
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ชาวเล-อูรักลาโว้ยที่อาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่นายทุนที่อ้างกรรมสิทธิในที่ดินได้ปิดเส้นทางสาธารณะที่ชาวบ้านใช้มานับร้อยปีซึ่งจะทำให้การเดินทางของนักเรียนโรงเรียนเกาะอาดัง และชาวบ้านที่เจ็บป่วยต้องการเดินทางไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเป็นไปอย่างลำบาก ได้เดินทางไปยังหน่วยงานราชการโดยกลุ่มแรกเดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอละงู เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยผ่านนายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นายอนุชา นาคาศรัย)ที่เดินทางไปลงพื้นที่ ส่วนชาวเลอีกกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยเร่งแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ในหนังสือที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรีระบุว่า ขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการปิดกั้นเส้นทางสัญจรสาธารณะประโยชน์ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงจากกรณีการซื้อขายที่ดินของซึ่งผู้ที่ครอบครองเอกสารนส.3 เลขที่ 11 ขายให้กับเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งพยายามเข้าครอบครองที่ดินที่เป็นบ้านชาวบ้านโดยมีการเข้ามาในพื้นที่ชุมชนและรังวัดที่ดินครอบบ้านชาวเลรวมทั้งเส้นทางสัญจรต่างๆในชุมชน

“เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา15.00 น. เอกชนรายนี้ได้ให้ลูกน้องมาเชื่อมเหล็กปิดกั้นเส้นทางสัญจรที่เป็นทางดั้งเดิมตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2452 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันชาวเลใช้เป็นเส้นทางสัญจรในการให้นักเรียนเดินเข้าโรงเรียน ทางสัญจรเข้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนเกาะหลีเป๊ะ ทางสัญจรเข้าสุสานชุมชนชาวเล ทางสัญจรแห่พิธีกรรมในประเพณีลอยเรือ ทางสัญจรในการออกสู่ทะเลเพื่อประกอบอาชีพ รวมทั้งเป็นทางเดินของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ ทำให้นักเรียน ชุมชน และนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง”ในหนังสือร้องเรียนระบุ
ในหนังสือระบุว่า ชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะได้ความเดือดร้อนที่สุดจึงได้รวมกลุ่มคัดค้านแต่ไม่เป็นผล และร้องเรียนไปยังอำเภอส่วนหน้าเกาะหลีเป๊ะได้พยายามเจรจาก็ไม่เป็นผล จนปัจจุบันมีการปะทะด้วยวาจาพร้อมทั้งเอกชนข่มขู่ชาวเลตลอดมาและพยายามสร้างรั้วปิด ชาวเลจึงตั้งเต็นท์เฝ้าระวังตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจากเกรงว่าเอกชนจะสร้างรั้วปิดกั้นจนไม่สามารถสัญจรได้ จึงขอให้นายกฯเร่งดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณเส้นทางที่ถูกปิด ชาวเลได้ร่วมกันจัดเวรยามคอยเฝ้าระวังทั้งกลางวันและกลางคืนเนื่องจากกลัวถูกปิดเส้นทาง และนำเครื่องมือดังปลามาปิดกั้นไม่ให้รถขนอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าไปได้ แต่นักท่องเที่ยวและผู้สัญจรยังสามารถใช้เส้นทางได้เป็นปกติ โดยในช่วงเช้าวันนี้มีชาวบ้านมาร่วมไม่มากเพราะต้องแยกย้ายกันเดินทางไปยื่นหนังสือและบางส่วนต้องทำงาน ขณะที่นักธุรกิจเจ้าของที่ดินก็ไม่อยู่ ทำให้สถานการณ์การเผชิญหน้าผ่อนคลายลงระดับหนึ่ง แต่ในช่วงเย็นปลัดอำเภอเมืองสตูลได้ลงพื้นที่และพยายามให้ชาวบ้านนำสิ่งของที่กีดขวางเส้นทางออกไปโดยการเจรจายังไม่แล้วเสร็จเป็นจังหวะเดียวกับที่นักธุรกิจที่อ้างกรรมสิทธิในที่ดินกลับมาถึงพร้อมกับกลุ่มวัยรุ่นอีก 4-5 คน การเจรจาจึงยังไม่ได้ผลสรุป ขณะที่ชาวเลได้ทยอยกันมารวมตัวกว่า 200 คน

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเดือนกันยายน 2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ได้ออกรายงานผลการตรวจสอบกรณีที่มีชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการถูกปิดกั้นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะ โดยระบุเป็นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยง ดังนี้
1.ควรเร่งรัดติดตามผลการตรวจพิสูจน์ที่ดินทั้งหมดในเกาะหลีเป๊ะ โดยร่วมมือกับ อบต.เกาะสาหร่ายในการตรวจสอบลำรางสาธารณะ ควรร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการตรวจสอบพื้นที่สาธารณะอื่นๆภายในชุมชนอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ ได้แก่ ทางสัญจรสาธารณะ สุสานบรรพบุรุษและจุดจอดเรือหน้าหาดเพื่อการประมง
2.ควรพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะให้เป็นรูปธรรมตามนัยมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนาย 2553 โดยร่วมกับจังหวัดสตูล สำนักโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจัดให้มีผังเมืองเกาะหลีเป๊ะเพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้ควรร่วมกับจังหวัดสตูลและกองทัพเรือ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคและสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพิจารณาถึงขอบเขตพื้นที่ วิธีการและช่วงระยะเวลาในการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชาวเลเกาะหลีเป๊ะโดยผ่านข้อตกลงกับชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบ ข้อเสนอของ กสม.ทุกข้อ ยังไม่ได้รับการปฎิบัติใดๆจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้ผ่านไปแล้วกว่า 2 ปี โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดิน ทำให้ในที่สุดความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นและกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างนายทุนและชาวเล