
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงผลการประชุมของ กมธ.การต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมาภายหลังจากที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการสร้างเขื่อนปากแบงและเขื่อนสานะคาม ที่จะกั้นแม่น้ำโขงใกล้พรมแดนไทยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนไทย ว่า กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสนธิสัญญและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน รวมถึงตัวแทนของภาคประชาชนที่ร้องเรียนมาร่วมชี้แจง
นายรังสิมันต์กล่าวว่า ประเด็นที่คณะกมธ.มีความเป็นห่วงกันมากคือ การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าครั้งนี้ มีบริษัทของไทยเข้าไปร่วมทุนที่นำไปสู่การสร้างเขื่อนและอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงค่าไฟฟ้า และยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ จากการสร้างเขื่อน เมื่อสอบถามตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถชี้แจงให้กระจ่ายได้ ทำให้ กมธ.รู้สึกกังวลใจหากจะมีการสร้างเขื่อนทั้ง 2 แห่ง
“กมธ.เห็นตรงกันว่าควรชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าออกไปก่อน โดยเราจะทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด กระทรวงพลังงาน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และในสัปดาห์หน้า ที่ประชุม กมธ.การต่างประเทศ จะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง” นายรังสิมันต์ กล่าว

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กมธ.การต่างประเทศพยายามศึกษาให้เกิดความรอบคอบ แต่หน่วยงานรัฐตอบคำถามส่วนใหญ่ไม่ได้ แม้กระทั่งเรื่องการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ก็แจ้งว่าได้ทำแต่พื้นที่ฝั่งลาวเป็นหลัก ขณะที่ชาวบ้านฝั่งไทยก็ได้รับผลกระทบกลับไม่มีการพูดถึง ที่สำคัญคือเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้านยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรชะลอการลงนามออกไปก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่าในประเด็นผลกระทบเรื่องเส้นเขตแดน กมธ.สรุปว่าอย่างไร นายรังสิมันต์กล่าวว่า มีความกังวลเพราะเมื่อกระแสน้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อร่องน้ำลึกธรรมชาติที่เป็นเส้นเขตแดน ผลที่ตามมาคือมีพื้นที่ริมแม่น้ำโขงที่ประชาชนไทยเคยใช้ เช่น เกาะแก่งต่างๆที่โผล่ขึ้นในหน้าแล้งและอยู่ติดกับแผ่นดินไทยต้องหายไปจากการสร้างเขื่อนเพราะน้ำท่วมทั้งปี นอกจากนี้ยังอาจเกิดน้ำเท้อที่ส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม กมธ.เริ่มต้นด้วยการให้ผู้แทนผู้ร้องเรียนได้ชี้แจงก่อน โดยนายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ร่วมกันอธิบายถึงผลกระทบด้านต่างๆที่จะตามมาหากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทั้ง 2 แห่ง โดยนายมนตรีได้พูดถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสานะคามซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดเลยเพียงไม่กี่กิโลเมตร ทำให้มีผลต่อการกัดเซาะท้องน้ำและตลิ่งแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง จากการศึกษาระดับน้ำสามารถขึ้นลงในระดับ 3.5 เมตร ภายใน 24 ชั่วโมงได้ โดยบริษัทที่ศึกษาการสร้างเขื่อนนี้ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าการกัดเซาะที่รุนแรงขนาดนี้ จะมีผลต่อเส้นแบ่งเขตแดนธรรมชาติของประเทศลุ่มน้ำโขงหรือไม่ แต่ในรายงาน MRCs ระบุว่าเรื่องนี้ไม่มีการศึกษาไว้ เป็นเรื่องที่ประเทศไทยกับประเทศลาวจะไปเจรจากันเอง
ขณะที่นายนิวัฒน์ กล่าวถึงผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงว่า บริเวณบ้านห้วยลึกมีแก่งผาได ที่เป็นแก่งหินแม่น้ำโขงขนาดใหญ่ที่จะติดกับแผ่นดินฝั่งไทย ถ้าสร้างเขื่อนและน้ำยกระดับขึ้นมา น้ำก็จะท่วมแก่งตรงนี้ทั้งปี จากเดิมแก่งจะโผล่มาประมาณ 3-4 เดือนให้เห็นว่ามีพื้นที่เชื่อมต่อกับฝั่งไทยมีการใช้ทำกิจกรรมการท่องเที่ยว การเกษตร และพื้นที่หาปลา ดังนั้นหากมีน้ำเท้อขึ้นมาและฝั่งของแม่น้ำโขงสองประเทศห่างกันเพียง 200 เมตรเท่านั้น น้ำจะยกระดับขึ้นมาแผ่นดินไทยบริเวณนี้จะจมไปไม่เหลือในฤดูแล้ง
“ถ้ายังปล่อยให้สร้างเขื่อนปากแบง เกิดน้ำเท้อ พื้นที่ เกาะแก่งก็จะหายไปหมด นี่เป็นการสูญเสียแผ่นดินหรือเปล่า เป็นเรื่องที่เราเป็นห่วงมากที่สุด และปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ มันมีเขื่อนจิ่งหง ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ในประเทศจีน วันนี้ความผันผวนของน้ำโขง เกิดขึ้นจากการปิด-เปิดเขื่อนตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้การจัดการน้ำของเขื่อนปากแบงยากขึ้นไปอีก และระดับน้ำก็จะต้องผันผวนเกิดเป็นปัญหาต่อสภาพพื้นที่แน่นอน” ครูตี๋กล่าวกับ กมธ.
ด้านตัวแทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในเรื่องสนธิสัญญาเกี่ยวข้องระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1926 โดยในข้อ 3 ของสนธิสัญญาระบุเอาไว้ว่า “เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงระหว่างไทยและ สปป.ลาว ให้ใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในส่วนใดของแม่น้ำโขง ที่มีเกาะดอน ให้ใช้ร่องน้ำลึกที่ชิดฝั่งไทย เป็นเส้นเขตแดน”
“ท่าทีของไทยตอนนี้คือเป็นร่องน้ำลึกที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ที่เป็นร่องน้ำลึกจริง ๆ ส่วนเกาะดอนเป็นของใครนั้น ตามสนธิสัญญาระบุว่า ถ้าตรงไหนมีเกาะดอนให้ใช้ร่องน้ำลึกธรรมชาติของลำน้ำที่ชิดฝั่งไทย นั่นหมายความว่า ดอน เกาะต่างๆ มันจะปัดไปเป็นของทางฝั่งลาว แต่จะมีวรรค 2 ของข้อ 3 ตามสนธิสัญญา เขาจะระบุชื่อของเกาะดอนเอาไว้ จำนวนหนึ่ง”ตัวแทนจากกรมสิธิสัญญาฯ กล่าว
ทั้งนี้ กมธ.หลายคนได้ให้ความสนในเรื่องร่องน้ำลึกตามธรรมชาติที่อาจเปลี่ยนแปลงจากการสร้างเขื่อนและทำให้ไทยเสียประโยชน์ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจน โดยอธิบายว่านอกจากสนธิสัญญา ยังมีแผนที่แสดงการแบ่งเขตแดน ในปี ค.ศ. 1929 – 1931 ตรงนี้จะลากแนวเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงด้วย แต่เป็นแผนที่ในอดีตที่จัดทำ อาจจะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำด้วยวิธีไหน
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงแนวทางการเลือกร่องน้ำลึกตามธรรมชาติเป็นเส้นแบ่งเขตแดนนั้น ไทยมีท่าทีและหลักคิดอย่างไร ตัวแทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกล่าวว่า ในการที่กรมสนธิสัญญาฯ บอกว่าเป็นท่าทีของไทยมองว่าเป็นประโยชน์ในการยึดร่องน้ำลึกเพื่อการเดินเรือเป็นการตีความจากสนธิสัญญา ส่วนท่าทีของลาวเขามีท่าทีที่จะยึดตามแผนที่ระหว่างฝรั่งเศสกับไทยหรือสยามเวลานั้น ปัจจุบันการปักปันเขตแดนในแม่น้ำโขงไทย-ลาวบริเวณนี้ยังไม่คืบหน้า เนื่องมีความเห็นแตกต่างกันจึงยังไม่ได้ดำเนินการ
ข่าวแจ้งว่าในที่ประชุมยังได้สอบถามถึงความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งๆที่มีไฟฟ้าสำรองอยู่จำนวนมาก โดยผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ชี้แจงว่า การที่จะรับซื้อไฟฟ้าต่างประเทศเป็นการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำ โดยที่ซื้อมาจากลาว เป็นการซื้อภายใต้กรอบ MOU ระหว่างไทยกับลาว และอยู่ในแผน PDP โดยที่การรับซื้อจะมีคณะกรรมการพิจารณา ประสานด้านพลังงานของสองประเทศ ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา โดยไม่พิจารณาในมิติของความต้องการพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว เป็นการพิจารณาครอบคลุมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย และต้องให้เกิดผลทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องได้รับ โดยที่จะมีหลักเกณฑ์ของการรับซื้อไฟฟ้า โครงการที่รับซื้อนี้ต้องผ่านกระบวนการพิจาณาภายใจของ สปป.ลาวแล้ว ครบถ้วน ต้องได้รับรายงาน EIA มาแล้ว ต้องมีสัญญากับรัฐบาลลาว ต้องผ่านกระบวนการ PNPCA และหนังสือจากรัฐบาลลาวก่อนจะนำเสนอได้ และโครงการที่นำเสนอก็มีต้องเหมาะกับความต้องการการใช้ของไทยตามแผน PDP และต้องมีเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจไทยร่วมลงทุนในโครงการไม่ต่ำกว่า 25 เปอร์เซ็น โครงการที่นำเสนอจะต้องมีหนังสือยืนยันของผู้ถือหุ้นทุกรายว่าจะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย และโครงการที่เสนอต้องแสดงความพร้อมและศักยภาพทางการเงินของผู้พัฒนาโครงการ รวมทั้งราคารับซื้อไฟฟ้ามีเหตุมีผล เหตุที่เรารับซื้อเพราะว่ามันเป็นพลังงานสะอาด ตอนนี้เรากำลังมุ่งไปสู่ คาร์บอนนิวทราลิตี้ และเป็นราคาที่คงที่ตลอด
“มันเป็นการกระจายความเสี่ยงเพราะเป็นความหลากหลายเกี่ยวกับเชื้อเพลิง มีทั้งพลังงานน้ำและแก๊สจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย” ตัวแทนสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กล่าว
ต่อคำถามจาก กมธ.เรื่องการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนปากแบง ที่ผู้ร้องกังวลว่าจะมีการลงนามกันในเร็ว ๆ นี้ ทำให้ไม่สามารถใช้เวลาทบทวนได้อีก ผู้แทนกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถแจ้งวันที่จะลงนามสัญญาฯ ได้ เพราะว่าสิ่งที่อัยการสูงสุดมีความเห็นว่านั้น ทางหน่วยงาน กฟผ.จะสามารถดำเนินตามได้หรือ

ขณะที่ประธาน กมธ.ได้แสดงความเห็นว่า “ เรื่องการรับซื้อไฟจากต่างประเทศ โดยการไปสร้างเขื่อน ไปสนับสนุนให้เราไปสร้างเขื่อนและไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เราคงไม่มานั่งถกปัญหากันตรงนี้ เช่นเขื่อนน้ำงึม วันนี้ไทยก็รับซื้อจากเขื่อนน้ำงึม ไม่ได้มีผลกระทบในเรื่องพื้นที่ แต่ 2 เขื่อนนี้พื้นที่ไทยได้รับผลกระทบเราจึงต้องมาดู ต้องนำเหตุผลมาเสนอว่ามันมีประโยชน์อะไรกับประเทศไทย เดี๋ยวต้องหาคำตอบนี้ให้กับไทยเรา เรื่องนี้ปล่อยผ่านไปไม่ได้ จริง ๆ จึงเห็นควรว่ายังไม่ควรลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจนกว่าการชี้แจงจะชัดเจน”
นายรังสิมันต์ กล่าวในที่ประชุมว่า ขาดไม่ได้เลยคือถ้าไม่มีการรัฐซื้อจากฝั่งไทย เขื่อนจะไม่เกิดขึ้นได้เลย เขื่อนเกิดเพราะนักลงทุนไทย และตัวแปรที่ไทยไปรับซื้อ ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
ด้านนายเกียรติ สิทธิอมร รองประธาน กมธ.ได้แสดงความเห็นว่า ปกติแล้วโครงการถึงขนาดจะเซ็นบันทึกความเข้าใจ(MOU) และจะมีการระดมทุนได้ (Funding)ได้ ก็ต้องมี EIA ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องมีการทำ ประชาพิจารณ์ ไม่เช่นนั้นก็เป็นเพียง Initial Environmental Examination (IEE) เท่านั้น รวมไปถึงผลกระทบถึงประเทศไทยด้วยเพื่อมันกระทบต่อพื้นที่และคนไทย จนถึงวันนี้เราก็ยังไม่เห็นรายงานผลกระทบนั้น และก็ยังไม่รู้ว่าในการศึกษาผลกระทบมันจะมีว่าถ้ากระทบจะให้ดำเนินการอย่างไรเพื่อลดผลกระทบ ตรงนี้จากผู้ร้องได้ชี้แจงเห็นได้ชัดว่าในพื้นที่กังวลกันมาก แต่หน่วยงานรัฐไม่ได้ชี้แจงว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการกันอยู่นี้จะกระทบชีวิตเขาไหม โครงการที่ได้รับผลกระทบแบบนี้ ถ้าไม่มี EIA ไม่มีใครให้เงินลงทุนหรอก และถ้า EIA ที่ทำแบบลวก ๆ ก็ไม่มีใครยอมรับหรอก
“คำตอบที่เราได้รับจากกระทรวงพลังงานไม่ชัดเจนเพียงพอ ในกรณีของเรื่องการสำรองไฟฟ้า การซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน และกรอบการทำงานที่ต้องผ่านกรอบ EIA ที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แค่มีรายงาน EIA แค่ชื่อมารายงานเฉย ๆ คำตอบยังไม่พอ คนที่ทำอ้างแค่บอกว่าทำเสร็จ แต่คุณภาพ เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการที่จะรองรับไม่ชัดเลย ไม่เช่นนั้นชาวบ้านไม่กังวลขนาดนี้ กลับไปตั้งหลักให้ดี ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องที่มี เช่น เรื่องเขื่อนสานะคามที่บอกว่าชะลอไปแล้ว ก็ยืนยันด้วยหนังสือมาด้วย เราจะได้หมดทุกข์ไป 1 เรื่อง ในส่วนที่เหลือที่กำลังดำเนินการแล้ว ก็นำ EIA มาดู พอเห็นแล้วเรากำหนดท่าทีได้ไม่ยาก ว่าที่จะทำต่อไปเป็นลำดับจะทำอย่างไร” นายเกียรติ์ กล่าว