เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 เนื่องในวันผู้ลี้ภัยสากล สำนักข่าว AFP รายงานว่า ชาวโรฮิงญานับหมื่นคนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ส่งพวกเขากลับพม่า โดยชาวโรฮิงญานับล้านคนเหล่านี้ ได้หนีตายเข้าชายแดนบังกลาเทศจากการปราบปรามอย่างหนักจากกองทัพพม่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
การออกมาเดินขบวนเรียกร้องกลับประเทศพม่าครั้งนี้เกิดขึ้นหลังทางตัวแทนทางการพม่าและบังกลาเทศได้หารือกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยระหว่างการหารือทางกระทรวงต่างประเทศของบังกลาเทศได้เรียกร้องให้ส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับพม่า โดยทางบังกลาเทศคาดหวังว่า การส่งชาวโรฮิงญากลับพม่านั้นน่าจะเกิดขึ้นได้หลังฤดูมรสุมสิ้นสุดในปีนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความพยายามส่งชาวโรฮิงญากลับบ้านนั้นล้มเหลวหลายครั้ง เนื่องจากชาวโรฮิงญาปฏิเสธที่จะกลับไปพม่า แต่ท่าทีของชาวโรฮิงญากลับเปลี่ยนไป หลังพม่ารับรองความปลอดภัยและสิทธิให้กับชาวโรฮิงญา
ผู้นำชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งกล่าวว่า เขาต้องการกลับไปยังบ้านเกิดในรัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกัน ไม่ใช่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในที่ทางการพม่าจัดตั้งขึ้น
ขณะที่ชายหนุ่มชาวโรฮิงญารายหนึ่งกล่าวว่า เขาไม่ต้องการตายในฐานะผู้ลี้ภัย เขาอยากทวงสิทธิของเขา และกลับไปยังบ้านเกิดและมีสิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษาและสามารถคิดถึงอนาคตของตัวเอง
ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาบางคนบอกว่า การใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศนั้นเหมือนตกนรก และอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยนั้นไม่ง่าย พวกเขาพอแล้วกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่และต้องการเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้สภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานั้นเลวร้าย ไม่มีงานและถูกจำกัดให้เข้าถึงการศึกษา
ขณะที่ สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า รัฐบาลในรัฐมิโซรัม ประเทศอินเดีย ได้ออกบัตรประจำตัวชั่วคราวให้กับผู้ลี้ภัยสงครามจากรัฐชิน ทางภาคตะวันตกของพม่า ซึ่งมีชายแดนใกล้กันกับรัฐมิโซรัมนับ 30,000 คน โดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของรัฐมิโซรัมเปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า การออกบัตรประจำตัวชั่วคราวให้กับผู้ลี้ภัยในพม่า มีจุดประสงค์เพื่อรับรองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัย และสามารถระบุตัวบุคคลของผู้ลี้ภัยได้ โดยในบัตรประจำตัวดังกล่าวระบุชื่อ อายุ และที่อยู่ต้นทางของผู้ถือบัตร
รัฐมนตรีกระมหาดไทยของรัฐมิโซรัมระบุว่า บัตรประจำตัวชั่วคราวนี้ออกให้กับผู้ลี้ภัยจากพม่านับตั้งแต่สองเดือนกว่าที่ผ่านมา และใช้ได้ในเฉพาะรัฐมิโซรัมเท่านั้น รัฐมิโซรัมนั้นมีชายแดนติดกับรัฐชินระยะทางยาวกว่า 510 กิโลเมตร และนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในพม่าเมื่อปีที่ผ่านมา รัฐชินกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประชาชนออกมาต่อต้านกองทัพพม่าอย่างหนัก เช่นกัน บ้านเรือนและโบสถ์ในรัฐชินถูกกองทัพพม่าเผาทำลายราบคาบ นักเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีได้หลบหนีเข้าอินเดียและไทย
จากการรายงานของสื่ออินเดียอย่าง Indian Express ระบุว่า มีประชาชนจากฝั่งรัฐชินข้ามชายแดนมายังอินเดียราว 15,000 คน ในช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว และคลื่นประชาชนทะลักเข้าอินเดียอีกครั้งในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ขณะเดียวกัน หลังการรัฐประหาร มีกลุ่มติดอาวุธจำนวน 2 กลุ่มก่อตั้งขึ้นมาในรัฐชินเมื่อปีที่แล้ว คือกลุ่ม Chinland Defence Force และ Chin National Defence Force ขณะที่กองทัพแห่งชาติชิน (The Chin National Army ) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2531 ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับรัฐบาล NUG ที่ออกมาต่อต้านกองทัพพม่า
อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่าได้เพิ่มกำลังทหารเข้ามาในรัฐชิน รวมถึงเขตมะกวยพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมากในเดือนนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่หวาดกลัวเหตุปะทะจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
นาย Indra Mani Pandey ผู้แทนถาวรของอินเดียประจำสหประชาชาติระบุว่า วิกฤติปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนกับพม่ากำลังเป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ทางตะวันออกของอินเดีย โดยอินเดียเรียกร้องให้กองทัพพม่าเคารพสิทธิมนุษยชนและยอมให้กลับมาฟื้นฟูประชาธิปไตยในพม่าโดยเร็วที่สุด