงและแตกต่างอย่างมากจากมาตรวัดจริง
ทั้งนี้ได้มีการยกตัวอย่างการอ่านระดับของอ่างเก็บน้ำเขื่อนเสี่ยวหวาน (Xiaowan) ของจีนด้วยดาวเทียมของ MDM จะสวนทางกับแนวโน้มระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นและลดลงจริง โดยมีข้อผิดพลาดตั้งแต่ 3 ถึง 10 เมตร
สื่อจีนยังระบุว่า MDM ดำเนินการโดยสถาบันสติมสัน (Stimson Center) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งโจมตีเขื่อนของจีนอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“ดาวเทียมเครื่องวัดระยะสูงแบบเลเซอร์ที่เราใช้ เป็นหนึ่งในดาวเทียมวัดระดับความสูงที่แม่นยำที่สุดสำหรับการวัดระดับน้ำทั่วโลก ดังนั้นเราจึงมั่นใจที่จะชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของวิธีการแบบเดิมที่ MDM ใช้ในการสรุปผลดังกล่าว” ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) บอกกับ Global Times
Global Times ระบุว่ารัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้ประเทศนอกภูมิภาค ยุติการแทรกแซงและปลุกปั่นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับน้ำในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อเดือนธันวาคม 2020 ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจีนและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอื่นๆ เอาชนะ “เสียงและการแทรกแซง” ภายนอก เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ โดยจีนยินดีรับคำแนะนำที่สร้างสรรค์เกี่ยวกับแหล่งน้ำ แต่คัดค้าน “การยั่วยุที่มุ่งร้าย” ทีมวิจัยกล่าว
สื่อจีนยังได้ระบุถึงการที่สหรัฐฯ เปิดฉากการต่อสู้อย่างดุเดือดกับจีนทั่วภูมิภาคในปี 2020 โดยการทำงานร่วมกับ NGO ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ นักคิด และสื่อ สหรัฐฯ และว่าเป็นที่ทราบกันดีสำหรับคนทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ภายหลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดน สหรัฐฯได้ยจัดทัพขนานใหญ่ในการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในลุ่มแม่น้ำโขง เห็นได้จากสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่เชียงใหม่ ได้เชิญบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขงและภาคประชาชนไทยไปหารือถี่ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนผ่านโครงการต่างๆ มากมาย
ขณะที่ทางการจีนเองก็เปิดเกมรุกไม่น้อยโดยส่วนใหญ่เป็นการให้ทุนผ่านนักวิชาการและสถาบันการศึกษา ซึ่งขณะนี้ต่างคึกคักกันเป็นอย่างยิ่ง


ภายหลังรายงานข่าวชิ้นนี้ของ Global Times เผยแพร่ออกไป ได้มีการชี้แจงจากนายไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันสติมสัน โดยระบุว่า ของคุณสำหรับการชี้ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นของข้อมูลการใช้งานปี 2020 ของเขื่อนเสี่ยวหวาน Xiaowan ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้แสดงระดับที่สูงอย่างผิดปกติสองจุดและจุดต่ำสุดอย่างกะทันหัน ดังที่ที่ระบุโดยวงกลมสีน้ำเงินในแผนภูมิ แผนภูมินี้ดูผิดปกติเพราะอ่างเก็บน้ำเสี่ยวหวานอาจระบายน้ำอย่างคงที่ หรือลดการระบายน้ำลง
นายไบรอันระบุว่า เราตรวจสอบค่ามาตรวัดเสมือนจริงของเรากับภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงจาก Planet Labs เพื่อค้นหาว่าระดับสูงสุดและต่ำสุดที่ผิดปกตินั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง ในปี 2020 เราตรวจสอบการใช้งานของเขื่อนเสี่ยวหวาน และเขื่อนนั่วจาตู้ (Nuozhadu) และพบว่าไม่มีข้อผิดพลาดด้านทิศทางที่สำคัญอื่นๆ ในการประมาณค่า เส้นแสดงการใช้งานของเขื่อนเสี่ยวหวานมีการอัปเดตเพื่อสะท้อนถึงระดับและปริมาณน้ำที่แม่นยำยิ่งขึ้นสำหรับวันที่ดังกล่าว การแก้ไขข้อมูลนี้ไม่ส่งผลต่อแนวโน้มข้อมูลโดยรวมของเขื่อนเสี่ยวหวาน ในปี 2020 ตามที่แสดงไว้ก่อนหน้านี้
“เราสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ของจีนและนักวิจัยคนอื่นๆ แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับระดับอ่างเก็บน้ำในแม่น้ำโขงทั้งในและภายนอกประเทศจีนต่อไป เพื่อให้เห็นภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นว่าเขื่อนส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงอย่างไร วิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการทำงานร่วมกันและปรับปรุงอยู่เสมอ”
น่าสนใจว่าศึกสงครามน้ำลายในแม่น้ำโขงเข้มข้นขึ้นทุกวัน เนื่องจากอิทธิพลของจีนและสหรัฐฯได้ปะทะกันในหลายระลอก และยังต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน ขณะที่รัฐบาลในประเทศต่างๆริมแม่น้ำโขงยังคงสงวนท่าที แม้หลายประเทศยินยอมให้จีนเข้ามาลงทุนและมีบทบาทชี้นำแล้วก็ตาม
สมรภูมิแม่น้ำโขงยังคงเป็นสนามศึกของมหาอำนาจที่น่าจับตามอง