นามสกุลพระราชทานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าที่ได้ทรงพระราชทานไว้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชาวเกาะลันตา ชื่อสกุลที่บอกเรื่องราวต้นตระกูลของชาวเลที่ตั้งรกรากอยู่แถบชายฝั่งทะเลอันดามันมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี สะท้อนว่าวิถีชีวิตของพวกเขาสอดผสานกับท้องทะเลอย่างแน่นแฟ้น
ภูมิความรู้ของชนเผ่าพื้นเมืองชาวมอแกน, มอแกลน และอูรัคลาโว้ย พวกเขาสามารถจับปลาได้ด้วยมือเปล่า แต่ไม่ใช่แค่การเป็นพรานทะเลที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น เพราะการพึ่งพาท้องทะเล พวกเขาไม่ได้เป็นแค่ผู้รับ แต่ยังเป็นผู้รักษาด้วย
“กินปลาเก๋าก็เดินไปในคลองขนาดนี้ สมัยก่อนมันเยอะ จะเอาตัวไหน ตัวนี้เล็กก็เอาออกและเอาตัวใหญ่ตัวเดียว เขาไม่เอาเยอะ ถ้าเอาตัวเดียวก็เอาตัวเดียวมา เขาไม่เหมือนคนสมัยนี้ คำว่าเอาเอาตัวเดียวแต่เอาเป็น10-20โลมา มันเปลือง ชาวเลจะทำอะไรต้องไม่เอาให้หมด ไปหาหอยชักตีนเอาแต่ตัวโตมา ตัวเล็กไม่เอา” นิคม ธงชัย ชาวมอแกลน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กล่าว
“แต่เราเนี่ยเอาแค่ปลามาทำกับข้าว ส่วนปลิงกับหอยเราเอามาขาย ขายเพื่อแลกข้าวและข้าวสาร เพื่อมาอยู่ที่เกาะไงครับ” สุริยัน กล้าทะเล ชาวมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา กล่าว
แต่ผลพวงจากการพัฒนากลายเป็นความเหลื่อมล้ำ วันนี้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหลายแห่งอ้างเอกสิทธิในพื้นที่ที่ชาวเลเคยอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน ชาวมอแกลนแห่งบ้านโคกกลอย จ.พังงา จึงไม่สามารถหาปลาริมฝั่งได้เหมือนเคย ซึ่งวิกฤตดังกล่าวนี้เกิดขึ้นกับชุมชนชาวเลอีกกว่า 28 แห่งตลอดแนวชายฝั่งอันดามันเช่นกัน
“ตอนนี้อาชีพชาวเลต้องเปลี่ยน หนึ่งต้องทำสวนให้เป็นต้องตัดยางให้เป็น ถากหญ้าให้เป็น ลงทะเลได้ ต้องพูดฝรั่งให้เป็นเพราะว่าอยู่ในโรงแรม เพราะลูกอ่ะจะมาอยู่ทะเลไม่ได้แล้ว ผมก็ไม่อยู่แล้วทะเล ต้องขึ้นบกหมด” นิคม ธงชัย ชาวมอแกลน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กล่าว
คล้ายคลึงกับชาวมอแกน บนหมู่เกาะสุรินทร์เมื่อพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยาน ฯ จากชาวเลจึงเปลี่ยนอาชีพเข้าสู่การท่องเที่ยว บ้างรับจ้างทำประมงกับเรือผิดกฎหมายนอกน่านน้ำ สุดท้ายถูกจับ บางคนประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต
“แต่เมื่อก่อนนี้เราเดินทางเรื่อยจากสิมิลันหรือพม่า แต่ปัจจุบันนี้การเดินทางของเราไปไม่ได้ ไปที่ฝั่งสิมิลันก็ไม่ได้เพราะว่าถ้าไปดำแถบนั้นต้องโดนจับ เราก็ต้องหลบ ๆ เข้าไปถึงจะได้” สุริยัน กล้าทะเล ชาวมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา กล่าว
แม้ไม่ได้สืบเชื้อสายจากตระกูลเดียวกัน แต่นามสกุลที่เหมือนกันกลายเป็นคำมั่นสัญญาว่า วันนี้ชาวเลทั้งผองคือพี่น้องกัน การจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลที่จัดขึ้นทุกปี จึงเป็นเหมือนโอกาสให้คนในครอบครัวได้มาพบหน้า บอกเล่าสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นของแต่ละชุมชน
ที่สำคัญพลังของคนในครอบครัวนี้เอง ได้กลายมาเป็นความหวังเพียงหนึ่งเดียวในการต่อรองกับภาครัฐ ให้พวกเขาได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดกติกาในการดำรงชีพ เพื่อให้ชาวเลสามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ และยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างมั่นคง
วรัญญา จันทราทิพย์ ถ่ายภาพ
ขวัญชนก เดชเสน่ห์ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreennewsTV รายงาน
17 พ.ย. 2013