สำนักข่าว Mizzima และสำนักข่าว Tai TV Online ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 28 มีนาคมว่า กองทัพพม่าอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในรัฐฉานมากกว่า 300 แห่ง กลายเป็นพื้นที่ที่มีการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่มากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ
เจ้าหน้าที่ทางการที่เคยทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่รายหนึ่งกล่าวว่า ทางกองทัพพม่าได้อนุญาตให้ทำเหมืองแร่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว เรื่องนี้กำลังสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนในประเทศ นอกจากผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว หวั่นว่าการทำเหมืองแร่จะยิ่งส่งผลให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวบ้านรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเดิมทีก็เลวร้ายอยู่แล้ว
ข่าวแจ้งว่าแม้แต่ในพื้นที่ขัดแย้งสู้รบ เช่น พื้นที่เมืองล็อกจอก ในรัฐฉาน ซึ่งมีการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ทหารพม่า และกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ก็ยังมีการเปิดให้ทำเหมืองแร่ โดยสื่อพม่าอย่าง Mizzima ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า พื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่มากที่สุดในรัฐฉานยังอยู่ในเขตพื้นที่ขัดแย้งสู้รบรุนแรง
ทั้งนี้ หลังยึดอำนาจ กองทัพพม่าเปิดให้ทำเหมืองแร่ 1,196 แห่งทั่วประเทศ โดยในรัฐฉานคาดว่าจะมีการทำเหมืองแร่ 303 แห่ง