เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หน่วยงานด้านความมั่นคงในจังหวัดตรังได้พาผู้สื่อข่าวล่องเรือเพื่อสำรวจแม่น้ำตรัง หลังจากก่อนหน้านี้นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการตังหวัดตรัง ที่มีคำสั่งให้ตรวจสอบบ่อดูดทรายเถื่อนในทุกพื้นที่ เนื่องจากสื่อมวลชนได้เสนอข่าวการลักลอบดูดทรายเถื่อนและมีการเรียกรับส่วยของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งประเภทบ่อดูดทรายแม่น้ำ และบ่อดูดทรายในที่ดินกรรมสิทธิ์ รวมทั้งบ่อขุดตักดินและทรายแต่แอบลักลอบดูดทราย ซึ่งมีทั้งนายทุน นักการเมืองท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพล รวมถึงคนใกล้ชิดนักการเมือง และยังพบว่าในระยะ 3 ปีมานี้ หลังเคยมีการตรวจสอบและเป็นข่าวครั้งใหญ่ไปแล้วเมื่อปี 2561–2562 การลักลอบดูดทรายผิดกฎหมายได้การหวนกลับมาอีกครั้ง
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่ามีบ่อดูดทรายเถื่อนหลายสิบบ่อตามแนวแม่น้ำตรัง บางแห่งแม้มีการขออนุญาตถูกต้อง แต่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อกฎหมาย สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติตามแนวแม่น้ำตรังอย่างมาก ซึ่งสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง ได้เตรียมออกมาเคลื่อนไหวถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าออกมาเรียกร้อง เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของบ่อดูดทรายเถื่อน
ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอห้วยยอด ชุดกอ.รมน.จังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ห้วยยอด เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ปทส.) ตำรวจสอบสวนกลาง ปูพรมเข้าตรวจสอบพื้นที่การดูดทราย และพื้นที่ขุดตักดินและทรายตามแนวแม่น้ำตรังตามคำสั่งของผู้ว่าฯที่ให้รายงานผลภายใน 7 วัน ซึ่งปัจจุบันเลยกำหนดมามาแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายงานดังกล่าว
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้สังเกตด้วยว่า บริเวณริมฝั่งแม่น้ำตรังในบางช่วงมีการกัดเซาะจนตลิ่งพัง มีการทรุดตัวของที่ดินริมฝั่งแม่น้ำ ทั้งที่เป็นป่าโปร่ง สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ระยะประมาณ 4-10 เมตร และพบซากต้นไม้ที่เคยยืนต้นริมตลิ่งล้มขวางแม่น้ำ บางส่วนทรุดลงโผล่พ้นน้ำกีดขวางการเดินเรือ บางต้นทรุดลงใน
จากการสำรวจยังพบว่า ในพื้นที่ได้เกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวร้ายโดยบริเวณท่าดูดทรายทำให้ตลิ่งพังในหลายจุด ขณะที่ต้นมะพร้าวชี้โด่กลางแม่น้ำทำให้เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ เหตุตอไม้ใหญ่ริมตลิ่งล้มซ่อนใต้ผิวน้ำแทงท้องเรือ และตะกอนสะสมทำแม่น้ำตื้นเขิน สภาพน้ำขุ่นข้น จนกระทบกับการจับสัตว์น้ำขอวประมงพื้นบ้าน.
“ออกมาทำประมงเล็กๆน้อยๆเพื่อทำอาหาร หากวันไหนได้มากก็แบ่งขายกันเองในพื้นที่ ปัจจุบันจับสัตว์น้ำได้ไม่มากนัก ต้องย้ายแหล่งไปเรื่อยๆ เพราะสภาพของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป มีความตื้นเขินมากขึ้น กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางบ่อย”ชาวประมงรายหนึ่งระบุ
ชาวประมงกล่าวด้วยว่า น้ำในแม่น้ำขุ่นข้นมากขึ้น ทำให้สัตว์น้ำทุกชนิดหนีจากแหล่งเดิมไปหาแหล่งน้ำที่สะอาดกว่า บางวันจึงจับปลาหรือตกกุ้งแม่น้ำไม่ได้เลย อย่างไรก็ดีในช่วงปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ถือว่าเป็นฤดูกาลของการจับกุ้งแม่น้ำตรังที่มีชื่อเสียงและชุกชุมมากที่สุด เพราะเป็นช่วงปลายหน้าแล้งติดต่อฤดูฝน แต่ปีนี้กลับจับได้ไม่มากนัก เพราะกุ้งได้ย้ายหนีน้ำขึ้นไปแหล่งอื่น ต้องตามกันไปจับ สิ้นเปลืองน้ำมันเรือมากขึ้น ส่วนราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี มีพ่อค้ามารับซื้อในราคา กิโลกรัมละ 800 บาท เพื่อส่งไปขายกรุงเทพฯและตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ แต่กุ้งก็หาได้ยากขึ้น