Search

เบื้องลึกเบื้องหลัง เสียงปืนยังดังลั่นชายแดนแม่สอด

โดย ซอ บวอ บะ (Saw Bwe Bah)

นับตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2564 จนปัจจุบัน การสู้รบบริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่จ.ตาก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้ขยายวงกว้าง จากชายแดน อ.แม่สอด ไปถึงชายแดน อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง

หากมองย้อนกลับไปจากเหตุการณ์รัฐประหารโดยกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ฝ่ายต่อต้านการยึดอำนาจของทหารได้ก่อตั้ง National Unity Government (NUG) หรือรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ และต่อมามีได้ปรากฏการจัดตั้งกลุ่ม People’s Defense Force หรือ (PDF) เป็นกลุ่มประชาชนติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่า

หมู่บ้านเลเก่ก่อ ในรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามอ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) เริ่มตกเป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่า เพราะเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าได้เข้ามาหาพื้นที่ปลอดภัยจากปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่า

ต่อมาทหารพม่าได้พยายามเข้าไปในพื้นที่เลเก่ก่อ โดยได้รับอนุญาตจาก KNU เพื่อติดตามหาผู้หลบหนีการจับกุมของกองทัพหลังเกิดรัฐประหาร แต่ KNU ไม่อนุญาตให้ทหารพม่ากระทำการใดๆ ต่อประชาชนในพื้นที่นี้ เมื่อทหารพม่าเข้าไปในพื้นที่กลับมีการจับกุมคนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคสันนิบาติชาติ (พรรคเอ็นแอลดี) ของนางอองซานซูจี และกลุ่ม PDF ด้วย จึงทำให้เจ้าหน้าที่ KNU สกัดไม่ให้ทหารของกองทัพพม่าออกจากพื้นที่ จนเกิดการสู้รบ และมีทหารถูกสังหารจำนวนหนึ่ง กองทัพพม่าจึงตอบโต้ด้วยการใช้อาวุธหนักและการส่งอากาศยานโจมตี ส่งผลให้มีผู้หนีภัยการสู้รบจำนวนมากจำเป็นต้องข้ามฝั่งแม่น้ำเมยมายังประเทศไทยในช่วงปลายปี 2564

ล่าสุดปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่หมู่บ้านเลเก่กอ โดยกองทัพพม่าได้ขยายวงกว้างออกไปตลอดแนวชายแดนจังหวัดตาก ไปถึงชายแดน อ.อุ้มผาง ข้อมูลสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระยุเมื่อเดือนมกราคม 2565 ว่า มีผู้พลัดถิ่นภายในจากเหตุความไม่สงบในประเทศพม่าสูงถึง 405,700 คน จากจำนวนคนทั้งประเทศ เฉพาะผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 74,600 คน

หากเรามองลึกเข้าไปในพื้นที่การสู้รับบริเวณชายแดนจ.ตาก พบว่า สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. (NEDA) มีโครงการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและพม่า ภายใต้โครงการ “งานจ้างออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างสายส่ง 66 kV จากสถานีไฟฟ้าย่อย เมียวดีถึงสถานีไฟฟ้าย่อยสุคาลิ การก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยสุคาลิ 66/11 kV และการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อยเมียวดี 230 kV ในจังหวัดเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” โดยมีพื้นที่โครงการเริ่มจากเมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ตลอดแนวลงมาถึงพื้นที่ ต.ชุกาลี อ.วาเลย์ ตรงข้ามอ.พบพระ จ.ตาก

ลักษณะเหตุการณ์ที่มีความคล้ายกันหากเราย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวิน ช่วงปี 2553-2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พยายามผลักดันโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินอีกครั้ง ส่งผลให้ช่วงเวลานั้น ตามแนวถนนจาก พรมแดนไทยพม่า ที่แม่น้ำเมย บ้านแม่ตะวอ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เข้าไปสู่หัวงานเขื่อนฮัตจี ไปยังเมืองเมียนจีหงู่ จ.พะอัน ประเทศพม่า ได้เกิดการสู้รับกันอย่างหนักและต่อเนื่องระหว่างกองกำลังพิทักษ์ชายแดนของพม่า (BGF) กับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่ง หลายฝ่ายที่ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่างเชื่อว่าเป็นการเตรียมพื้นที่ให้กองทัพพม่าสามารถควบคุมพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเพื่อการดำเนินโครงการ

อย่างไรก็ตามการตรวจสอบจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในยุคนั้น นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่โครงการเขื่อนฮัตจี ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และจนปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังไม่มีความเคลื่อนไหว แต่หลายฝ่ายก็ยังมีข้อกังวลว่าพื้นที่หัวงานเขื่อนอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังของกองทัพพม่า BGF ซึ่งอาจจะนำมาสู่การฟื้นโครงการได้หากมีผู้สนใจเข้ามาลงทุน

สถานการณ์ชายแดนตะวันตกของประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เราอาจต้องมา ทบทวนและมองลึกลงไปกว่าเรื่องปัญหาภายในของประเทศพม่า แต่อาจเกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ทุกวันนี้ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควรในเรื่องของการฉกฉวยผลประโยชน์ท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดและคราบน้ำตาของประชาชนในประเทศพม่า เรายังเป็นผู้รับซื้อก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ รวมทั้งผลประโยชน์อื่นๆ ภายในพม่า ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนด้านงบประมาณให้รัฐบาลทหารพม่าที่กำลังทำสงครามอยู่กับประชาชน

ถ้าวันหนึ่งโครงการสายส่งที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนสำเร็จ ขณะที่มีประชาชนตลอดแนวสายส่งต้องสังเวยชีวิตและพลัดถิ่นที่อยู่มากมาย เรายังจะสบายใจดีอยู่หรือ ?

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →