โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช
หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตมาซักระยะ ชนชั้นนำในพรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้รื้อฟื้นและเชิดชูอดีตวีรกษัตริย์ขึ้นเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจในความเป็นชาติและเพื่อปลุกขวัญปลุกระดมเร่งเร้าสำนึกชาตินิยมในหมู่ชาวลาวอย่างแข็งขัน วีรกษัตริย์ที่ถูกเชิดชูจากรัฐบาลลาวมักเป็นกษัตริย์ที่มีพระคุณใหญ่หลวงต่อแผ่นดินและเป็นแบบอย่างให้คนลาวดำเนินรอยตามได้ เจ้าชีวิตทั้งสี่พระองค์นี้ ได้แก่ พระเจ้าฟ้างุ้ม (ฟ้างุ่ม) วีรกษัตริย์ผู้รวบรวมลาวให้เป็นปึกแผ่นและสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรล้านช้าง พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ปกปักรักษาชาติลาวและขยายอำนาจให้ยิ่งใหญ่ พระเจ้าสุริยะวงสาธรรมิกราช กษัตริย์ที่นำพาลาวเข้าสู่ยุคทองแห่งความรุ่งเรือง และ เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพระราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ (อนินทร์ พุฒิโชติ, 2557, น. 2-3)
การเปิดพื้นที่ให้วีรกษัตริย์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความทรงจำและสร้างสำนึกความเป็นชาติ นับเป็นเรื่องแปลก เพราะเป็นวิถีทางที่ขัดแย้งกับแนวปฏิบัติที่ผ่านๆมาของรัฐบาลสังคมนิยมลาว (และของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในที่อื่นๆด้วย) ซึ่งหมายมุ่งไปที่การหล่อหลอมอุดมการณ์ชาติผ่านการเชิดชูพรรคและวีรชนในฐานะเสาหลักหรือสัญลักษณ์ของชาติเสียมากกว่า (Evans, 1998)
ในจีน เกาหลีเหนือและเวียดนามซึ่งประชาชนมีความเชื่อเลื่อมใสศรัทธาในลัทธิบูชาบรรพบุรุษเป็นพื้นฐาน ลัทธิบูชาผู้นำพรรคประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น ลัทธิบูชาเหมา เจ๋อ ตุง ลัทธิบูชาผู้นำตระกูลคิม และ โฮจิมินห์ ผิดกับในรัฐลาวที่ลัทธินี้ดูจะไม่เข้ากับวัฒนธรรมและค่านิยมคนลาวที่เน้นบูชาคนที่มีพลังวิเศษหรือมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ อาทิ คนที่เป็นเชื้อพระวงศ์ที่สะท้อนบุญญาธิการและบารมีในทางพระพุทธศาสนา ผลที่ตามมา คือ ลัทธิบูชาไกสอนในลาว ซึ่งมีการสร้างรัฐพิธีและอนุสาวรีย์เพื่อยกย่องสดุดีวีรกรรมของนายไกสอน พมวิหาน (ไกสร พรหมวิหาร) ในฐานะผู้นำปฏิวัติ ผู้นำพรรคและเสาหลักของชาติลาว ไม่ค่อยได้รับความนิยมและคลายมนตร์ขลังลงเรื่อยๆจนบีบคั้นให้ชนชั้นนำในพรรคต้องเสาะหาวิธีการใหม่ๆเพื่อสร้างชาติลาวให้เข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและก็เพื่อให้พรรคได้คะแนนนิยมจากมวลชนต่อไป ในการนี้ การเชิดชูวีรกษัตริย์ลาวจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว (อ้างแล้ว)
ตัวอย่างเด่นชัด คือ การที่รัฐบาลสังคมนิยมลาวประกาศแผนปั้นหล่ออนุสาวรีย์และจัดให้มีการเฉลิมฉลองอนุเสาวรีย์พระเจ้าฟ้างุ้มอย่างเอิกเกริกในห้วงปี ค.ศ.2002-2003 ชนชั้นนำในพรรคเห็นว่าเจ้าฟ้างุ้มคือสัญลักษณ์แห่งเอกภาพลาวเพราะพระองค์คือกษัตริย์พระองค์แรกที่รวบรวมล้านช้างให้เป็นหนึ่งเดียว ในการก่อสร้างอนุสาวรีย์ รัฐบาลลาวเลือกท่ายืนพระหัตถ์ซ้ายกำพระแสงดาบ ส่วนพระหัตถ์ขวายกขึ้นและพระดัชนี (นิ้วชี้) ดันขึ้นฟ้า รูปลักษณ์แบบนี้สื่อให้เห็นว่ากษัตริย์ทรงมีความกล้าหาญและรบเก่ง (เพราะทรงกำพระแสงดาบ) และขอให้คนลาวจงเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเอกภาพและความยิ่งใหญ่ (พระดัชนีชี้ขึ้นฟ้า) การชี้นิ้วขึ้นหมายถึงเจ้าชีวิตฟ้างุ้มได้ตรัสสั่งแล้วว่า นับแต่นี้ไปลาวล้านช้างได้รวมศูนย์เป็นเอกภาพ มีอำนาจเดียว ไม่ให้แตกแยกกันอีกต่อไป (อนินทร์ พุฒิโชติ, 2557, น. 13)
รัฐบาลลาวได้จัดพิธีเปิดแพรคลุมพระบรมรูปอนุเสาวรีย์และจัดให้มีพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของเจ้าฟ้างุ้มให้มาสถิตที่อนุสาวรีย์เพื่อปกป้องประเทศลาว ในพิธี นายคำไต สีพันดอน ประธานประเทศขณะนั้นและผู้นำพรรคคนอื่นๆเข้าร่วมพิธี ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลลาวจัดพิธีเปิดอนุสาวรีย์เจ้าฟ้างุ้มและจัดมหกรรมสมโภชอย่างยิ่งใหญ่เพื่อฉลองวาระครอบรอบ 650 ปีของกาารสถาปนาอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว มีการจำลองขบวนเสด็จของพระเจ้าฟ้างุ้มประทับบนช้างเผือก พร้อมเหล่าข้าราชบริพาร มีการอัญเชิญพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองร่วมในขบวนเสด็จ ตลอดช่วงเวลาเฉลิมฉลองทั่วทั้งกำแพงนครเวียงจันทน์เต็มไปด้วยการประดับประดาป้ายคำขวัญ “ชาติเอกภาพมานาน 650 ปี” (อ้างแล้ว, น.9)
การเมืองลาวในช่วงนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่พิเศษเพราะแหวกขนบของรัฐคอมมิวนิสต์อื่นที่เน้นสร้างชาติผ่านการเชิดชูลัทธิบูชาตัวบุคคลที่เป็นผู้นำพรรคที่มีพื้นเพมาจากสามัญชน ขณะที่ชนชั้นนำลาวกลับเลือกวีรกษัตริย์ขึ้นเป็นสัญลักษณ์สร้างขวัญกำลังใจให้แก่คนในชาติ
หมายเหตุ-อนินทร์ พุฒิโชติ. (2557). “จากวีรชนปฏิวัติสู่การเชิดชูวีรกษัตริย์: ศึกษากรณีการเชิดชูเจ้าฟ้างุ่มของรัฐบาลสังคมนิยมลาวในช่วงหลังทศวรรษ 1990”. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง, 10(1): 1-24.
Evans, G. (1998). The Politics of Ritual and Remembrance: Laos since 1975. Chiang Mai: Silkworm Books.