Search

เมล็ดกล้าสาละวินเติบใหญ่ ในวันหยุดเขื่อนโลก

เพียรพร ดีเทศน์

เดือนมีนาคม 2006 ที่หาดทรายริมแม่น้ำ เรือน้อยใหญ่บรรทุกชาวบ้านกะเหรี่ยง และชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น คะเรนนี ยินตาเล ไทใหญ่ จากพื้นที่ต่างๆ ในลุ่มน้ำสาละวิน มาร่วมงานพิธีซึ่งจัดอย่างเรียบง่าย

เมื่อผู้เข้าร่วมราว 600 คนมากันพร้อมแล้ว บาทหลวงได้กล่าวนมัสการพระเจ้า จากนั้นพระภิกษุได้จุดเทียน สวดเจริญพระพุทธมนต์ ผู้เฒ่าซึ่งเป็นผู้นำทางความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงก็ได้ทำพิธีไหว้ผีป่า ต่างคนก็รวมกลุ่มตามศาสนาและความเชื่อของตนเอง

ทั้งหมดนี้ จัดขึ้นร่วมกันเพื่อแสดงจุดยืนของชาวบ้านที่ต้องการปกป้องแม่น้ำสาละวินจากการก่อสร้างเขื่อน  ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลจีน พม่า และไทย มีแผนก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า 20 โครงการตลอดทั้งลำน้ำ ตั้งแต่จีน  ในพม่า และพรมแดนไทยพม่า

นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ชาวสาละวินจัดงาน “14 มีนาคม วันหยุดเขื่อนโลก” หรือ International Day of Actions for Rivers ที่แรกเริ่มจากการประชุมของผู้เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลก ที่เมืองคูริทิบา บราซิล เมื่อ 25 ปีที่แล้ว 

ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำที่ถูกหมายปองจากนักสร้างเขื่อน แต่ก็ยังรอดปลอดภัยเป็นแม่น้ำนานาชาติสายท้ายๆ ในโลก ที่ยังคงไหลอิสระ

จากต้นกำเนิดหิมะละลายที่ทิเบต สาละวินตอนบน หรือ นูเจียง ไหลเคียงข้างแม่น้ำโขง และแม่น้ำแยงซี ไหลลงสู่มณฑลยูนนาน

สาละวินไหลเข้าพม่า ที่รัฐฉาน ไหลผ่านใจกลางรัฐฉาน แล้วไหลไปยังรัฐคะเรนนี เป็นพรมแดนไทยพม่า ระหว่างรัฐกะเหรี่ยง และ จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นไหลเข้าพม่าอีกครั้ง ก่อนลงสู่ทะเลอันดามัน ที่เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,800 กิโลเมตร

แม่น้ำสาละวินตอนบน จีนมีแผนก่อสร้างเขื่อนแบบขั้นบันได 13 โครงการ แต่แผนการหยุดไปหลายรอบเนื่องจากการคัดค้านจากองค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน (ในยุคนั้น) และเหตุผลด้านความเสี่ยงทางธรณีวิทยา ล่าสุดในแผนพัฒนา 5 ปี ของจีนก็ได้ถอดโครงการเขื่อนสาละวินออกไป

ในพม่า มีการผลักดันสร้างเขื่อนอย่างน้อย 7 โครงการ ผลักดันโดยรัฐวิสาหกิจและบริษัทจากไทยและจีน

ในงานวันหยุดเขื่อนโลกครั้งนั้น ประชาชนลุ่มน้ำสาละวินกำลังต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำจากโครงการเขื่อน 2 แห่ง ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำบริเวณพรมแดนไทยพม่า คือโครงการเขื่อนเวยจี Wei Gyi dam และดากวิน Da-gwin damของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่เนื่องจากการเคลื่อนไหวของชุมชนและข้อกังวลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่น้ำจากการกั้นเขื่อนอาจท่วมหลากมาถึงลำน้ำปาย ถึง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ต่อมาทั้งสองโครงการเขื่อนนี้ก็ถูกชะลอไป

วันหยุดเขื่อนโลกในปี 2007 จัดขึ้นที่หาดทราย ตรงข้ามบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีชาวกะเหรี่ยงทั้งจากฝั่งไทยและพม่าเข้าร่วม ในเวลานั้นมีการผลักดันโครงการเขื่อนฮัตจี Hat Gyi dam บนแม่น้ำสาละวิน ในรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทยเข้าไปเพียงราว 47 กิโลเมตร เป็นโครงการของกฟผ. เช่นเดียวกัน

ในรัฐฉาน แทบทุกปีชาวไทใหญ่ก็ได้จัดงานวันหยุดเขื่อนโลก ในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากมีการผลักดัน 3 โครงการ ได้แก่เขื่อนท่าซาง Tasang dam หรือภายหลังเรียกในชื่อใหม่ว่า เขื่อนมายตง หรือ เมืองโต๋น Mong Ton dam เขื่อนกุ๋นโหลง และเขื่อนหนองผา เป็นการแสดงพลังของชาวรัฐฉานที่ต้องการรักษาแม่น้ำสาละวิน อันเป็นดังเส้นเลือดใหญ่ของรัฐฉาน ที่พื้นที่หลายจุดตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบมาโดยตลอด

โครงการเขื่อนท่าซาง หากก่อสร้างจะส่งผลให้น้ำท่วมไปถึง “เมืองพันเกาะ” Thousand Islands แม่น้ำป๋าง Pang River ซึ่งมีความงดงามทางนิเวศลักษณะเฉพาะที่แม่น้ำแผ่ออกเป็นเกาะมากมาย และพื้นที่นี้เองประชาชนชาวรัฐฉานกว่า 300,000 คน ใน 150 หมู่บ้าน ถูกเผด็จการทหารพม่าบังคับอพยพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนและรีดนาทาเร้นนานัปการ จนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่จวบจนเวลานี้

ที่รัฐคะเรนนี ชาวบ้านชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ได้จัดกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลกอย่างต่อเนื่อง เพราะมีโครงการเขื่อนยวาติ๊ด Ywathit dam จะสร้างกั้นสาละวิน ไม่ไกลจากสบแม่น้ำปาย ที่ไหลมาจาก อ.ปาย และ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในเวลานี้รัฐคะเรนนีถูกเผด็จการทหารพม่าถล่มอย่างหนัก จนมีประชาชนต้องพลัดถิ่นจากภัยสงครามแล้วกว่า 1.7 แสนคน

ในวันหยุดเขื่อนโลกในปีนี้ จะมีการจัดกิจกรรมที่แม่น้ำสาละวิน ในหลายจุด

ที่ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ประชาชนในอุทยานสันติภาพสาละวิน Salween Peace Park จะแสดงจุดยืนเรียกร้องให้กองทัพพม่ายุติการรุกรานประชาชนรัฐกะเหรี่ยง และยุติโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน

และในประเทศไทย จะมีกิจกรรมที่ ที่ “สบเงา” ที่แม่น้ำเงา ไหลบรรจบแม่น้ำยวม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาะวิน ได้ติดตามและคัดค้านโครงการผันน้ำยวม หรือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน เนื่องจากความไม่จำเป็นของโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนก่อสร้างถึง 1.1 แสนล้านบาท ผลกระทบจากเขื่อนและอุโมงค์ผันน้ำจะทำลายนิเวศป่าสมบูรณ์อันเป็นพื้นที่ต้นน้ำและป่าอนุรักษ์ในเขต ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่

ที่สำคัญกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA พบว่ามีการใช้ข้อมูลผิด และขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จนเป็นที่มาของ #อีไอเอร้านลาบ ซึ่งขณะนี้มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้นักการเมืองผู้ผลักดันโครงการได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ว่าการผันน้ำยวม ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขา จะเป็นเพียงการเริ่มต้น บริษัทจากจีนเสนอว่าจะมาก่อสร้างให้ฟรี โดยขอสิทธิในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในพม่า เป็นเฟสต่อไป

สองทศวรรษของเมล็ดพันธุ์การอนุรักษ์และปกป้องสิทธิมนุษยชนในลุ่มน้ำ

บนแผ่นดินพม่า แม้ต้องเผชิญความเป็นความตายความไม่สงบและเพลิงสงครามโดยเฉพาะหลังรัฐประหาร แต่ประชาชนชาติพันธุ์แห่งลุ่มสาละวินยังคงยืนหยัด โดยหวังว่าสันติภาพ จะเกิดในวันหนึ่ง และให้แม่น้ำสาละวินได้ไหลอย่างอิสระ เป็นแหล่งชีวิต แหล่งวัฒนธรรม และเป็นมรดกของคนรุ่นต่อๆ ไป

บนแผ่นดินพม่า แม้ต้องเผชิญความเป็นความตายความไม่สงบและเพลิงสงครามโดยเฉพาะหลังรัฐประหาร แต่ประชาชนชาติพันธุ์แห่งลุ่มสาละวินยังคงยืนหยัด โดยหวังว่าสันติภาพ จะเกิดในวันหนึ่ง และให้แม่น้ำสาละวินได้ไหลอย่างอิสระ เป็นแหล่งชีวิต แหล่งวัฒนธรรม และเป็นมรดกของคนรุ่นต่อๆ ไป

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →