เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย International Rivers
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่กรุงเทพมหานครในสัปดาห์นี้ มีข้อตกลง “Bangkok Goals” on BCG (Bio-economy, Circular Economy and Green Economy) แต่มีคำถามมากมาย ว่ารัฐบาลไทยมุ่งผลักดันเป้าหมายนี้ ด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงการฟอกเขียวนโยบายที่สวนทางเท่านั้น
กรณีแม่น้ำโขงทำให้พอจะเห็นภาพบางอย่างได้
ปัญหาสะสมจากเขื่อนแม่น้ำโขง ที่ก่อสร้างไปแล้วถึง 11 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบนในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศที่ใช้ร่วมกันจากต้นน้ำที่เชิงเขาหิมาลัยจนถึงปากแม่น้ำที่เวียดนาม ไม่เคยถูกนำมาพูดคุยอย่างจริงจังโดยรัฐบาล riparian governments
นิเวศบริการจากแม่น้ำโขง เกษตรกรรม การประมง การเดินเรือ แหล่งน้ำประปา ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในจีนอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ จะถูกนำมาหารือเพื่อร่วมกันแก้ไข ในวาระที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง มาเยือนไทยในครั้งนี้ด้วยหรือไม่
แม่น้ำโขงตอนล่าง ประเทศไทยยังมุ่งรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากเขื่อนอย่างน้อย 4 แห่งบนแม่น้ำโขงในลาว โดยระบุว่าเป็นแหล่งพลังงานสะอาด ทั้งที่ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนในปัจจุบัน โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรี ก็รุนแรงและกว้างขวาง โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคอีสานของไทย โดยไม่เคยมีแผนบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนแต่อย่างใด
ทุกวันนี้ชุมชนริมแม่น้ำโขงจำนวนไม่น้อยต้องล่มสลาย เพราะความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำโขงถูกทำลายจากเขื่อนที่กั้นและตัดการไหลของน้ำที่เคยเป็นอิสระให้อยู่ภายใต้การบังคับของเขื่อน ส่งผลต่อระบบนิเวศมากมายโดยเฉพาะปลาอพยพได้ลดหายไปจนไม่เพียงพอสำหรับอาชีพประมงและรายได้ที่นำมาจุนเจือครอบครัว คนหาปลาจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ หรืออพยพเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่
หมู่บ้านปากอิงใต้ จ.เชียงราย ภาคเหนือของไทย เคยมีเรือประมงไม่ต่ำกว่า 200 ลำ หมุนเวียนจับปลาในทุกวันทุกฤดู ด้วยความรู้ท้องถิ่นที่สืบทอดมา แต่วันนี้กลับเหลือลงไม่ถึงสิบลำ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเขื่อนทำร้ายคนเล็กคนน้อยนับล้านๆ คน ภายในระยะเวลาเพียงทศวรรษ แล้วเช่นนี้เรายังจะเชื่อในคำนิยามที่บอกว่าพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนเป็นพลังงานที่สะอาดอยู่อีกหรือ
ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะไฟฟ้าล้น ในบางเดือนมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึง 60 % ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนค่าความพร้อมจ่าย ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่โรงไฟฟ้า เนื่องจากสัญญา take or pay โดยโรงไฟฟ้าเขื่อนในต่างประเทศ เป็นการซื้อต่อหน่วยและมีการซื้อไฟฟ้าตลอด แต่กระนั้นในปีนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานของไทย ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง คือ ปากแบง และหลวงพระบาง
โครงการเขื่อนปากแบง มีผู้ถือหุ้นคือ China Datang Overseas Investment และ Gulf Energy Development ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผ่านการเห็นชอบของสำนักงานอัยการสูงสุด แต่ประชาชนริมโขง ได้ยื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ชาวบ้านและอำเภอได้จัดเวทีประชาคม เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะน้ำเท้อที่จะท่วมหลายหมู่บ้านของไทย
การลงนามการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างลาวและสิงคโปร์ โดยส่งไฟฟ้าผ่านไทยและมาเลเซีย คำถามที่เกิดขึ้นคือ ใช่หรือไม่ว่าไฟฟ้าที่ระบุว่ามาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน คือเขื่อนแม่น้ำโขง นั้น เป็นการใช้ทรัพยากรส่วนรวม เพื่อสร้างกำไรให้แก่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ แต่ภาระต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม กำลังจ่ายโดยระบบนิเวศแม่น้ำโขง และประชาชนที่อาศัยในลุ่มน้ำนับล้านครัวเรือน
ทุกวันนี้ชุมชนตั้งแต่ปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ชุมชนรอบโตนเลสาบ ชุมชนสีพันดอนในลาว ชุมชนริมแม่น้ำโขงในภาคอีสานและภาคเหนือของไทย ต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้าจากการสร้างเขื่อน แม้มีความพยายามให้รัฐบาลไทยในฐานะที่กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ ให้ทบทวนเรื่องการรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งการที่เอกชนของไทยและจีนต่างเข้าไปจับจองแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาโครงการเขื่อน แต่รัฐบาลทั้งสองกลับเฉยชา
กลุ่มทุนใหญ่ของไทยและจีนที่เข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนในลาวสามารถเข้าถึงรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวได้อย่างแนบแน่น ขณะที่เสียงของคนเล็กคนน้อยกลับถูกกลับฝังและลอยไปกับสายลมครั้งแล้วครั้งเล่า
BCG economy ของรัฐบาลไทยที่หยิบยกขึ้นมาในเวทีเอเปคครั้งนี้ อาจดูสวยหรู แต่สำหรับชาวบ้านอาจเป็นเพียงน้ำยาล้างหูที่ทำให้ดูปลอดโปร่งชั่วคราว
แต่สุดท้ายทางออกของปัญหาก็กลับตีบตันเหมือนเดิม