สำนักข่าว Marnagar, Shwe Phee Myay และสื่อไทใหญ่ อาทิ Tai TV Online ได้ออกมารายงานเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ว่า ชาวบ้านได้พบร่างเสียชีวิตของ นายมายหนุ่มหาญ อายุ 39 ปี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคแห่งชาติดาระอั้ง หรือ ตะอาง (Ta’ang National Party) ประจำเมืองกึ๋ง ทางใต้ของรัฐฉาน นอกจากนี้ยังพบร่างของนางโลยเอค่า วัย 26 ปี และทารกหญิงวัย 7 เดือน ซึ่งเป็นภรรยาและลูกของนายมายหนุ่มหาญ เสียชีวิตอยู่ใกล้ๆกัน หลังจากทั้งหมดหายไปตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว ก่อนที่จะมาพบว่าทั้งหมดเสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ได้ประกอบพิธีศพให้กับทั้ง 3 คนพ่อแม่ลูก โดยมีประชาชนเป็นจำนวนมากมาร่วมงาน ขณะที่การเสียชีวิตของทั้งสามคนนั้น หลายองค์กรของชาติพันธุ์ดาราอั้งได้มีการกล่าวหาว่า ทหารสังกัดสภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA มีส่วนเกี่ยวข้อง
สำนักข่าว Marnagar และ Shwe Phee Myay รายงานว่า หัวหน้าพรรคแห่งชาติดาราอั้ง หรือชาติพันธุ์ปะหล่องและครอบครัวนั้นหายตัวไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา หลังจากงานศพของมารดาที่หมู่บ้านหมากขี้หนูและกำลังเดินทางกลับมายังเมืองกึ๋ง อย่างไรก็ตามทั้ง 3 คนมาเจอด่านของกองทัพ RCSS/SSA ที่หมู่บ้านโต่งลาว และถูกทหารไทใหญ่จับกุมไป หลังจากนั้นไม่ได้ข่าวทั้ง 3 คนอีกเลย ก่อนที่ชาวบ้านไปพบเห็นร่างเสียชีวิตของทั้ง 3 คนในป่าแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคมโดยมีร่องรอยการถูกยิงเสียชีวิต สภาพศพของทารกน้อยยังถูกอุ้มไว้ด้านหลังของผู้เป็นแม่และมีชาวบ้านแจ้งว่าได้พบเห็นทหารไทใหญ่ RCSS/SSA เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่
ทั้งนี้ หลังพบร่างของทั้ง 3 คน ชาวบ้านได้ร่วมจัดพิธีศพให้ โดยมีหลายองค์กรเช่น กลุ่มองค์กรผู้หญิงดาราอั้ง (Ta’ang Women’s Organization) องค์กรด้านการเมืองของดาราอั้ง และประชาชนนับพันคนเข้าร่วมงานศพ โดยกลุ่มเหล่านี้ได้ออกแถลงการณ์แสดงความไว้อาลัยและกล่าวหาว่า RCSS/SSA มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของครอบครัวนี้
อย่างไรก็ตามทาง RCSS/SSA ได้ส่งจดหมายถึงพรรคแห่งชาติดาระอั้งโดยชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วไม่พบว่าทางกลุ่มมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด อีกทั้งทาง RCSS/SSA นั้น มีนโยบายและให้ความสำคัญในการสร้างความปรองดองกับกลุ่มชาติพันธุ์ และห้ามกระทำการใดๆที่จะส่งผลกับความปรองดองกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยทางกองทัพไทใหญ่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อีดครั้ง เนื่องจากในพื้นที่เกิดเหตุ ยังมีอีกหลายกลุ่มติดอาวุธที่ยังเคลื่อนไหวอยู่
ทั้งนี้ การกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันเอง มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะในรัฐฉานมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ เช่นเดียวกันทหารปะหล่อง (TNLA)มักถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวบ้านที่เป็นชาวไทใหญ่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือของรัฐฉานทั้งการสังหาร จับกุมตามอำเภอใจ ปล้นสะดมและเรียกเก็บภาษี
นอกจากทหาร TNLA แล้ว ล่าสุด สำนักข่าว SHAN รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ทางกองทัพเอกราชคะฉิ่น หรือ KIA ได้จับกุมชายไทใหญ่จำนวน 3 คน ที่เมืองหมู่เจ้ ทางเหนือรัฐฉานติดชายแดนจีนจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมและไม่ยอมปล่อยตัวชายทั้งหมด เหตุการณ์ลักลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ที่เมืองโก้ดข่าย ชายไทใหญ่ถูกจับไปเป็นทหารใหม่ในกองทัพคะฉิ่น KIA
พื้นที่ทางเหนือของรัฐฉานนั้น นอกจากกองทัพพม่าแล้ว ยังมีทหารปะหล่อง TNLA ทหารคะฉิ่น KIA ทหารไทใหญ่เหนือ SSPP/SSA เคลื่อนไหวอยู่ ก่อนหน้านี้องค์กรผู้หญิงไทใหญ่อย่าง SWAN เคยออกรายงานว่า ปัญหาการเกณฑ์ทหารใหม่ของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ชายจากพม่าหนีเข้าไทยตรงชายแดนด้านอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่