
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ซึ่งตรงกับวันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล หรือวันต่อต้านการทรมานสากล (International Day in Support of Victims of Torture) โดย 14 องค์กรในพม่า เช่น สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) องค์กรสันนิบาตสตรีพม่า (Women’s League of Burma-WLB) องค์กรสตรีกะเหรี่ยง (KWO-Karen Women Organization) องค์กรเครือข่ายเอเซียเพื่อความเป็นธรรม (Asia Justice and Rights -AJAR) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้กองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ยุติการทรมานต่อพลเรือนโดยทันที
แถลงการณ์ระบุว่า ถึงแม้วันนี้จะมีผลบังคับใช้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมขององค์การสหประชาชาติ เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนในพม่า เพราะสนธิสัญญาระหว่างประเทศนี้ไม่ได้ให้ความคุ้มครองใดๆ กับคนในพม่า รัฐบาลเผด็จการทหารใช้การทรมานอย่างโหดร้าย ละเมิดศักดิ์ศรีของเราอย่างต่อเนื่อง และทำลายโครงสร้างทางสังคม
ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า การทรมานโดยกองทัพนั้น มีตั้งแต่การใช้ปืน ไม้เท้า มีด และคีม แสดงให้เห็นถึงการไม่ใส่ใจชีวิตมนุษย์โดยสิ้นเชิง และเจตนาที่จะสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวผ่านการทำร้ายร่างกาย โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 มีผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหวจำนวน 95 คน ถูกทรมานจนตายในศูนย์สอบปากคำและเรือนจำโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร การทรมานไม่ได้ใช้กับนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงเท่านั้น เป็นนโยบายทางทหารที่จะทรมานนักโทษทางการเมืองที่เป็นพลเรือนทุกคน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ได้ถูกทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ การคุกคามทางเพศก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการทรมานในพม่า การข่มขืนนั้น ยังถูกใช้เป็นอาวุธสงครามโดยทหารเพื่อข่มขู่ คุกคามและปราบปรามพลเรือน มีรายงานการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างที่พลเรือนถูกควบคุมตัวและการสอบสวน รวมถึงการทุบตีอวัยวะเพศด้วย
ในแถลงการณ์ยังระบุว่า ภัยคุกคามจากรัฐบาลระหว่างประเทศและกลุ่มภูมิภาคต้องยุติลง ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ รวมทั้งอาเซียน จะต้องกดดันทางการเมืองให้มากขึ้นต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า โดยจะต้องปฏิเสธการมีส่วนร่วม การเจรจา หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ให้ความชอบธรรมแก่กองทัพพม่า รวมไปถึง การดำเนินการคว่ำบาตรด้านอาวุธจากทั่วโลกอย่างครอบคลุม อีกทั้งจะต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินกับกลุ่มบริษัททหารและผลประโยชน์ทางธุรกิจที่สนับสนุนกองทัพพม่า
“นอกจากนี้ สนับสนุนการทำงานของกลไกตรวจสอบความรับผิดชอบ เช่น กลไกการสืบสวนอิสระสำหรับพม่า (Independent Investigative Mechanism for Burma -IIMM) และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติส่งประเทศพม่าไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อยุติการทรมานนักโทษการเมืองทั้งทางร่างกายและจิตใจ” ในแถลงการณ์ระบุ