สิ้นเสียงโทรทัศน์ รายงานข่าวกรณีศาลโลกอ่านคำตัดสินเนื้อที่เขาพระวิหาร หน้าสื่อออนไลน์ชื่อดังอย่าง เฟสบุ๊ค (Facebook)แปรเปลี่ยนเป็นกระแสโจมตีกัมพูชา โจมตีศาลโลก ล้อไปกับกระแสโค่นรัฐบาล ล้ม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากหลายคนเลือกออกมาชุมนุมประกาศจุดยืนทั่วกรุงเทพฯ ขณะที่เวทีการชุมนุมเองก็มีแกนนำบางกลุ่มที่พยายามหยิบประเด็นเขาพระวิหารขึ้นมากล่าวเรียกเสียงเชียร์จากผู้ร่วมชุมนุมด้วยความฮึกเหิม
การชุมนุมวันนี้ บางกลุ่มจะมีเจตนาในการต่อต้านร่างกฎหมายอันไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ จนเกิดปรากฎการณ์รวมสีอย่างชัดเจน หากบางมุมดูแล้วคนไทยยังคงเพลินกับการเลือกรัก เลือกเกลียดพรรคการเมืองในใจอยู่ไม่น้อย แต่ที่น่าหดหู่ใจไปมาก คือ กระแสเขาพระวิหารได้กลับมาเป็นประเด็นปลุกคนคลั่งชาติ และเหยียดหยามประเทศเพื่อนบ้านไม่น้อย หลายคนแสดงตัวผ่านเฟสบุ๊ค จนลืมเป้าหมายแท้จริงไปว่า หัวใจของประชาธิปไตย และหัวใจของการชุมนุมเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง คือ อะไร ขณะที่สถานการณ์การชุมนุมของบางกลุ่มก็ด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจสาพัด ดูเหมือนจะเอากระแสรสชาติชุมนุมให้สนุกมากกว่าการทวงคืนสิทธิเสรีภาพ และความถูกต้อง และการมองปัญหาในวงกว้างที่ตระหนักว่า หลายประเทศกำลังพัฒนาย่อมต้องต่อสู้กับปัญหาคอรัปชั่นไม่ต่างกัน

ในงานประชุมการพัฒนากับสิทธิมนุษยชน ที่จัดโดยองค์กร FOM ASIA ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เทพ แวนนี ตัวแทนชุมชนจากประเทศกัมพูชาที่ผ่านการต่อสู้ชุมนุมจากการไล่ที่ในชุมชน บึงกอก กรุงพนมเปญ ของนายกเผด็จการอย่าง ฮุน เซน ได้ถอดบทเรียนเรื่องการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในอดีตสลัมบึงกอก เคยมีผู้อาศัยอยู่มากถึง 4,252 ครัวเรือน โดยผ่านการลี้ภัยจากยุคเขมรแดงครองเมือง เข้ามาประกอบอาชีพโดยสุจริต ทว่าต่อมาเมื่อทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่างจีนเริ่มเข้ามา ประกอบกับรัฐบาลโลภและคอรัปชั่นหนักขึ้น ทำให้รัฐบาลใช้อำนาจทำร้ายประชาชนไม่ต่างจากเขมรแดงเมื่อปี 1975
ช่วงปี 2003 คือจุดเริ่มของความรุ่งเรืองในทุนนิยมจากจีนที่รัฐบาลฮุน เซน พยายามจะทุบชุมชนให้แตกสลายแล้วแลกด้วยเงินแบ่งปันจากการลงทุนของจีน ด้วยการกระจายนักธุรกิจที่เป็นพวกพ้องให้ได้รับประโยชน์อย่างสำราญ ส่วนคนจนก็กลายเป็นขอทาน เป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ชาวกัมพูชาหลายคนยอมจำนนก็สิ่งที่รัฐบาลกระทำ ทั้งที่ผิดกฎหมายเพราะถูกปลูกฝังมาเสมอว่า ชาติที่สงบ คือ ภาพลักษณ์ที่ดี ทั้งที่ความจริงเลวร้ายกว่านั้นการนิ่งเฉยคือการยอมรับในสิ่งที่รัฐบาลกระทำ ส่วนใครที่ขัดขืนก็ต้องเจอกับชะตากรรมไม่ถูกอุ้มฆ่า ก็ถูกจับเข้าคุกเพราะฝ่ายรัฐบาลมีอาวุธ มีกองกำลังทั้งทหาร ตำรวจ คนจนไม่ต่างจากสัตว์ที่ต้องเอาตัวรอดให้ถึงที่สุด
ปี 2008 เป็นปีที่ชาวสลัมบึงกอกหมดความอดทนกับการไล่ที่ หลายครัวเรือนปฏิเสธการย้ายออกจากคำสั่งรัฐบาลและนายกเทศมนตรี เพราะรู้ว่า หากอยู่ไกลจากเมืองหลวงปัญหาที่ตามมาคือ ไกลบ้าน ไกลโรงเรียน และโรงพยาบบาล ชีวิตที่ตกต่ำอยู่แล้วก็จะยิ่งลำบากมากขึ้น
“สัจจะวาจาของนักการเมืองกัมพูชา ไม่มีใครทำได้จริง เขาพูดไป 3 ชั่วโมง ฟังได้เชื่อได้ 2 นาทีแรก ก่อนการเลือกตั้งทุกครั้งชาวสลัมคือ ฐานเสียงใหญ่ของนักการเมืองทุกระดับ พวกเขาพยามจะทุจริตโดยการแปลงเอกสาร หลอกให้ลงคะแนนด้วยการเดิมพันทางที่ดิน ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แต่พอชนะการเลือกตั้งภาพที่คุ้นตากันในกัมพูชา คือน้ำตาของผู้ประท้วงที่เคยเป็นฐานเสียงให้นักการเมือง ตอนขึ้นเวทีหาเสียงเขาจะดูดีมาก ทำทุกอย่างให้เราเลือก พอได้ครองอำนาจเราเป็นแค่เศษคนที่ไม่เคยคิดจะช่วยเหลือแม้แต่เอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณะ ยังไม่เคยทำให้เป็นรูปธรรม ”
แนวทางการไล่ที่ของทุนข้ามชาติกับรัฐบาลของกัมพูชา มีแนวทางที่ซับซ้อน อย่างกรณีที่ไล่สลัมบึงกอก นั้นเมื่อนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาบริหาร อย่างนายกเทศมนตรี เขาเสนอเลยว่าให้ประชาพิจารณ์ชาวสลัมโดยมีทางเลือก 3 ข้อ คือ 1 ยอมย้ายออกแล้วรับเงินค่าเวรคืน 8,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 240,000 บาท ข้อ 2 เลือกบ้านและห้องแถวที่บริษัทได้จัดไว้ให้ และข้อ 3 ให้อยู่ที่เดิม โดยส่วนมากประชาชนเลือกอยู่ที่เดิม ผลตอบรับคือ จดหมายข่มขู่สารพัด ทั้งจากนายทุน รัฐบาล นักการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและบีบให้ชาวสลัมต้องเลือกข้อที่ 1 คือออกแล้วเวรคืนแต่ว่าก็ได้รับเงินไม่ครบตามสัญญา บางคนจาก 200,000 ได้แค่ 200 -300 บาท เอกสารเซ้นรับที่หลอกตาองค์กรนานาชาติก็ไปปลอมกันเอง ชาวบ้านตอบโต้ก็ไร้ผล จึงเท่ากับว่าบีบให้เลือกข้อ 2 คือออกมาอยู่ในห้องแถวที่บริษัทจัดให้ แต่ว่าก็ไม่มีสาธารณูปโภคใดใด ทำให้กัมพูชาเกิดการจลาจลหลายครั้งระหว่างตำรวจปราบจลาจล กับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการขับไล่ที่
ปัญหาที่เกิดขึ้นดูไม่ดีนักกับสายตาคนนอกที่อาจมองว่า สร้างความวุ่นวาย เพราะสื่อกระแสหลักของกัมพูชา รายงานแบบให้ร้ายชาวบ้าน แรงกดดันที่มีมากขึ้นเหมือนสร้างฐานชุมนุมที่แข็งแรงแก่กลุ่มบึงกอก แม้ชาวสลัมกว่า 2,500 ครัวเรือนยอมย้ายออกแต่ที่เหลืออีกประมาณ 1,700 ยังต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง นับเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในการประท้วงทำให้ต้องคิดและวางแผนอย่างซับซ้อนเพื่อกอบกู้ชาติแห่งประชาธิปไตยที่มีอยู่อย่างแคบๆในกัมพูชา โดยครั้งแรกก็ชุมนุมกันเองครั้งละ 100 -200 คนให้สื่อทางเลือกที่เป็นของชาวต่างชาติเข้ามารับรู้ปัญหาและรายงานออกไป ระยะหลังร่วมมือกับองค์การพัฒนาเอกชน ด้านสิทธิมนุษยชนแล้วหาทางออกโดยเริ่มจากการประท้วงแบบสันติวิธี
“หลายคนเคยเห็นการประท้วงที่ต่อต้านทุนต่างชาติ หน้าสถานทูต หน้าองค์กรนานาชาติ เน้นจำนวนมวลชนที่ร่วมประท้วง เน้นกำลัง เน้นความรุนแรง แต่ชุมชนของเราไม่ทำ เรามีกำลังน้อยหากเราใช้ความรุนแรงตั้งแต่แรกเริ่มใช้ความเกลียดด่าประเทศที่เข้ามาลงทุน มาแย่งชิงพื้นที่วัฒนธรรม ชุมชนของเรา แน่นอนเสี่ยงมากต่อการลดกำลังของชุมชนลง เพราะตำรวจมีทั้งปืน มีด กระบอง และระเบิด ที่ใช้บ่อยคือแก๊สน้ำตา สิ่งเหล่านี้แน่นอนว่ามันอาจออกสื่อให้ได้รับแค่ความสงสาร ความเห็นใจแต่ไม่แก้ปัญหา เพราะสุดท้ายคนที่เจ็บ คือ ชาวบ้านและอาจตายได้ในกรณีที่ข่าวออกไป”
เทพ อธิบายว่า สลัมบึงกอก ไม่ปฏิเสธรูปแบบการประท้วง แต่ก็ไม่ยอมรับการประท้วงที่เน้นตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะทุนอาวุธของชาวบ้านแพ้ทหาร ตำรวจ ชาวบ้านไม่ได้เกลียดจีน ไม่ได้เกลียดเวียดนามหรือเหยียดสัญชาติใดที่มาลงทุน เชื่อว่า คนกัมพูชาอยากให้ประเทศเจริญไม่น้อย แต่สิ่งที่ชุมชนต้องการคือ การลงทุนอย่างมีมนุษยธรรมไม่เอาเปรียบชาวบ้าน เน้นการพัฒนาที่ไม่ทำลายคนจน ไม่เลือกไล่ประชาชนของตนเองไม่ว่าชนชั้นใด อาชีพใด
“ไม่หรอก ไม่มีทางประเทศไหนบ้างพัฒนาตนเองให้เมืองเป็นศิวิไล โดยการเอาทราย เอาน้ำมาไล่ชาวบ้าน เอาปืนมาขู่ชาวบ้าน มีกัมพูชาที่เดียวละมั๊ง เรารับไม่ได้แต่ไม่สู้แบบเอาชีวิตไปให้เขาฆ่าอย่างเดียวเราต้องสร้างสรรค์กว่านั้น”
การต่อสู้ของเทพในฐานะแกนนำธรรมดา ทำให้หลายคนยอมรับและวางใจ โดยกลุ่มสลัมบึงกอกได้พัฒนารูปแบบชุมนุมที่หลากหลาย และแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เป็นที่รู้จักในเวทีโลกด้วยชื่อว่า “การชุมนุมแบบสตรีสันติ” โดยใช้ผู้หญิง เด็ก และผู้นำศาสนาเข้าเป็นกองหน้าชุมนุม แล้วใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้าประกอบ เช่น กรอบรูปพระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา ดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งบูชาศาสนาและเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่มีความอ่อนน้อม น่าเกรงขาม บางครั้งมีหน้ากากกระดาษใช้ปิดหน้าผู้ชุมนุม ส่วนป้ายข้อความอื่นๆ ก็จัดหามาตามความเหมาะสม เช่น เขียนข้อความว่า “ขอพื้นที่ให้กัมพูชาได้หายใจในฐานะสัญชาติ ขแมร์ ,ตำรวจก็ขแมร์ คนสลัมก็แขมร์ อย่าได้ฆ่ากัน, เราต่อสู้เพื่อลูกหลานขแมร์ เพื่อลูกหลานของท่านในอนาคต,ที่ดินที่เรามีวันนี้ คือ ที่สำหรับยืน เหยียบและฝังร่างเมื่อสูญสลาย,ฯลฯ บางครั้งเล่นดนตรี รำ กล่อมทหาร ตำรวจ ที่มาล้อมวงเฝ้ารัฐบาลอย่างซื่อสัตย์ ด้วยการสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมไม่ได้มาก่อกวนเจ้าหน้าที่ และพยายามสื่อสารให้เข้าใจว่า การต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัย เป็นการร้องขอความเป็นธรรมในสังคม ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สำคัญสะท้อนว่า รัฐบาลไม่อาจเลี้ยงดูตำรวจ ทหารได้ตลอดกาล ท้ายที่สุดต้องมีบางคนที่สละหน้าที่ออกมาสู่สามัญชนและไม่มีสิทธิถือปืนขู่ฆ่าประชาชน
“สตรีในกัมพูชา สมัยนี้ไม่ใช่ยอมเลี้ยงลูกอยู่บ้าน ยอมรับใช้สามีแล้วจบ แต่เราต้องมีการใช้เสียงของตัวเองให้มาก อาวุธที่มีคือความอ่อนหวาน หากเราเอาผู้หญิงมาต่อสู้ ความรุนแรงจะน้อยกว่าผู้ชาย ตำรวจจะรู้สึกว่า การทำร้ายผู้หญิงเหมือนเอาน้ำสาดไฟ ไอร้อนจะกลับเข้าหาพวกเขา การสลายการชุมนุมจะออกสื่อทั่วโลก เจ้าหน้าที่ก็หัวหดหมดแล้วยังไม่กล้าทำร้าย เพราะเกรงว่านานาชาติประนามและสุดท้ายเข้ามาแทรกแทรงการปกครอง เราจึงต้องเล่นมุขตลอดกับกองกำลังตลอดเวลาและประท้วงบ่อยครั้ง อาศัยมวลชนกลุ่มเล็กๆ สร้างสรรค์กิจกรรม เต้น ร้อง รำ บางครั้งก็อดอาหารเป็นสัปดาห์ประท้วง ไม่ช้ความรุนแรง ไม่ด่ทอฝ่ายตรงข้ามจนเมากเกินควร ไม่ใช้คนจำนวนมากมาเสี่ยง แต่ใช้พลังสื่อสารทั้งอินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ของนานาชาติให้มาก ยิ่งสื่อรับรู้มากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนก็จากทั่วโลกก็เห็นใจและเข้ามาช่วยเหลือเรามากขึ้น ตรงข้ามกับการระดมพลมาทั้งหมด กรณีเกิดปะทะก็ตายหมู่ แบบนี้เสียเปรียบฮุน เซนและรัฐบาลเผด็จการของกัมพูชาไปตลอด”
แกนนำชุมชนบึงกอกย้ำด้วยว่า เรื่องการต่อสู้ของชาวบ้าน้วยหลักอหิงสาและสันติวิธีมีพลังที่สุดเพราะหากปะทะรุนแรง หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม หรือพึ่งอำนาจตุลาการยาก ครั้งหนึ่งเคยเขียนเรื่องราวฟ้องเจ้าหน้าที่และเขียนร้องขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ถูกจับกุมสิ่งที่ได้รับคือ “ทนายและผู้พิพากษาขอให้ชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนหาเงินมาจ่ายค่าคดีความไม่ต่ำกว่ารายละแสน เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่า อำนาจเงินกดขี่คนทุกอาชีพ
แม้สลัมบึงกอก จะไม่มีครัวเรือนที่หนาแน่นเหมือนอดีต แต่การต่อสู้โดยพลังสตรี พึ่งวัฒนธรรม ประเพณี และไม่เหยียดหยามฝ่ายกองกำลัง รวมทั้งใช้ศาสนาเข้าช่วย ทำให้สลัมบึงกอกเป็นที่รู้จักของทั่วโลก “เทพ” ได้รับรางวัลนักต่อสู้ทางสิทธิมนุษยชนชื่อว่า Golden Butterfly Award 2013 ขณะที่ชาวบ้านในบึงกอกได้รับสิทธิในการอยู่อาศัย โดยอยู่ระหว่างการเจรจาทำรังวัดที่ดินประมาณ 42 เฮกตาร์ หรือเกือบ 260 ไร่ เพื่อจัดสรรให้ชาวบ้านทุกคนได้มีการครอบครองเอกสารสิทธิอย่างชอบธรรมตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งขณะนี้ยังมีชาวบ้านประมาณ 10 ครอบครัวเท่านั้นที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย
สลัมบึงกอก จึงเป็นตัวอย่างการต่อสู้ที่น่าชื่นชมจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยขณะนี้สิ่งเดียวที่เครือข่ายสลัมและภาคประชาชนกัมพูชา รวมทั้งองค์การพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมุษยชนทั่วโลกพยายามดำเนินการ คือ การถ่ายทอดบทเรียนสู่ชุมชนอื่น และเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาปล่อยตัว “บุปผา” แกนนำสลัมบึงกอกที่อยู่ในเรือนจำ 2 ปีแล้ว

ด้านเอ ซา รอม เจ้าหน้าที่องค์การเตียงโตนด (Teangtanaut) ในฐานะองค์การพัฒนาเอกชนที่สำคัญของกัมพูชา ระบุว่า กรณีของสลัมบึงกอกนั้นทางองค์กรเข้ามาช่วยเรื่องกฎหมายที่ดิน แต่ในภาพกว้างคือ การเร่งช่วยเหลือบุคคลและชุมชนที่ถูกรัฐไล่รื้อที่อยู่อาศัย โดยขณะนี้มีชาวกัมพูชาที่ถูกไล่รื้อบ้านและที่ดินทำกินประมาณ 400,000 คน ส่วนคนไร้ที่อยู่อาสัยต้องเร่ร่อนเฉพาะในกรุงพนมเปญประมาณ 150,000 คน โดยจำนวนชุมชนแออัดและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อของรัฐบาลกัมพูชามีกว่า 500 ชุมชน ในกรุงพนมเปญ หลังจากการต่อสู้ของชาวสลัมบึงกอกทางภาคประชาชนได้ร่วมมือระหว่างองค์การด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในกัมพูชาและนานาชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้ราว 410 ชุมชน แต่ปัญหาคือ ยังมีหลายกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยในเมืองใหญ่ของกัมพูชาต้องเผชิญกับภาวะสุขภาพ และการขาดแคลนสิ่งจำเป็นหลายด้าน ทั้งการศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งคนเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ทางองค์กรพัฒนาเอกชนเร่งสำรวจและให้การช่วยเหลือต่อไป โดยมีตัวแทนชุมชนสลัมบึงกอกเป็นทัพหน้าในการพัฒนารูปแบบการต่อสู้
การประท้วงของชาวกัมพูชาสะท้อนให้เห็นว่า ความสามัคคี ความรับผิดชอบและสำนึกรักชาติเป็นไปเพื่อสิทธิของคนในชาติทั้งหมด ไม่ใช่เพราะความโลภหรือทำเพราะต้องการการตอบแทนจากนักการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สังเกตุได้ว่า ชาวสลัมปฏิเสธความช่วยเหลือจากตุลาการหลังจากเจอคอรัปชั่นไร้ยางอายด้วยการไถ่เงินคนจนจำนวนมหาศาล วันนี้ทำให้สลัมบึงกอกโดดเด่นในสายตาโลก เพราะแสดงให้รู้ว่า ไม่จำเป็นต้องรุนแรง การประท้วงเพื่อสิทธิพลเมืองกัมพูชาที่ได้ผล คือการไม่ฝักฝ่ายการเมืองอย่างคลั่ง และปฏิเสธการคอรัปชั่นเพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมที่แท้จริง
——————–
จารยา บุญมาก