เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2557 สำนักข่าว Eleven ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์และหนังสือพิมพ์ในพม่า ได้รายงานข่าวนักสิ่งแวดล้อมเตือน 6 โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินโดยไร้การประเมินผลกระทบสังคม-สิ่งแวดล้อม ชาวบ้านไม่ยินยอม เพราะสาธารณะไม่รับรู้ โดยบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของพม่า ทั้งเอเชียเวิลด์ IGE และ Shwe Taung ร่วมกับบริษัทจีนและไทย วางแผนก่อสร้างเขื่อน 6 แห่งบนแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลลงจากรัฐฉานสู่ชายแดนไทย-พม่า
“แผนเดิมคือก่อสร้างเขื่อนครึ่งหนึ่งบนชายแดนไทย แต่ชาวบ้านในฝั่งไทยรู้ข้อดีข้อเสียของเขื่อน หลังจากถูกชาวบ้านในไทยคัดค้านจึงมาก่อสร้างในพม่า” เฮงจ่อ จากเครือข่ายแม่น้ำพม่า Burma Rivers Network กล่าวในเวทีแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา
แม่น้ำตานลวิน หรืออีกชื่อคือสาละวิน ไหลจากที่ราบสูงทิเบตลงสู่ทะเลอันดามัน ผ่านจีน พม่า และไทย เป็นแหล่งน้ำและแหล่งวิถีชีวิตของชุมชนมากมาย โครงการเขื่อนกุ๋นโหลง หนองผา ท่าซาง มานตอง และมายตง อยู่ในรัฐฉาน โครงการเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง และโครงการเขื่อนยวาติ๊ดในรัฐคะยาห์ เครือข่ายแม่น้ำพม่าแสดงความกังวลเนื่องจากไร้ความโปร่งใสโดยสิ้นเชิง
“ในเมืองไทย สิทธิของประชาชนได้รับการปกป้องโดยรัฐธรรมนูญ แต่ตรงกันข้ามในฝั่งพม่า ตอนเราลงพื้นที่ไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องเขื่อน แม้แต่สส.ในพื้นที่ก็ยังไม่รู้เรื่องโครงการเขื่อนใดๆ ทั้งสิ้น” เฮงจ่อกล่าว
และว่าไฟฟ้าส่วนใหญ่จากโครงการเขื่อนทั้ง 6 จะส่งขายประเทศจีนและไทย และโครงการอาจนำสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม น้ำท่วมที่ทำกิน
โครงการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ซึ่งยังมีความขัดแย้งระหว่างกองกำลัง ชาติพันธุ์และรัฐบาล ซึ่งยังคงมีการปะทะกันอยู่ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จะต้องจ่ายต้นทุนโดยชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ และอาจกระทบกับกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่
“รัฐบาลจะคุกคามกองกำลังชาติพันธุ์ที่ไม่ยอมรับโครงการเขื่อนให้ออกไปจาก แผ่นดิน และหากไม่ออกไปก็จะมีการปะทะ”เฮงจ่อกล่าวและว่าผลกระทบต่อระบบนิเวศท้องถิ่นยิ่งสร้างความกังวลแก่นักสิ่งแวดล้อม ดังที่ได้ชี้ว่าเขื่อนอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนอีกมากมายที่อาศัยนับร้อยๆ ไมล์ห่างออกไปทางท้ายน้ำ การลดลงของกระแสน้ำในแม่น้ำอาจส่งผลให้น้ำเค็มรุกในพื้นที่ปากแม่น้ำและจะ ทำลายดินดอนปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยตะกอนและชาวบ้านใช้เพาะปลูก ประเด็นหลักที่กังวลมากที่สุดคือโครงการเหล่านี้ไร้ซึ่งความโปร่งใสและ ปราศจากการรับรู้จากสาธารณะ
“ประชาชนในพื้นที่ไม่รู้เรื่องการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ของตนเอง จึงไม่รู้เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะหรือถามความเห็น” เฮงจ่อกล่าวเพิ่ม โดยเครือข่ายแม่น้ำพม่าได้พยายามสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนสาละวินแก่สาธารณะ สส. และกองกำลังชาติพันธุ์ และวางแผนที่จะออกแถลงการณ์ในเดือนมีนาคมเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน
(http://www.elevenmyanmar.com/index.php?option=com_content&view=article&id=4830%3Aactivists-slam-thanlwin-dam-projects-for-lacking-transparency&catid=44%3Anational&Itemid=384)
—————-
หมายเหตุ-ระหว่างวันที่ 12-21 มกราคมที่ผ่านมา องค์กรแม่น้ำนานาชาติ และเครือข่ายแม่น้ำพม่า จัดกิจกรรมชักชวนนักข่าวนักเขียนและผู้แทนภาคประชาชนลงพื้นที่ปากแม่น้ำสาละวิน ที่เมืองมะละแหม่ง และพะอัน ในประเทศพม่า เพื่อเก็บข้อมูลจากชุมชนริมแม่น้ำสาละวินและฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง กรณีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน นอกจากนี้ในวันสุดท้ายยังได้พบปะแลกเปลี่ยนมุมมองกับสื่อมวลชนพม่าด้วย