ภาพ/เรื่องโดยแลงหลาว

ทันทีที่รถฉันจอดหน้าบ้าน แม่วิ่งหน้าตาตื่นมาบอกว่า “ทหารชุดเขียว (SSPP/SSA) ยึดดอยโฮนไปแล้ว เขายึดไปแล้วจริงๆ คนบ้านฉันต้องลำบากกว่าเก่าแน่คราวนี้” แม่บ่นพึมพำแต่ตายังก้มมองดูข่าวในมือถือไม่ละสายตา
“ปล่อยวางเถอะแม่ อีกสัก 10 ปี สถานการณ์ก็คงไม่เปลี่ยน รัฐฉานแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้วตอนนี้” ฉันพูดตัดบท เราจบบทสนทนาของเราไว้เพียงแค่นั้น เพราะฉันขี้เกียจต่อความยาวเรื่องข่าวบ้านการเมืองในพม่า เพราะความเบื่อหน่ายหรือเป็นความสิ้นหวังก็ไม่รู้ตั้งแต่ “มินอ่องหลาย”ยึดอำนาจ
จากวันนั้นผ่านมาหลายเดือนถึงฉุกคิดได้ว่า ดอยโฮนเป็นดอยที่อยู่ในเมืองกึ๋งซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่ สงครามที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นใกล้ๆ บ้านเกิดของแม่ ไม่แปลกใจที่แม่จะรู้สึกอ่อนไหวกับเรื่องนี้มากถึงจากมากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม ฉันกับแม่เหมือนลิ้นกับฟันและคงเหมือนแม่ลูกอีกหลายคู่ที่ความคิดเห็นไม่ค่อยตรงกัน มีเพียงไม่กี่เรื่องที่คุยกันถูกคอซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการบ้านการเมืองในรัฐฉาน และเรื่องทหารพม่า
วันไหนนั่งล้อมวงจิบชาโรยงาคั่วแบบไตยไตย มีพี่ๆ และหลายๆ คนที่เป็นเพื่อนแม่ คนเก่า คนแก่ที่เคยร่วมชะตากรรมมาร่วมวงด้วย วันนั้นจะคุยกันออกรสอย่างที่สุด บางเรื่องถึงแม้เคยฟังแล้วตอนเด็กๆ แต่ก็ยังอยากฟังไม่รู้เบื่อ
แม่เป็นลูกช่างทองในตัวเมืองกึ๋ง แต่กำพร้าแม่ตั้งแต่เล็กๆ จึงต้องไปอยู่กับป้าในหมู่บ้านห่างออกไป แม่โชคดีกว่าเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ อยู่บ้างตรงที่ได้เรียนหนังสือจนสามารถอ่านภาษาไทใหญ่แบบเก่าได้ ชีวิตเด็กสาวบ้านนอกอย่างแม่ตื่นมาก็ต้องตักน้ำ ตำข้าว ทำนา ปลูกงา และใช้ชีวิตผูกพันธ์กับแม่น้ำเต็ง สายน้ำหลักของเมืองกึ๋ง พอเป็นสาวแรกรุ่นวัย 16 ปีก็จับพลัดจับผลูแต่งงานกับนายทหารไทใหญ่จากเมืองสีป้อซึ่งเป็นดินแดนตอนเหนือของรัฐฉานที่มาประจำการในพื้นที่ ชีวิตของเด็กสาวจึงเปลี่ยนไปนับแต่นั้น
“หุงข้าวยังไม่ทันสุก พอได้ข่าวว่าทหารพม่าใกล้จะตามมาถึง ก็ยกหม้อหุงข้าวขึ้นหัวหนีไปซะอย่างงั้น ข้าวก็ยังไม่ได้กิน แต่ไม่รู้เอาเรี่ยวเอาแรงที่ไหนไปวิ่ง” แม่พูดและหัวเราะออกมาเบาๆ ราวกับเป็นเรื่องตลกขบขัน

“ฝนก็ตกปรอยๆ หนาวก็หนาว ห่ากระสุนก็เฉียดหัวไปมา ทหารพม่าส่งกำลังมาเป็นจำนวนมาก หวังจะยึดฐานทัพทหารไทใหญ่ของเราให้ได้ ไล่ต้อนทหารไทใหญ่ทุกทาง ผู้ชายออกไปรบ ผู้หญิงอย่างเราดูแลลูกๆ พลัดหลงกันไปหมด หนีกันไปคนละทาง ระส่ำระสาย เราต้องยืนทั้งคืนและกล่อมเด็กๆ หลับไปด้วย” แม้ผ่านมาเนิ่นนานแต่แม่ยังเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างคมชัดเหมือนเพิ่งเกิดขึ้น
“ที่ต้องยืน เพราะต้องเตรียมตัวหนีทหารพม่าทุกเมื่อ หากจำเป็น จะหนีไปอยู่บ้านชาวบ้าน บ้านไหนก็ไม่อยากรับ เพราะเราเป็นครอบครัวทหารไทใหญ่ ถ้าทหารพม่ารู้ คนบ้านนั้นคงโดนซ้อมทรมานปางตาย” แม่พูดถึงเหตุการณ์ครั้งกองทัพพม่าเข้ายึดเขตควบคุมของทหารไทใหญ่ที่เมืองสะเน็น ซึ่งอยู่ในเขตป๋างโหลง รัฐฉาน คนเฒ่าคนแก่ไทใหญ่ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “เมืองสะเน็นแตก”
ชีวิตของเมียทหารไทใหญ่สมัยนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ สามีอยู่ไหน ครอบครัวอยู่นั่น กระเตงกันไปและแน่นอนชีวิตอยู่ในป่าที่เป็นพื้นที่ควบคุมของทหารไทใหญ่เสียส่วนใหญ่ เมียทหารไทใหญ่บางคนต้องคลอดลูกเองในป่า หรืออาจมีแค่หมอคนเดียวมาทำคลอดให้ เพราะเข้าเมืองไม่ได้เนื่องจากถูกทางการพม่าหมายหัวว่าเป็นเมียคนเถื่อน การไม่สามารถเข้าเมืองไปหาหมอได้ ทำให้แม่สูญเสียลูกคนที่สามไปตลอดกาลจากโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ ตอนที่ยังเป็นทารกได้แค่ 8 เดือน พ่อตั้งชื่อแสนไพเราะให้พี่ชายคนนี้ว่า “จายหนุ่มอินทร์”
ชะตาชีวิตที่เกิดขึ้นกับจายหนุ่มอินทร์ ได้เกิดขึ้นกับเด็กๆ อีกเป็นจำนวนมากในพม่าและดำเนินวนเวียนต่อไปไม่รู้จบตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ อันเป็นผลพวกจากความขัดแย้งและสงครามในพม่า
เพราะกระเตงกันไปเป็นครอบครัวนี่เองได้สร้างปัญหาให้หนักใจให้ทหารนักปฏิวัติอยู่ไม่น้อย ตอนฉันเป็นทารกเกือบถูกพ่อจับฝังดินทั้งเป็นเพราะร้องไห้ไม่หยุด เพื่อรักษาชีวิตทหารและครอบครัวติดตามอีกหลายชีวิต หากจำเป็นจริงๆ พ่อก็คงต้องทำ คืนแล้วคืนเล่ายานอนหลับเม็ดบดเป็นผงจึงถูกกรอกปากเด็กทารกอย่างฉันเพื่อไม่ให้ส่งเสียงร้องไห้ยามค่ำคืน ถึงแม้โตขึ้นมาอายุ 4-5 ขวบ ฉันก็ยังเป็นเด็กขี้แย จนลุงข้างบ้านตั้งชื่อใหม่ให้ว่า “เอต๋าน่ำ” หรือแปลได้ว่า เด็กหญิงเจ้าน้ำตา แต่พูดเรื่องนี้ให้ใครฟังเพราะความน้อยใจและไม่เข้าใจว่าแม่ทำไมต้องกรอกยานอนหลับ ทุกคนต่างบอกฉันเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีแค่ไหนที่มีชีวิตรอดมาได้
หลังฐานทัพของทหารไทใหญ่ในเมืองสะเน็นพ่ายแพ้ต่อกองทัพพม่า เพราะทหารพม่าขนกำลังมาเป็นจำนวนมากเพื่อยึดเอาเขตทหารไทใหญ่ให้ได้ พ่อกับแม่ตัดสินใจส่งพวกเราพี่น้องและลูกทหารคนอื่นๆ อีกนับสิบชีวิตข้ามแม่น้ำคงหรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อแม่น้ำสาละวินมายังชายแดนไทย
เรานั่งเรือเล็กๆ ข้ามแม่น้ำสาละวินที่กำลังไหลเชี่ยว คนไทใหญ่ถือเคล็ดกันว่า เวลานั่งเรือข้ามแม่น้ำคงห้ามพูดเรื่องไม่ดี แต่แม่เล่าว่าเพราะเรือเล็กและโคลงเคลงนี่แหล่ะเกือบเอาชีวิตไม่รอดและไม่ถึงจุดหมายเหมือนกัน พอถึงทางบก เด็กๆ ถูกจับให้นั่งในตระกร้าบรรทุกบนหลังม้า เดินทางข้ามวันข้ามคืนจากเมืองชั้นในของรัฐฉานเป็นเวลาหลายสิบวันกว่าจะมาถึงชายแดน ที่ใช้เวลานานเพราะเด็กๆ อย่างพวกเราไม่สามารถเดินทางผ่านเส้นทางหลักได้ เพราะเป็นลูกหลานทหารไทใหญ่อีกนั่นแหล่ะ
ชีวิตที่เติบโตในชายแดนจึงคุ้นเคยกันดีกับหลุมหลบภัยที่แทบจะมีทุกบ้าน วันดีคืนดีทหารพม่าส่งเครื่องบินรบมาปล่อยระเบิด แม้แต่ระฆังโรงเรียนก็ทำด้วยกระสุนปืนใหญ่ที่ระเบิดไปแล้ว ครอบครัวเราไปมาระหว่างฝั่งไทยและรัฐฉาน(ในเขตควบคุมของทหารไทใหญ่) แต่พ่อกับแม่ตัดสินใจสร้างบ้านเล็กๆ ติดแม่น้ำในหมู่บ้านห้วยยาว ตรงข้ามฝั่งไทยด้าน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
หมู่บ้านเล็กๆ ที่สมบูรณ์แห่งนี้เอง มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์หล่อเลี้ยงคนทั้งกองทัพเลยก็ว่าได้ ผักกูดและจั๊กจั่นเป็นแหล่งอาหารขึ้นชื่อ ในพื้นที่นี้มีน้ำพุร้อนเป็นแม่น้ำไหลเชี่ยว ที่เกิดมาไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ว่าไปในอดีต ตอนที่ด่านยังเปิด พื้นที่นี้ลากยาวไปถึงหมู่บ้านฝั่งไทย มีการค้าขายอาหารอย่างคึกคัก เช่น ผักและปลาหลากหลาย จากริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน สินค้าไทยเองถูกส่งขายให้เมืองชั้นในรัฐฉาน ฉันยังแอบเสียดาย หากไม่มีสงครามและด่านชายแดนนี้ยังเปิดอยู่ ไม่แน่ว่าน้ำพุร้อนที่หมู่บ้านห้วยยาว อาจเป็นแหล่งออนเซนท่องเที่ยวชื่อดังที่สุดของเมืองทางใต้รัฐฉานก็เป็นได้
พอมาอยู่ชายแดนได้ไม่นาน แม่ถูกฝึกให้เป็นผู้ช่วยหมอในโรงพยาบาล ภรรยาทหารไทใหญ่เกือบทุกคนต้องฝึกหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะนั่นถือเป็นภารกิจช่วยชาติ บางคนเป็นทหารหญิง บางคนเป็นครู ช่วยงานในสำนักงานของกองทัพ หรือบางคนช่วยงานฟื้นฟูด้านวัฒนธรรม แม่ได้รับการฝึกตั้งแต่ตรวจคนไข้ไปจนถึงฉีดยา จากสาวบ้านๆ แม่จึงขยับฐานะเป็นผู้ช่วยหมอโดยปริยาย แต่มีบางช่วงที่แม่ผันตัวเองไปเป็นแม่ค้าอัญมณี เอาเพชรพลอยจากเมืองสู้ แหล่งขึ้นชื่อเรื่องเพชรพลอยน้ำงามมาขาย
ชีวิตที่ดูเหมือนราบรื่นดีของแม่และพวกเราทุกคน อย่างน้อยก็ดีกว่าใช้ชีวิตหนีทหารพม่าในเขตสู้รบกลับมาสะดุดครั้งใหญ่ก็ตอนที่พ่อหนีกลับไปรัฐฉาน หนีจากกองทัพเมิงไตย MTA ภายใต้การนำของขุนส่าในช่วงเวลานั้น ไปเข้าร่วมกับกองทัพทางเหนือ กองกำลังไทใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจนถึงวันนี้พวกเรายังไม่ล่วงรู้เหตุผลของพ่อได้
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้แม่กับพวกเราซึ่งไม่ได้หนีไปกับพ่อถูกสั่งให้ย้ายออกจากหมู่บ้านห้วยยาวกลับไปเมืองชั้นในรัฐฉานโดยทันที หากไม่ย้ายออก พวกเราอาจต้องรับโทษแทนพ่อ นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันเริ่มรู้จักกับความทุกข์

“ขืนกลับไปที่ที่จากมา อดตายกันทั้งหมดแน่ๆ” นั่นเป็นคำพูดที่แม่บอกพวกเราในตอนนั้น แม่จึงพาครอบครัวเราเข้าเมืองเชียงใหม่เพื่อหางานทำ
งานแรกที่แม่ทำคือเป็นกรรมกรก่อสร้างได้ค่าแรงวันละ 60 บาท คนรุ่นแม่ที่มาหางานทำในเชียงใหม่ในตอนนั้น อาจเป็นแรงงานข้ามชาติรุ่นแรกๆ เลยก็ว่าได้
ชีวิตของแม่ยังต้องหนีอยู่เรื่อยๆ จากหนีกระสุนเปลี่ยนเป็นแรงงานข้ามชาติที่ต้องหนีตำรวจไทย เพราะตอนนั้นแม่ไม่มีบัตร ชีวิตอยู่ด้วยความกลัวและหวาดระแวงตลอดเวลา หากใครไม่อยู่ในสถานะนั้นคงไม่เข้าใจ ในบางคืน พวกเราและอีกหลายๆ ครอบครัว จะเอาเสื่อผืนและหมอนไม้ซึ่งเป็นเก้าอี้เตี้ยทำจากไม้ขึ้นไปนอนชั้นดาดฟ้าของตึก เพราะกลัวตำรวจมาจับที่ห้องตอนกลางคืน บางทีก็ใช้วิธีล็อคแม่กุญแจไว้ด้านนอก ทำเหมือนไม่มีคนอยู่ในห้องพักเพื่อให้พ้นสายตาของตำรวจ แต่วิธีนี้มักไม่ได้ผล เมื่อจนมุมจะถูกจับจริงๆ ก็ต้องใช้วิธีวิ่งหนีให้ไวที่สุด อาจเป็นเพราะแม่เคยหนีทหารพม่ามาแล้ว พอมาเจอตำรวจไทยแม่ก็ยังคงวิ่งหนีรอดอยู่ทุกครั้ง โดยมีพวกเราพี่น้องส่งเสียงเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ ทุกๆ ครั้งที่ตำรวจเข้าไซต์งาน
แม่ไม่เคยแต่งงานใหม่อีกเลยและชีวิตในฐานะกรรมกรก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างนั้นหลายปี เราคุ้นเคยดีกับคันคลองแถวๆ สี่แยกภูคำ เพราะเป็นที่ที่เราไปอาบน้ำทุกวันในสมัยก่อน แม่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อร่างขนอิฐขนทรายสร้างเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว จากกรรมกรในเชียงใหม่ แม่ย้ายไปเป็นกรรมกรในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ บ้าง เพื่อค่าแรงที่สูงขึ้น อยู่ในชุมชนสลัมมีน้ำครำดำปี๋ล้อมรอบ แม่ก็เคยอยู่มาแล้ว
แม่ฉาบปูนเก่งขึ้น ทำงานคล่องขึ้น ค่าแรงของแม่ก็ขยับขึ้นตามไปด้วย แม้จะอ่านภาษาไทยไม่ได้ แต่ใช้วิธีจำหมายเลขรถแทน ทำให้แม่ไม่เคยขึ้นรถเมล์ผิดสายตอนอยู่กรุงเทพฯ
หลังกองทัพเมืองไตย MTA ล่มสลาย แม่ถึงกล้ากลับไปเยี่ยมบ้านเก่าที่หมู่บ้านห้วยยาวอยู่ครั้งหนึ่ง แต่น่าเศร้าสงครามทำให้หมู่บ้านห้วยยาวกลายเป็นหมู่บ้านร้างจนถึงตอนนี้ คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ย้ายมาอยู่ฝั่งไทยกันหมด เวลาผ่านไป แม่เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นบ้าง ส่วนใหญ่เป็นงานแม่บ้าน แม่ครัว พอแก่ตัวลง แม่จึงเลิกทำงานในเมืองและย้ายกลับมาอยู่ชายแดน ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ กิจกรรมยามว่างที่ทำในชีวิตประจำวันก็คือการติดตามข่าวสารจากบ้านเกิด จะว่าไป คนเฒ่าคนแก่รุ่นแม่ รู้สถานการณ์ที่รัฐฉานดีกว่าคนรุ่นลูกรุ่นหลานเป็นไหนๆ
“ตอนนี้ สงสารทั้งผู้ลี้ภัยและทหารชุดลาย (RCSS/SSA) ในแนวหน้าที่เจอศึกรอบด้าน ดูในเฟสบุ้คเขาว่า คนมาใหม่ที่แย่งดอยโฮนไป พูดไทใหญ่ไม่ได้สักคำ พูดแต่ภาษาว้า” แม่พูดขึ้นวันหนึ่งในปลายปีฤดูหนาวปีที่แล้ว
“ก็ทหารชุดเขียวกับว้าเขาเป็นพันธมิตรกัน” ฉัน ตอบแม่สั้นๆ และแม่ยังคงพูดต่อไปว่า
“คนที่มาใหม่และยึดดอยโฮนไปบอกว่า อยู่บนดอยโฮนแสนลำบากเรื่องน้ำ สงสัยคงจะอยู่ไม่ได้และคงคิดว่าเสียแรงอยู่ไม่น้อยที่อุตส่าห์ขึ้นมายึดได้ แต่จะบอกอะไรให้ ดอยโฮนถึงแม้จะเป็นแค่ดอยดอยหนึ่งหรือดอยเล็กๆ แต่มันมีค่าทางจิตใจกับคนบ้านฉันมาก” แม่พูดถึงบ้านเกิดด้วยสีหน้าจริงจัง
“ทหารพม่ากดขี่เรายังว่าเจ็บใจ แต่นี่ทหารชุดเขียว SSPP/SSA พาคนอื่นมากดขี่คนเชื้อชาติเดียวกัน มันปวดใจยิ่งกว่า คนที่โน่นลำบากกันทั้งประเทศเลยตอนนี้ ลำบากกว่ายุคฉันเป็นไหนๆ ผ่านมาหลายปี นึกว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ไม่เลย ฝันสลายมาแล้วครั้งหนึ่ง เลยไม่กล้าฝันอีก” แม่พูดด้วยน้ำเสียงเบา จนคนฟังต้องเงี่ยหูฟัง จนฉันอดไม่ได้ที่จะถามต่อไปว่า “แม่ฝันสลายเรื่องอะไร แม่ฝันถึงอะไร”
“ฝันสลายตอนที่ MTA วางอาวุธให้กองทัพพม่า เราสูญสิ้นความหวังที่ว่า รัฐฉานจะเป็นอิสระ มาในตอนนี้ อย่าพูดถึงเรื่องกู้ชาติเลย เรื่องรวมชาติกันยังยาก จึงไม่กล้าฝัน แต่ก็หวังว่าอย่างน้อยในสักวันหนึ่ง บ้านเมืองเราจะสงบ ชาวบ้านไม่ต้องทุกข์ลำบาก แต่ก็ไม่รู้เมื่อไหร่”
แม่ตัดบทสนทนาของเราไว้แค่นั้น เพราะเราไม่รู้จะหาคำตอบได้จากไหนและจากใคร