เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 เป็นวันที่สอง นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวถึงกรณีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) ของกรมชลประทาน ที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.นครสวรรค์ ได้อภิปรายไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม โดยระบุว่ามีชาวบ้านเพียง 30 หลังคาเรือนที่ได้รับผลกระทบ ว่าเป็นข้อมูลที่ไม่จริง การที่นายวีระกรจะเยินยอหรือเชียร์รัฐบาล ก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและนายวีระกรก็เป็น ส.ส.อาวุโส ควรเป็นตัวอย่างให้ ส.ส.ใหม่อย่างตน

นายมานพกล่าวว่า การที่นายวีระกรบอกว่าหมู่บ้านท่าเรือ ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในโครงการผันน้ำยวม อยู่ที่อำเภอแม่สามแลบก็ผิดแล้ว เพราะหมู่บ้านนี้อยู่ที่ อำเภอสบเมย จึงไม่แน่ใจว่าที่นายวีระกรบอกว่าได้ไปลงพื้นที่มาแล้วนั้น ได้เดินทางไปจริงหรือไม่ และการที่นายวีระกรบอกว่าโครงการผันน้ำยวมครั้งนี้ จะกระทบชาวบ้านกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ 30 หลังคาเรือนนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะนอกจากชาวบ้านท่าเรือแล้ว ยังมีชาวบ้านแม่เงา และชุมชนอีกมากมายตลอดแนวทางการขุดเจาะอุโมงค์ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นตนจึงไม่แน่ใจว่านายวีระกรได้เข้าไปคุยกับชาวบ้านจริงหรือไม่ และที่ใดบ้าง ที่สำคัญคือไม่แน่ใจว่านายวีระกรเคยไปถึงปากอุโมงค์ที่ อำเภอฮอดหรือไม่
นายมานพกล่าวว่า การที่นายวีระกรบอกว่า มีเพียงเอ็นจีโอไม่กี่คนที่ออกมาคัดค้านจนต้องไปพึ่งคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนั้น จริงๆแล้วเพราะโครงการนี้ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง และชาวบ้านยังได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการจากทั้งมหาวิทยาลัยในกรุงเทพและภาคเหนือ ส่วนเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก็ไม่ได้ติดตาม การอภิปรายข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎรต่อรายงานการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งมีโครงการผันน้ำยวมอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นอีไอเอร้านลาบเป็นที่รับทราบว่าขาดการมีส่วนร่วม นักวิชาการที่จัดทำรายงานก็กำลังถูกตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานทางวิชาการและความเชื่อมโยงกับกรมชลประทาน
ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าวว่า การลงทุนในโครงการนี้มีมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท แล้วจะเอางบประมาณที่ไหนมาลง หากร่วมทุนกับเอกชนจากต่างประเทศ ก็ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าบริการจัดการ และค่าไฟฟ้าสูบน้ำกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท
“ผมเห็นว่ายังมีทางเลือกการบริหารจัดการน้ำที่คุ้มค่ากว่า มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากร และให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม”นายมานพ กล่าว

ขณะที่นายศักดิ์ชัย เยมู ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งที่ดินจะได้รับผลกระทบจากกองดินและวัสดุบริเวณปากอุโมงค์ผันน้ำ กล่าวว่า นายวีระกรนั่งอยู่ในสภา จะรู้อะไรเพราะไม่เคยเห็นแม่น้ำยวมอย่างแท้จริง พูดออกมาได้ว่ามีน้ำสูบได้ทั้งปี ทั้งๆที่ความเป็นจริงแม่น้ำยวมและแม่น้ำเงาไม่ได้เยอะอย่างที่ส.ส.รายนี้พูด
“ ถ้าท่านอยากรู้ความจริงให้มาถามผมหรือคนในพื้นที่ดีกว่า จะได้รู้อย่างแท้จริง อยากให้ส.ส.ท่านนี้มาที่แม่งูดจังเลย ชาวบ้านจะได้คุยปัญหาให้ฟัง เกี่ยวกับโครงการผันน้ำนี้” นายศักดิ์ชัย กล่าว
////////////////