เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 สำนักข่าว Kantarawaddy รายงานว่า พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) จะไม่ไปร่วมเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่า โดยทางกลุ่มได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้กองทัพพม่ายุติปฏิบัติการทางทหาร เพื่อเปิดทางให้องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามในรัฐคะเรนนีและเรียกร้องให้กองทัพพม่าดำเนินการลงโทษทหารที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้กองทัพพม่าได้เข้าโจมตีรัฐคะเรนนีและทางใต้ของรัฐฉานอย่างหนัก
“ในความเป็นจริงนั้น ในขณะที่พวกเขาเรียกร้องหาสันติภาพ พวกเขากลับปฏิบัติการโจมตีพวกเรา ใครจะเชื่อใจพวกเขาได้ กองทัพพม่าจะต้องถอนทหารออกไปจากพื้นที่พิพาท พวกเราถึงจะพิจารณาว่าจะหารือกับพวกเขา” คู แดเนียล เลขาธิการคนที่ 1 ของ KNPP กล่าว และว่าการที่ผู้นำของกองทัพพม่าออกมาเรียกร้องเจรจาสันติภาพ คาดว่ากองทัพพม่ากำลังอ่อนแอ เนื่องจากถูกหลายกลุ่มโจมตีอย่างหนักในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
ในวันเดียวกันนี้ทางพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) สหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยง (KNU) และแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่า สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมเจรจากับกองทัพพม่า เพราะกองทัพพม่าไม่ได้เชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะกลุ่มที่ควรจะต้องเชิญกลับไม่ได้รับเชิญ
ขณะที่สำนักข่าว SHAN รายงานว่า มีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 9 กลุ่มที่จะมาเจรจาสันติภาพกับพลเอกมิ้นอ่องหล่าย โดย 6 กลุ่มคือกลุ่มที่เคยลงนามสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) แล้ว และอีก 3 กลุ่มยังไม่ได้ลงนามหยุดยิง โดยโฆษกของกองทัพพม่าอ้างว่า การเจรจาจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้ขีดเส้นตายให้ส่งรายชื่อเป็นวันสุดท้าย
ทั้งนี้ 6 กลุ่ม ที่เคยลงนามหยุดยิงแล้ว และจะเดินทางมาร่วมเจรจาสันติภาพกับพลเอกมิ้นอ่องหล่ายประกอบด้วย กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) กองกำลังสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU.KNLA/PC) พรรครัฐมอญใหม่ (MNSP) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานใต้ (RCSS/SSA) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) และองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO) ส่วนอีก 3 กลุ่มที่ยังไม่ได้ลงนามหยุดยิงกับกองทัพพม่าและตอบรับคำเชิญที่จะไปหารือสันติภาพได้แก่ กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองกำลังสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือกองทัพเมืองลา (NDAA) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA)
โฆษกของกองทัพพม่าระบุว่า ทางกองทัพพม่าจะหารือกับกลุ่มที่ตอบรับทีละกลุ่ม และจะประกาศอีกครั้งว่าจะหารือกันอีกครั้งเมื่อไหร่ แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน และยังอ้างว่า กองทัพพม่าจะดำเนินการเรื่องนี้ภายใต้หลักการของระบอบสหพันธรัฐและประชาธิปไตย
ขณะที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เคยลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับกองทัพพม่า แต่ประกาศกร้าวว่าจะไม่ยอมไปเจรจาสันติภาพ ได้แก่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF) และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU) นอกจากนี้ยังมี กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) กองกำลังโกก้าง (MNDAA) กองกำลังปะหล่อง (TNLA) เป็นต้น ประกาศที่จะไม่ยอมไปเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่าเช่นเดียวกัน และกลุ่มเหล่านี้ยังสู้รบดุเดือดกับกองทัพพม่า