พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party-NMSP) เป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มที่สองที่ได้เจรจาสันติภาพร่วมกับพลเอกมินอ่องหลาย และคณะของกองทัพพม่าที่กรุงเนปีดอว์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จุดยืนของ NMSP ครั้งนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวมอญรวมถึงนักวิเคราะห์ทางการเมืองว่า ไม่เพียงแต่ทอดทิ้งประชาชนชาวมอญแต่ยังทอดทิ้งประชาชนทั้งประเทศพม่า ขณะที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะไม่ร่วมเจรจากับกองทัพพม่า โดยมองว่า กองทัพพม่าไม่ได้มีความจริงใจที่จะเชิญทุกกลุ่ม ทั้งคู่ขัดแย้งเพื่อยุติสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ
NMSP ป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์มอญเก่าแก่ก่อตั้งเมื่อปี 2501 และได้ลงนามหยุดยิงกับกองทัพพม่าเมื่อปี 2561 การเจรจาหารือกับกองทัพพม่าครั้งนี้ NMSP ได้ส่งไนอ่องมิน รองประธานของ NMSP ไนวินละ เลขาธิการร่วม และไนบันยา เล คณะกรรมการกลางของ NMSP เข้าร่วมหารือ โดยโฆษกของ NMSP อ้างว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันที่จะจัดตั้งหลักการสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตย และการยอมรับกฎบัตรของรัฐมอญ และจะแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิธีทางการเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริง
โฆษกของ NMSP ยังระบุว่า ขั้นตอนต่อไป NMSP จะหารือกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อีก 10 กลุ่มที่ลงนามหยุดยิงกับฝ่ายพม่า รวมไปถึงพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้ระยะเวลาพอสมควร และการไปพบกับกองทัพพม่าครั้งนี้ เป็นท่าทีทางการเมืองที่จำเป็นสำหรับคนมอญ ที่มีประชากรราว 1.1 ล้านคนในพม่า และได้หารือจนได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องและพระสงฆ์มอญก่อนที่จะไปหารือกับกองทัพพม่า อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของกองทัพพม่าไม่ได้ระบุเกี่ยวกับที่ทางกองทัพพม่าเห็นด้วยที่จะใช้กฎบัตรของรัฐมอญแต่อย่างใด
ด้านโก่แอ้กก้า 1 ในผู้นำจากองค์กรปฏิวัติรัฐมอญ (Mon State Revolutionary Organization) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้วหลังการรัฐประหาร กล่าวแสดงความเห็นว่า ผู้นำของ NMSP กำลังทำให้ชื่อเสียงของตัวเองเสียหาย สถานการณ์การเมืองในพม่าตอนนี้ยังไม่นิ่ง จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะไปหารือกับกองทัพพม่า
“การปฏิวัติครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะวิกฤตไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการทางการเมือง การเจรจาจะเป็นผลดีได้ก็ต่อเมื่อรวมทุกกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) การปฏิวัติกำลังได้รับแรงผลักดัน การเจรจาที่เสนอโดยกองทัพพม่านั้นไม่สมจริงและเชื่อถือไม่ได้” โก่แอ้กก้า กล่าว
นักวิเคราะห์การเมืองยังมองว่า ประชาชนชาวมอญคงไม่ได้รับสิทธิการปกครองตนเองอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อเร็วๆนี้ โฆษกของกองทัพพม่าได้ออกมาระบุว่า จะคงรักษาไว้รัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ทหารพม่าเป็นผู้ร่างขึ้น และเป็นไปไม่ได้ที่ชาวมอญจะมีความสุขในการปกครองตนเองและความเป็นอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และการจัดตั้งกฎบัตรของรัฐมอญจะไม่เกิดขึ้นจนกว่า การเลือกตั้งที่กองทัพพม่าวางแผนไว้จะแล้วเสร็จซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า
ด้านหญิงชาวมอญรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Irrawaddy ว่า จุดยืนของ NMSP ทำให้ชาวมอญล้าหลังในการปฏิวัติในครั้งนี้ NMSP ไม่เพียงแต่จะไม่ฟังเสียงของชาวมอญ แต่ยังไม่ฟังเสียงของประชาชนทั้งประเทศ และมองว่านักการเมืองชาวมอญกำลังทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและอีโก้ของตนเท่านั้น