“แต่กลับไม่ได้รับการเชิดชูในฐานะชนพื้นเมืองที่ควรจะมีสิทธิด้านที่อยู่อาศัยและสิทธิทางวัฒนธรรมตามรัฐธรรมนูญ ชาวเลขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นที่ที่อยู่อาศัยและทำมาหากินมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ”
หลังเหตุการณ์สึนามิปัญหารอบด้านเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดและมีระดับที่รุนแรงขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล มอแกน มอแกลน และอูรัคลาโว้ย ที่กระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันของ 5 จังหวัดภาคใต้กว่าหมื่นคน ถึงแม้พวกเขาคือชาวท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่มามากกว่า 100 ปี แต่วันนี้กลับไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองในสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาที่ยังไม่สมดุล
แนวคิดการสร้างเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษจึงเกิดขึ้น จากการสะท้อนปัญหาร่วมกันในงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้น ณ ชุมชนชาวเลบ้านทุ่งหว้า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยพวกเขาเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวจะนำไปสู่ทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
“ขอให้สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และขอให้มีการจัดทำเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล 2. ขอให้มีการพิสูจน์สิทธิในที่อยู่อาศัย ของชุมชนชาวเลด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช้เอกสารสิทธิแต่เพียงอย่างเดียว 3.ขอให้ชาวเล สามารถประกอบอาชีพประมง โดยใช้เครื่องมือแบบดั้งเดิม ในการหาทรัพยากรตามเกาะต่างๆ ได้ และขอให้มีการทำพื้นที่เขตผ่อนปรนเพื่อให้ชาวเลเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างชอบธรรม”
การดำเนินการขั้นแรกตามแนวคิดสร้างเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ คือการประกาศให้เกิดการคุ้มครองในพื้นที่อยู่อาศัยหรือที่ตั้งชุมชน, พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ และยังรวมถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมและการศึกษา เช่น การมีหลักสูตรท้องถิ่น ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น และกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์
“แต่ที่สำคัญคือเราอยากหาแนวทางในการทำเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลว่าเราจะทำอย่างไรให้สามารถเป็นรูปธรรมได้จริงจัง เพราะถ้าชาวเลทำได้ ชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศไทยก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ด้วย” ปรีดา คงแป้น ผจก.มูลนิธิชุมชนไทย กล่าว
ทั้งนี้ในวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน เพื่อให้อุปสรรคในเรื่องการรุกล้ำที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวเลถูกแก้ไขให้ได้เสียก่อน จึงจะเลือกพื้นที่นำร่องเพื่อกำหนดเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่จะนำมาสู่ความมั่นคงในชีวิตชาติพันธุ์ชาวเลที่ต้องจับตามอง
วรัญญา จันทราทิพย์ ถ่ายภาพ
ขวัญชนก เดชเสน่ห์ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreennewsTV รายงาน
15 พ.ย. 2013