
สื่อมวลชนหลายสำนักในพม่า อาทิ สำนักข่าว Mizzima สำนักข่าว Shan รายงานเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ว่า พล.อ.มิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าที่ทำรัฐประหารและยึดอำนาจเมื่อปีที่แล้วได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทุกกลุ่มหันหน้าหารือเจรจาเพื่อหาทางออกให้ประเทศ โดยพล.อ.มิ้นอ่องหล่าย ระบุว่าเขาจะเป็นผู้เจรจากับกลุ่มต่างๆ ด้วยตัวเอง
รายงานข่าวแจ้งว่า แถลงการณ์จาก พล.อ.มิ้นอ่องหล่ายผ่านสถานีโทรทัศน์ MRTV ระบุว่า ขอให้กลุ่มติดอาวุธที่ต้องการเจรจาพูดคุยกับกองทัพพม่าส่งรายชื่อภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เป็นวันสุดท้าย เพื่อให้การเจรจาสันติภาพเป็นไปด้วยดีและประสบความสำเร็จ โดย พล.อ.มิ้นอ่องหล่ายระบุด้วยว่าอยากเชิญให้ทุกกลุ่มเข้าร่วม ซึ่งสามารถส่งตัวแทนกลุ่มละ 2 คน และการหารือเจรจาสันติภาพจะเกิดขึ้นที่กรุงเนปีดอว์
ทั้งนี้ในยุคนายพลเต็งเส่งนั้น เคยเชิญกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มมาหารือเจรจาครั้งหนึ่ง จนมีกลุ่มติดอาวุธบางส่วนได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาล อย่างไรก็ตามถึงแม้มีการลงนามหยุดยิงร่วมกันมานับ 10 ปี แต่การสู้ระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างเนื่อง
กองทัพพม่ายิ่งเจอศึกหนักรอบด้านภายหลังจากยึดอำนาจเมื่อปีแล้ว เพราะมีกลุ่มติดอาวุธกลุ่มใหม่ๆ ก่อตั้งขึ้นมามากมายทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อกองทัพประชาชนเพื่อต่อต้านและสู้รบกับกองทัพพม่า เนื่องจากไม่ต้องการอยู่ภายใต้กองทัพพม่าอีกต่อไป อีกทั้งยังต้องสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาหลายทศวรรษ
ล่าสุด กองทัพพม่ายังคงปะทะหนักกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในหลายพื้นที่ เช่น ที่รัฐกระเหรี่ยง รัฐคะเรนนี และเขตสกายเป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองการเมืองพม่าถึงการออกมาเรียกร้องให้เจรจาของมิ้นอ่องหลายครั้งนี้ ว่าจะเล่นเกมการเมืองไปในทิศทางไหน
ด้านสื่อไทใหญ่อย่าง Tai TV Online รายงานว่า โฆษกของกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายกองทัพพม่าพูดฝ่ายเดียวเท่านั้น และตอนนี้ทางกองทัพรัฐฉานใต้ยังไม่มีความเห็นใดๆ
ส่วนกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ระบุว่า ทางกลุ่มจะต้องหารือกันภายในก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ โดยพูดคุยเจรจากันเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรให้ทุกกลุ่มไม่ว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย และประเด็นที่สำคัญจะต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ
ขณะที่ผู้แทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU ให้สัมภาษณ์กับ Mizzima ว่า หากกองทัพพม่าต้องการพูดคุยเจรจาสันติภาพจะต้องดำเนินการใดๆ ภายใต้กฏหมายของบ้านเมือง และจะต้องถอยออกจากการเมือง ในระหว่างกระบวนการสร้างสันติภาพก็จะต้องเชิญชาติต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์
ส่วนโฆษกของกองทัพคะฉิ่น KIA แสดงความเห็นต่อท่าทีของกองทัพพม่าครั้งนี้ว่า น่าจะคว้าน้ำเหลวเหมือนเดิม เพราะตลอด 60 กว่าปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถหาคำตอบและแก้วิกฤติการเมืองในประเทศได้