Search

นักกฎหมายชี้สิทธิพึงได้ของชาวบ้านอยู่ป่าหายเกลี้ยง เหตุ พรบ.อุทยานใหม่รับรองแค่อุทยานฯเดิม ชาวกะเหรี่ยงสะเมิงย้ำค้านผนวกป่าจิตวิญญาณเป็นเขตอุทยานออบขาน จับตาเวทีรับฟัง 18 ตค.

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ที่วัดบ้านใหม่ บ้านแม่ลานคำ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคาซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทนายความ และนักวิชาการ จัดวงพูดคุยประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียเพื่อประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ในวันที่ 18 ตุลาคมนี้

นายนันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล ผู้ใหญ่บ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้ค้านการประกาศอุทยานฯ ทั้งผืน แต่ค้านการประกาศทับพื้นที่ของุชมชน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของคนที่อยู่กับป่ามายาวนาน ซึ่งการประกาศอุทยานฯออบขานครั้งนี้ ชาวบ้านกังวลใจว่าพื้นที่ป่าชุมชนหรือป่าจิตวิญญาณขนาด 24,513 ไร่จะถูกประกาศทับ โดยมีผลการสำรวจของชุมชน ร่วมกับอุทยานฯและตัวแทนพีมูฟ พบว่ามีพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์อยู่กว่า 300 จุด ทั้งการเก็บหาของป่า เลี้ยงวัว-ควาย

“พวกเรากังวลว่าพื้นที่ทั้งหมดเมื่อถูกผนวกไว้ในอุทยานฯ เมื่อพวกเราเข้าไปใช้สอยถือว่าผิดกฎหมาย พวกเรามีภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนมาตลอด เช่น ช่วงไฟป่า จะมีการทำแนวกันไฟ รวมถึงจัดการไร่หมุนเวียนตามความจำเป็นของเราในพื้นที่การเกษตร หน้าฝนก็ทำฝายชะลอน้ำ ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม”นายนันทวัฒน์ กล่าว

ผู้ใหญ่บ้านแม่ลานคำกล่าวว่า ในอดีตชาวบ้านเคยร่วมกันต่อสู้นายทุนที่เข้ามาสัมปทานป่าไม้ และฟื้นฟูจนอุดมสมบูรณ์ เพราะชาวบ้านต้องอยู่กับป่า ต้องใช้ประโยชน์จากป่า ตั้งแต่ลืมตาอ้าปากมา ถ้าพูดตามกฎหมายชาวบ้านก็ผิดไปหมด

นายสุมิตรชัย หัตถสาร นักกฎหมายจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากถูกอุทยานแห่งชาติออบขานประกาศทับ เนื่องจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่มีการสำรวจพื้นที่ทำกินของราษฎรตามบทเฉพาะกาลมาตรา 64 และการใช้ประโยชน์จากป่า หรือการเก็บหาของป่า ตามมาตรา 65 นั้น ระบุไว้ในกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้เฉพาะอุทยานแห่งชาติที่ประกาศก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหมายความว่าหากอุทยานฯ ประกาศทับวันนี้ กฎหมายจะไม่รองรับสิทธิอะไรเลย

“หากชุมชนไม่มีการกันพื้นที่ออกจากแนวเขตอุทยานฯ ชุมชนหรือชาวบ้านจะไม่ได้สิทธิที่พึงได้ เช่น การเลี้ยงสัตว์ ชุมชนต้องทำการขออนุญาตการเลี้ยงสัตว์และการทำมาหากินต่างๆ ขอใบอนุญาตเลี้ยงสัตว์ต่อใบ 10,000 บาท ตามกฎหมายลำดับรอง หรือแม้กระทั่งการเก็บของป่าในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 20,000 กว่าไร่ ก็จะไม่ได้การรับรองใดๆ” นายสุมิตรชัย กล่าว

นักกฎหมายจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า ขั้นตอนกระบวนการของรายงานผลการรับฟังความเห็นหลังจากนี้ จะมีการสรุปผลการรับฟังความเห็นชงเข้าคณะรัฐมนตรี ให้เห็นชอบออกมาเป็นกฤษฎีกาแนบท้ายประกอบการประกาศอุทยานฯ อาจมีระยะเวลาในการเขียนรายงานสรุปการรับฟังความเห็นประมาณ 30 วัน และทำการติดประกาศในพื้นที่ต่างๆ เช่น สำนักงานอุทยานฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องโต้แย้งรายงาน ซึ่งชุมชนอาจใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 43 ในการต่อสู้ต่อไปได้

ด้านนายธนากร อัฐฏ์ประดิษฐ์ นักวิชาการผู้ติดตามนโยบายและกฎหมายด้านป่าไม้-ที่ดิน กล่าวว่า ทั่วประเทศมีการเตรียมการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวน 22 แห่ง โดยจะเห็นว่าตลอดเวลาการต่อสู้ของชุมชนนั้นมีความพยายามจากหน่วยงานรัฐที่จะอพยพคนออกจากป่าอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถเอาชาวบ้านออกจากป่าได้จริง ความต้องการของรัฐในวันนี้คือการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลายล้านไร่ จึงมีความพยายามหาพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นเป้าหมายในการประกาศป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม หากไม่คัดค้าน ชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนไปภายใต้กฎหมายอุทยานฯรวมถึงสังคมก็จะไม่ได้อะไรจากการประกาศเขตป่าทับป่าที่ชาวบ้านดูแล เพราะพื้นที่นั้นก็เป็นป่าอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วแม้ไม่ได้เป็นอุทยานฯ

 “กฎหมายนโยบายของรัฐที่ต้องการพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น กลับมาสู่การตั้งคำถามว่าแล้วพื้นที่ที่ชุมชนใช้ประโยชน์และดูแลในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่พื้นที่ป่าหรือ เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์สิทธิหรือพิสูจน์แนวทางการดูแลรักษาป่าของชุมชนแต่อย่างใดแล้ว เพราะสภาพพื้นที่ป่าที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งยืนยันได้แล้วว่าชุมชนสามารถอยู่กับป่าได้” นายธนากร กล่าว

ด้านนายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมสังเกตการณ์ในเวทีรับฟังความเห็นวันแรกที่เทศบาลตำบลบ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังแสดงความกังวลใจหลายประการโดยเฉพาะไม่แน่ใจว่าแผนที่ที่ทางอุทยานฯนำมาให้ดูจะเป็นชุดเดียวกันกับที่ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นไปหรือไม่ เช่นเรื่อง “ปกติธุระ” ชาวบ้านไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรบ้างและในเรื่องของกระบวนการที่ต้องมีแผนแม่บท แต่ขณะนี้ยังไม่มีเพราะเป็นการเตรียมประกาศอุทยานฯ ซึ่งหากไม่ถูกอธิบายกับชาวบ้านแต่ประกาศไปแล้วก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ไขยาก ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและท้องที่ที่ทับซ้อนกับอุทยานฯ จะหาทางออกอย่างไร ทั้งเรื่องไฟป่า การท่องเที่ยว ถ้าไม่มีข้อเสนอทำเป็นอนุบัญญัติจะทำอย่างไร

“ชาวบ้านแสดงความกังวล แต่ไม่มีข้อชี้แจงจากอุทยานฯให้หายกังวล ทางอุทยานฯพยายามอธิบายถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ไม่มีการจับชาวบ้านซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ชาวบ้านอยากรู้”นายสรศักดิ์ กล่าว

นายสรศักดิ์กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่าเป้าหมายในการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อทำกระบวนการให้ครบถ้วนก่อนประกาศอุทยานฯ การอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมอุทยานชาติ แต่การปรับข้อมูลหลังการรับฟังจะเกิดขึ้นหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนี้นต้องดูว่าการรับฟังความเห็นครั้งนี้สมบูรณ์หรือไม่ อาจต้องมาตรวจสอบรายงานร่วมกัน และข้อเสนอหรือข้อกังวลของชาวบ้านอาจต้องมีหลักประกัน เช่น ทำแผนที่ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ดูก่อน นอกจากนี้สิ่งที่ผู้บริหารรับปากว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ ได้มีการบันทึกไว้หรือไม่ หากเกิดปัญหาในอนาคตจะได้นำมากล่าวถึงได้

อนึ่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้ส่งหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านหมู่ต่างๆที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการประกาศแนวเขตอุทยานเพื่อขอเชิญชวนรับฟังความคิดเห็น ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ 141,756.26 ไร่ โดยระบุว่าอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 และมาตรา 8 ประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 25 พ.ย. 2564 เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียฯ ซึ่งหากดำเนินการรับฟังความเห็นแล้วจะได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีประกาศกฤษฎีกาแนบท้าย ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบขานต่อไป

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →