
ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2565 สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดประชุมวิชาการด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาครั้งที่ 5 ขึ้นที่ห้องประชุมอาคารพลเอกสำเภา ชูศรี โดย ศ.ยศ สันตสมบัติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ “ชายแดน ทรัพยากรและความมั่นคง” ว่าช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาชายแดนได้รับความสนใจมากขึ้น ถ้ามองเฉพาะลุ่มน้ำโขงมักเชื่อมโยงกับความเป็นชายขอบและมองเป็นความป่าเถื่อน เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นพื้นที่ล้าหลัง ไร้กฎหมาย ไร้ระเบียบ โดยความเป็นชายแดนมักตรงข้ามกับศูนย์กลางหรือความเจริญ วิธีคิดเช่นนี้เป็นผลมาจากลัทธิล่าอาณานิคมและผลจากอุดมการณ์ทางการเมืองในการสร้างชาติโดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ศ.ยศ กล่าวว่าชายแดนจึงเป็นพื้นที่ที่ถูกทำให้เชื่องและต้องถูกควบคุมโดยส่วนกลาง ดังนั้นชายแดนจึงเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆมากมายเพื่อควบคุมหรือพัฒนา และการพูดถึงชายแดนมักเป็นด้านลบทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วชายแดนทั่วโลกเป็นพื้นที่ของผลประโยชน์และความมั่งคั่งที่เกิดจากการค้าข้ามพรมแดนระหว่างคนที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายประเทศ หลากหลายอารยธรรม ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้มักถูกมองข้าม หากเรามองประชาชนชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงล้วนแล้วแต่มาจากพื้นที่สูง ทำให้งานวิชาการหลายชิ้นเรียกตรงนี้ว่า Zomai ที่เป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตในชายแดน
ศ.ยศ กล่าวว่า ภาพที่เราเห็นในชายแดนลุ่มน้ำโขงคือเส้นแบ่งแดนของรัฐชาติ แต่มักไม่ค่อยปรากฏแผนที่ที่เป็นชนชายแดนหรือซึ่งถูกมองข้ามและทำให้เป็นชายขอบ การผลิตความรู้เพื่อพื้นที่เหล่านี้จึงล้าหลังกว่าพื้นที่อื่นๆ หากย้อนกลับไปดูแผนที่ของลุ่มน้ำโขงตั้งแต่จีนตอนใต้ เวียดนาม พม่า ไทย ลาว ซึ่งรับรู้กันมานานว่าอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ชนชายแดนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมักถูกนำเสนอว่ายากจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนพื้นราบ และการศึกษาเกี่ยวกับชนท้องถิ่นจึงมีอยู่น้อยมาก การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการช่วงชิงผลประโยชน์เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ท้องถิ่นและความสัมพันธ์ข้ามแดนรัฐชาติ
ศ.ยศ กล่าวว่า ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำโขงกว่า 100 ปี เราจะเห็นบทบาทของมหาอำนาจอังกฤษ ฝรั่งเศส และตามด้วยสงครามเย็น ตลอดจนรัฐส่วนกลางเข้ามารรุกรานทุกพื้นที่ เราจะเจอความสัมพันธ์ระหว่าง Zomai กับรัฐชาติ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเราจะเห็นตลาดจีนมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ต่อชายแดนโดยเฉพาะเมื่อพูดถึงอัญมณี แร่ธาตุ ไม้ โดยในภาคเหนือเราเห็นกลุ่มคนที่มีบทบาทคือจีนยูนนานที่มีความสัมพันธ์ในการต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่สงครามโลกครั้ง 2 เชื่อมโยงกับจีน แต่เมื่อมาอยู่ลุ่มน้ำโขงกลายเป็นชนชายแดนหรือผู้ลี้ภัย ดังนั้นการพูดถึงจึงต้องแยกแล้วโยงคือแยกชุมชนและองค์กรทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้าการผลิต และการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน
“เรื่องแม่น้ำโขงตอนนี้จีนก็ทำเหมือนประเทศตะวันตก เน้นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่ไม่เคยสนใจคนตัวเล็กตัวน้อย ปัจจุบันเราเห็นการขยายอิทธิพลของจีนเช่นเดียวกับที่ตะวันตกเคยทำ คือทำลายชาติพันธุ์ ด้อยค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น บดบังเสียงของท้องถิ่น จีนกำลังสร้างจักวรรดิของจีนขึ้นมาใหม่” ศ.ยศ กล่าว
ศ.ยศ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ชายแดนไทยที่ทุนจีนแผ่อิทธิพลในรูปแบบของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขื่อน ว่าภาพใหญ่ในตอนนี้เมื่อจีนประกาศตัวเป็นมหาอำนาจทำให้ท้าทายอเมริกาทั้งสองค่ายจึงตั้งป้อมเผชิญหน้ากันโดยหลักคิดของจีนคิดว่าตัวเองใหญ่เพราะเชื่อว่าเคยเป็นศูนย์กลางของโลกแต่ถูกฝรั่งมาปล้นเอาไป ขณะที่อเมริกาก็คิดว่าตัวเองทรงอิทธิพลของโลกเช่นกัน ทำให้กลายเป็นสงความทิฐิ และจีนต้องการทวงคืนความยิ่งใหญ่
ศ.ยศ กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ชายแดนประเทศไทยนั้น เป็นคนละอย่างกับเขตเศรษฐกิจในประเทศจีน โดยเขตเศรษฐกิจในจีนนั้นต้องศึกษาและวางแผนมานับ 10 ปีและมีเป้าหมายชัดเจน แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนหรือแม้แต่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยไม่เคยมีการเปิดแผนให้ดูและไม่ได้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นจริง
ผู้สื่อข่าวถามว่าไทยจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างจีนกับอเมริกา ศ.ยศกล่าวว่า ต้องสร้างความเป็นอาเซียนให้เข้มแข็ง เพราะเราเป็นประเทศเล็กจะใช้อำนาจต่อรองประเทศเดียวมีน้ำหนักน้อย ขณะนี้อเมริกากำลังต้องการเสียบจีน ดังนั้นควรใช้อเมริกาให้เป็นประโยชน์โดยการประสานกับประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม
ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้มีเวทีย่อยและการเสนอผลงานไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็น อาทิ เรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองในพม่าและภาพรวมปัญหาผู้ลี้ภัย เรื่องธุรกิจการเกษตรข้ามชาติของจีนและผลกระทบกรณีศึกษาการทำสวนกล้วยในลาว เรื่องเมืองในอาณาบริเวณชายแดน เป็นต้น
ขณะที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ปลดปล่อยพรมแดนรัฐ-ชาติออกจากแม่น้ำโขง” ในวันที่สองของการจัดงานว่า แม่น้ำโขงกำลังป่วยหนัก และขณะนี้กำลังมีการเดินหน้าสร้างเขื่อนปากแบงซึ่งจะสร้างปัญหาอีกมาก กว่า 20 ปีที่ผ่านเกิดเขื่อนบนแม่น้ำโขงมากมาย จนกลายเป็นวิกฤตที่เหมือนไม่มีทางออกเพราะมีเขื่อนทั้งตอนบนและตอนล่างแล้ว และกำลังเกิดเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลายโดยถูกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว
นายนิวัฒน์กล่าวว่า การที่เขื่อนแม่น้ำโขงเป็นวิกฤตที่ไร้ทางออก ดังนั้นควรปลดปล่อยรัฐชาติออกจากพรมแดนแม่น้ำโขง เพราะปัญหาทั้งหมดเกิดจากโครงการขนาดใหญ่คือเขื่อน ที่อ้างความชอบธรรมว่าตั้งอยู่บนอธิปไตยในรัฐชาติของตนเอง ทำให้ละเลยหรือไม่สนใจชาวบ้าน เช่น เขื่อนไซยะบุรี สร้างขึ้นมาแต่ทุกวันนี้เกิดผลกระทบต่อคนและนิเวศก็ยังไม่มีการแก้ปัญหา ขณะที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติของทุกคนโดยประชาชนใช้ร่วมกันตลอดสายน้ำ แต่รัฐชาติมักใช้อำนาจครอบงำทรัพยากรโดยไม่ได้คำนึงถึงประชาชนทั้งลุ่มน้ำ เป็นรัฐชาติที่แข็งตัวและคิดว่าทำอะไรก็ได้กับสายน้ำ เป็นการสร้างพรมแดนแบบเก่าๆ
“รัฐชาติสมัยใหม่ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศทำให้เกิดการอ้างอำนาจและรัฐอธิปไตยในพื้นที่ของตนและรัฐไม่ได้กระทำเพียงลำพังกับแม่น้ำโขง สิ่งสำคัญเรื่องของทุนใหญ่โดยบริษัทพลังงานใหญ่ในไทยเป็นคนผลักดันให้เกิดเขื่อน ทุนใหญ่มักมองแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง” ครูตี๋ กล่าว
นายนิวัฒน์กล่าวว่า การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนมี 12 เขื่อนทั้งๆ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ ขณะที่การสร้างเขื่อนตอนล่างวางแผนไว้ 11 เขื่อนและบางส่วนสร้างไปแล้ว เหล่านี้คือมูลเหตุของการพัฒนาที่ไม่สมดุลเพราะมองเฉพาะในพื้นที่หรือรัฐชาติของตน แต่ไม่ได้มององค์รวมและเป็นการมองแบบตัดระบบนิเวศของแม่น้ำซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะแม่น้ำเชื่อมร้อยทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลาน้ำเป็นระบบนิเวศ ซึ่งธรรมชาติของแม่น้ำเป็นองค์รวม ปลาว่ายไปทุกที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีปลาลาว ปลาไทย หรือปลาจีน แต่คนเอาพรมแดนและรัฐชาติไปใส่ให้ เช่นเดียวกับระบบนิเวศไม่มีพรมแดนและเชื่อมร้อยกัน ตะกอนและสายน้ำต้องไหลอย่างอิสระ แม่น้ำมีชีพจรของตัวเอง ในฤดูฝนน้ำท่วมเข้าไปยังแม่น้ำสาขา ท่วมเข้าไปในพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น โตนเลสาบ ส่วนหน้าแล้งแม่น้ำโขงก็แห้งตามธรรมชาติ ปลาในแม่น้ำสาขาก็อพยพลงแม่น้ำโขง โดยมีสาหร่ายหรือไกเป็นอาหารของปลาและคน ดังนั้นการกักน้ำในฤดูน้ำหลากและปล่อยน้ำในฤดูแล้งเป็นการตัดระบบนิเวศ
นายนิวัฒน์กล่าวว่า ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงข้ามพรมแดนได้สะสมมาร่วม 2 ทศวรรษแล้ว ขณะเดียวกันตัวบทกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะในการข้ามพรมแดนยังไปไม่ถึงไหน แต่การพัฒนาไปไกลมาก หากกฎหมายชัดเจน มีการดูแลเยียวยาแม่น้ำผู้คนก็จะกลับมาได้ กรณีเขื่อนปากแบง ศาลยกฟ้องเพราะอ้างว่าไม่ได้คุ้มครองเรื่องข้ามพรมแดน ตอนนี้ยังไม้มีกฏหมายใดๆที่จะทำให้แม่น้ำโขงรอดจากวิกฤต ซึ่งการที่เขื่อนสร้างในแม่น้ำโขงเขตเพื่อนบ้าน กฏหมายไทยไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ ทั้งๆที่เป็นทุนจากประเทศไทย และบริษัทของคนไทยเข้าไปสร้าง ผลกระทบก็กลับมาที่ประเทศไทย แต่กฏหมายกลับไปไม่ถึง เราจึงต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไร
“การปลดปล่อยพรมแดนจากรัฐชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องของฉัน-ของเธอ แต่แม่น้ำโขงเป็นของทุกคน เราต้องทำให้ฝูงปลาได้ว่ายอย่างอิสระ ต้องทำให้ระบบนิเวศเชื่อมร้อยกันเหมือนเดิมเพราะทุกส่วนต่างส่งผลกระทบถึงกัน การคิดว่าทรัพยากรนั้น เป็นของเราอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากเราไม่ปลดปล่อยสำนึกรักชาติแบบเดิมๆ แล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เราต้องมีสำนึกร่วมกัน แต่ทุกวันนี้กลับเป็นสำนึกของใครของมัน” ครูตี๋กล่าว