เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 กรกฏาคม 2565 ที่ห้องสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะทำงาน หารือเกี่ยวกับปัญหาเรื่องปุ๋ยรวมทั้งกรณีที่ชาวอุดรธานีได้ออกมาคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ผ่านมา ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยออกมาคัดค้าน ทำให้นายกฯ ต้องการรับทราบข้อมูลและรายละเอียด โดยเฉพาะเรื่องนี้อาจกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และนายกฯจะนำไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 กรกฏาคมอีกครั้ง อย่างไรก็ตามได้มีการพูดถึงรูปแบบการลงทุนที่จะดึงภาคเอกชนมามีส่วนร่วม เพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ โดยหากโครงการดังกล่าวทำได้สำเร็จจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 30%
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ และแกนนำผู้คัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่โปแตช กล่าวว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี โดยร่วมกันลงชื่อกว่า 2,000 คน ก่อนที่คณะรัฐมนตรีมีมติเข้าครม.เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นอกจากนี้เมื่อวานนี้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันคัดค้านอีกครั้ง และก่อนหน้านี้ยังได้ฟ้องศาลปกครองและศาลได้คำสั่งให้ทำกระบวนการใหม่ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ ดังนั้นหน่วยงานราชการต้องไปทำตามนั้น
“การที่รัฐบาลจะนำเรื่องเข้าหารือใน ครม.อีก คงเป็นเรื่องรายละเอียดความชัดเจนโครงการมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสัญญา ผมประเด็นเหมืองโปแตซตอนนี้เป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า เป็นเรื่องของผลประโยชน์เพื่อการเตรียมพร้อมก่อนการเลือกตั้ง เพราะสังเกตได้ว่าตอนนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปล่อยสัมปทานหลายพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล ผมอยากให้นายกฯทบทวนมติครม. เพราะที่บอกว่าทำเหมืองโปแตซแล้วจะทำให้ราคาปุ๋ยถูกลงถึง 30% นั้น มันจริงหรือไม่ เพราะจนถึงวันนี้ยังมี่เห็นมีผลการศึกษาที่ชัดเจนออกมายืนยัน” นายสุวิทย์ กล่าว
ขณะที่นางพิกุลทอง โทธุโย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้ กล่าวว่าชาวบ้านไม่ยอมให้เกิดการทำเหมืองแร่โปแตซขึ้นที่จังหวัดอุดรธานีแน่นอน เนื่องจากการจะสร้างผลกระทบมากมาย เช่นให้เกิดการดินทรุดในพื้นที่ เนื่องจากการขุดสร้างเหมืองแร่โปแตซทำให้เกิดน้ำเค็ม เพราะจะมีการกรองเอาแร่ไปใช้ และเหลือไว้เพียงเกลือเท่านั้น นอกจากนี้ยังทำให้อากาศเป็นพิษ เนื่องจากกองเกลือที่แยกแร่ออกแล้ว เมื่อถึงหน้าแล้ง ลมก็จะพัดไป ทำให้เกิดฝุ่น เป็นมลพิษให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จากที่รัฐบาลมีการกล่าวอ้างว่าการสร้างเหมืองแร่โปแตซจะทำให้ชาวบ้านได้ใช้ปุ๋ยถูกลงนั้น ไม่เป็นความจริง ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์จากการสร้างเหมืองแร่โปแตซเลย