Search

ชาวกะเหรี่ยงฮือโต้ “วีระกร” เอาข้อมูลไม่จริงอภิปรายโครงการผันน้ำยวม เผยชาวบ้านได้รับผลกระทบมากกว่า 46 หมู่บ้านแต่กลับระบุแค่ 30 หลังคาเรือน ส.ส.ก้าวไกลจวกทำเวทีอภิปรายงบประมาณเป็นเวทีเยินยอ

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้อภิปรายว่า กรณีของกรมชลประทาน สิ่งที่ยังขาดคือเรื่องน้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพล เนื่องจากแม่น้ำปิงมีปริมาณน้ำน้อยลงทุกวัน เพราะมีฝายแม้ว ประตูน้ำเก็บน้ำไว้มากมาย ดังนั้นน้ำจึงไหลลงแม่น้ำปิงน้อย โดยในช่วง 10 ปีทีผ่านมาปริมาณน้ำจึงมีเพียง 40% ของอ่างเก็บน้ำภูมิพลเท่านั้น ซึ่งเก็บได้ 13,500 ล้าน ลบ.ม. ยังขาดอีก 8,000 กว่าล้าน ลบ.ม.

นายวีระกรกล่าวว่า อยากขอร้องว่า โครงการที่ชลประทานศึกษาไว้แล้ว ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว มาเจอเอ็นจีโอแต่เอ็นจีโอก็สู้ไม่ได้ เลยหนีไปหาสายสิทธิมนุษยชนโดยทำหนังสือมายังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.)เพื่อขอให้ชะลอโครงการโดยอ้างกะเหรี่ยงปกาเกอะญอไปโน่นเลย ซึ่งจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย

“ทางท่านกะเหรี่ยงผมได้ไปคุยกับท่านแล้ว มี 30 หลังคาเรือน หมู่บ้านท่าเรือ อ.แม่สามแลบ ไปคุยแล้วครับ เขาไม่ได้ขัดข้องเลย คนขัดข้องคือเอ็นจีโอไม่กี่คน ที่พยายามไม่ให้เกิด ไม่ว่าทำอย่างไรก็ไม่อยากให้เกิดเพราะเป็นผลงานที่แกจะไปโชว์ต่างประเทศได้ อันนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าเขาทำอาชีพอะไร ผมก็ไม่ทราบ แต่เรียนว่าเราต้องทำ น้ำต้นทุนหากไม่เกิดไม่ได้” นายวีระกร กล่าว

นายวีระกรกล่าวว่า เราจะได้น้ำจากการผันน้ำยวมประมาณ 2,000 ล้านต่อปี นั่นคือเฟสที่ 1 เรายังสามารถจะดึงน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาร่วมอีกด้วยโดยอยู่ห่างไปแค่ 10 กิโลเมตร ทำระบบท่อส่งมาที่ประตูน้ำที่เราปิดที่มาน้ำยวม เพราะเรามีประตูสูบน้ำอยู่แล้ว ถ้าเราทำการผันน้ำยวมเราต้องมีสถานีสูบน้ำเป็นหลักอยู่แล้ว สถานีสูบน้ำ 6 หัวสูบๆ ละ 54 เมกกะวัตต์ ส่งน้ำได้ทั้งปีเอาน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาเฉพาะในหน้าน้ำ มาเติมก็ไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ภายหลังการอภิปรายของนายวีระกร ได้เกิดปฎิกริยาอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะประชาชนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งได้จะได้รับผลกระทบจากโครงการผันแม่น้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล โดยที่ผ่านมาชาวกะเหรี่ยงนับตั้งแต่ในหมู่บ้านท่าเรือและหมู่บ้านแม่เงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ไปจนถึงชาวกะเหรี่ยงในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีอุโมงค์ผันน้ำลอดผ่าน ไปจนถึงชาวกะเหรี่ยงที่ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นปากอุโมงค์ผันน้ำ รวมแล้วนับพันครอบครัว ต่างออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าวและได้มีการยื่นหนังสือให้มีการตรวจสอบโครงการเพราะมีการทำรายงาน EIA ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

นายสะท้าน ชีวะวิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน และชาวบ้านอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าตนเองในฐานะคนกะเหรี่ยงปกาเญอ คนแม่น้ำยวม เห็นว่าการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพูดคุยหารือกับประชาชนในพื้นที่ การที่ส.ส.อภิปรายว่าไปคุยกับชาวบ้านท่าเรือ แต่เท่าที่ตนทราบนั้นชาวบ้านพื้นที่ได้รับผลกระทบไม่ได้เจอกับนายวีระกรเลย ไม่ทราบว่าเอาข้อมูลมาจากไหน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบอย่างน้อย 46 หมู่บ้าน ในเขตป่า 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ และอาจกระทบรวมถึงพื้นที่ใน จังหวัดลำพูนด้วย ซึ่งสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะก่อสร้างพาดผ่าน ประชาชนใน จ.ลำพูน เขารู้ข้อมูลนี้หรือไม่

“อภิปรายในสภา คุณพูดเฉพาะอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำยวม แต่เมื่อชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบสอบถามกรมชลประทานว่าน้ำจะท่วมถึงแค่ไหน เจ้าหน้าที่กรมชล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ก็ตอบไม่ได้ ไหนจะผลกระทบจากการขุดเจาะอุโมงค์ 62 กิโลเมตร ผ่านป่าต้นน้ำ ป่าอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ทำไมไม่พูดถึง” นายสะท้าน กล่าว

นายดวงจันทร์ คำทอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีเชื้อสายกะเหรี่ยง กล่าวว่าตนเองเป็นผู้นำในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นว่า ส.ส.คนที่อภิปรายมาพบประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในพื้นที่แต่อย่างใด และที่ชาวบ้านห่วงคือ ผลกระทบจะเกิดขึ้นมาก บ้านแม่เงามีประชากร 70 กว่าหลังคาเรือน จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำยวม สถานีสูบน้ำที่สบเงา อุโมงค์ส่งน้ำ และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง “บอกว่ากระทบ 30 ราย ไม่แน่ใจว่านับรวมชาวบ้านครบแล้วหรือไม่ ทั้งบ้านท่าเรือ และหมู่บ้านอื่นๆ ตลอดแม่น้ำยวม ยังมีอีกมากที่จะได้รับผลกระทบ”

นายชัยยาพงษ์ ดอนไพรวงศ์ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง และเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่  กล่าวว่าผลกระทบที่เกิดจากโครงการผันน้ำยวมไม่ใช่แค่ 30 หลังคาแน่ๆ เท่าที่ทราบในเขต อ.อมก๋อย ก็มีหลายสิบหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เช่น บ้านกะเบอะดิน ตุงลอย ผาแดง หลายหมู่บ้านก็ไม่ได้มีชื่อรวมอยู่ใน อีไอเอ

นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ซึ่งมีเชื้อสายกะเหรี่ยง กล่าวว่า ได้ฟังนายวีระกรอภิปรายแล้วเหมือนเป็นเวทีเยินยอรัฐบาลมากกว่าจะอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ โดยผู้อภิปรายไม่หาความรู้ว่าโครงการที่มีผู้ทักท้วงคัดค้านนั้นเป็นเพราะเหตุผลอะไร โดยเฉพาะกรณีโครงการผันน้ำยวม ตนเห็นว่าการอภิปรายงบประมาณอย่างสร้างสรรค์ คือทำให้เป็นงบประมาณจากล่างขึ้นบน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง ส.ส.จะทำอะไรไม่ได้หากไม่เข้าไปอ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งปีนี้งบประมาณสูงถึง 3.18 ล้าน โดยควรจะให้กระจายไม่กระจุก

อนึ่งโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล(แนวส่งแม่น้ำยวม)เป็นโครงการของกรมชลประทาน ที่สร้างเขื่อนและสถานีสูบน้ำส่งน้ำจากแม่น้ำยวมใน อำเภอสบเมย โดยสร้างอุโมงค์ทะลุผืนป่าในเขตอุทยานฯและป่าสงวน 6 แห่งผ่านอำเภออมก๋อยไปทะลุที่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่  โดยล่าสุดในการศึกษาแนวทางร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP)ระบุว่ามีมูลค่าโครงการตลอดอายุงาน 1.7 แสนล้านบาท

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →