Search

พีระพันธุ์ลุยรื้อเอกสารสิทธิเกาะหลีเป๊ะ แนะชาวเลฟ้องคู่กรณีปิดเส้นทางดั้งเดิม

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญอธิบดีกรมต่างๆ และหัวหน้าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อแก้ปัญหาชาวอูรักลาโว้ย บนเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล ที่ร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่ถูกเอกชนทำการปิดเส้นทางลงทะเลและไปโรงเรียน รวมถึงมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบจำนวนมากบนเกาะหลีเป๊ะจนเป็นเหตุให้ชาวบ้านถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินดั้งเดิม

นายพีระพันธุ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีประเด็นใหญ่ๆอยู่ 2 ประเด็นคือ เรื่องที่ชาวเลและนักเรียนถูกปิดกั้นทางเดินซึ่งเป็นเรื่องข้อพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชน และประเด็นปัญหามีที่ดินจำนวนมากออกเอกสารสิทธิโดยชอบหรือไม่ โดยที่ผ่านมามักมีการนำ 2 ประเด็นมาผสมกัน ทำให้แก้ไม่ตก แต่ถ้าเราแยกให้ชัดคือความเดือดร้อนที่ชาวเลถูกปิดกั้นทางเดิน เมื่อเอกชนอ้างว่าเขารมีเอกสารสิทธิตามกฏหมายก็ต้องถือว่าเป็นที่ดินเอกชน แต่การปิดกั้นทางเดินที่ชาวบ้านใช้มาไม่น้อยกว่า 60 ปี ชาวบ้านก็มีสิทธิที่จะใช้สิทธิทางศาลให้มีคำสั่งคุ้มครอง เพราะเมื่อเป็นเรื่องของเอกชนต่อเอกชนแล้วราชการไม่สามารถไปสั่งการได้ โดยส่วนนี้ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านแล้ว ซึ่งรองผู้ว่าฯสตูลได้เรียนว่าได้มอบให้ยุติธรรมจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการจัดเตรียมทนาย

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องที่มีการร้องเรียนว่ามีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบนั้น ต้องมีการตรวจสอบหากมีการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็ต้องมีการเพิกถอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องไปตรวจสอบดูแล โดยในเรื่องของเส้นทางแม้เป็นที่ดินของเอกชนแต่ชาวบ้านใช้เดินเข้าออกติดต่อกันมา 50-60 ปีชาวบ้านก็สามารถอาศัยสิทธิทางกฎหมายให้ศาลสั่งให้เป็นภาระจำยอม ขณะที่ภาครัฐก็จะเข้าไปตรวจสอบว่าเอกสารสิทธิที่ออกมานั้นชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องเพิกถอน

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาเกิดการเผชิญหน้าเรื่องที่ดินจะแก้ปัญหาอย่างไร นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ปัญหาลักษณะนี้เกิดทุกที่ซึ่งต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน บางครั้งชาวบ้านก็เข้าใจข้อเท็จจริงผิด บางทีข้าราชการก็อธิบายไม่เป็นและคุ้นกับการใช้อำนาจทำให้คุยกันไม่ค่อยเข้าใจ เพราะปกติชาวบ้านรู้สึกอยู่แล้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อข้าราชการไปกระตุ้นความรู้สึกนี้ขึ้นมาอีก ทำให้ชาวบ้านสึกว่าถูกรังแกหรือเข้าข้างนายทุนหรือไม่

“เหมือนเรื่องหลีเป๊ะ ผมดูข้อเท็จจริงแล้วไม่เห็นจะมีอะไร แต่ทำไมถึงไม่จบเสียที แต่พอเราเรียกมาคุยกันก็จบ ต่างคนต่างก็ไปทำหน้าที่กัน”

เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะก็จะมีการตรวจสอบที่ดินทั้งเกาะ ซึ่งรวมถึงที่ดินแปลงที่เป็นปัญหากรณีปิดทางเดินด้วย ว่ามีการออกเอกสารสิทธิถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะมีการประชุมกับส่วนราชการต่อไป

เมื่อถามว่าในที่ประชุมได้มีการซักถามในรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่มีปัญหาโดยส่วนราชการบางหน่วยงานก็ยอมรับว่ามีการครอบครองมากเกินความเป็นจริงจะดำเนินการอย่างไร นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบแล้ว ในเอกสารที่ดินบอกว่ามี 81ไร่แต่เจ้าของบอกว่ามีมากกว่า 100 ไร่ซึ่งกรณีนี้เป็นการพิพาทระหว่างเอกชนกับกรมอุทยานฯ ดังนั้นต้องดำเนินการในส่วนที่เกินออกมา

ทั้งนี้ในที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กรมอุทยานฯ กรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยในช่วงแรกชาวเลและผู้แทนมูลนิธิชุมชนไทได้ร่วมกันอธิบายกรณีที่เส้นทางเดินดั้งเดิมของชาวเลถูกเอกชนปิดกั้นและพยายามชี้ให้เห็นว่ามีการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อน ซึ่งผู้แทนกรมที่ดินได้ชี้แจงว่า ที่ดินแปลงนี้มีผู้ครองครอง  7 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพีระพันธุ์ได้สอบถามว่าที่ดินแปลงนี้เดิมทีตอนเป็น ส.ค.1มี 51 ไร่ต่อมาเมื่อเป็น น.ส.3 เพิ่มเป็น 81 ไร่ จนปัจจุบันกลายเป็นกว่า 100 ไร่ ซึ่งผู้แทนกรมที่ดินชี้แจงว่า เพราะสมัยก่อนการรังวัดยังไม่มีระเบียบกฏหมายที่เข้าไปรังวัด ทำให้เพิ่มเป็น 81 ไร่ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายสมัยนั้น ส่วนที่เพิ่มเป็นกว่า 100 ไร่นั้นอยู่ในระหว่างการดำเนินการทางศาลเพราะการรังวัดยังไม่ถึงที่สุด

เมื่อนายพีระพันธุ์ซักถามว่า การเพิ่มจาก 51 ไร่เป็น 81 ไร่เกิดขึ้นได้อย่างไร ตัวแทนกรมที่ดินกล่าวว่า ส.ค.1แจ้งไว้เมื่อ พ.ศ.2497 โดยประมาณด้วยสายตาและระบุว่าทิศเหนือใต้ออกตกจรดที่ดินของใครมีจำนวนเท่าไร และต่อมาปี 2517 นำมาออก น.ส.3 เพื่อนำรังวัดตามขอบเขตข้างเคลียงที่มานำชี้ได้ 80 ไร่ ส่วน 150 ไร่นั้น เข้าใจว่าเมื่อเกิดคดีศาลให้ทำแผนที่พิพาท เจ้าของชี้ตามที่ตัวเองครอบครองแต่ไม่ใช่ตามเอกสารสิทธิ โดยตอนนี้อุทยานฯ ตะรุเตา กำลังฟ้องร้องกับเอกชนอยู่

ขณะที่ผู้แทนมูลนิธิชุมชนไทกล่าวว่า ในที่ดิน 81 ไร่เป็นพื้นที่โรงเรียนและทางเดินดั้งเดิมด้วย แต่ตอนหลังพากันที่ดินโรงเรียนออกก็อ้างว่าเอกชนเป็นผู้บริจาคที่ดินทั้งๆ ที่ความจริงแล้วโรงเรียนตั้งมาก่อน นอกจากนี้ในเขตที่ดินกว่า 100 ไร่มีบ้านชาวเลอยู่ด้วย เมื่อเจ้าของที่ฟัองชาวเล แต่ศาลพิพากษาให้ชาวเล 5 รายชนะเพราะอยู่นอกเขตการครอบครองเอกชน แต่ชาวบ้านต้องขายเรือเพื่อใช้ในการต่อสู้คดีเป็นความสูญเสียเพราะที่ดินถูกออกเอกสารสิทธิไปครอบทับ เพราะเกิดจากความไม่ชัดเจน ทำให้ตอนนี้มีชาวบ้านถูกฟ้องมากกว่า 20 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพีระพันธุ์พยายามถามหาแผนที่แนวเขตที่ศาลระบุว่าชาวบ้านอยู่นอกเขตการอ้างกรรมสิทธิของเอกชนจากกรมที่ดิน แต่ผู้แทนกรมที่ดินไม่มีและชี้แจงว่าเป็นเรื่องระหว่างภาคเอกชนฟ้องร้องกันเองจึงไม่ได้ขอไว้ แต่นายพีระพันธุ์ระบุว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกรมที่ดินด้วย ดังนั้นกรมที่ดินจึงควรมีเอกสารชิ้นนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแนวเขตอยู่บริเวณไหนกันแน่ และนายพีระพันธุ์ได้ขอให้ดีเอสไอไปขอสำนวนคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้แทนมูลนิธิชุมชนไทยและชาวเลพยายามอธิบายว่า การที่เอกชนขยายพื้นที่ออกไปมากกว่า 81 ไร่ซึ่งนอกจากทับพื้นที่ชาวบ้านและยังทับพื้นที่อุทยาน แต่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตาคนปัจจุบันเป็นลูกเขยของ 1 ในเจ้าของที่ดินแปลงนี้ ซึ่งนายพีระพันธุ์ได้สั่งให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเข้าไปร่วมตรวจสอบ

นายพีระพันธุ์ซักถามว่า เมื่อมีการอ้างครอบครองเกินกว่า 81 ไร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไร โดยผู้แทนกรมที่ดินชี้แจงว่าต้องรอผลการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด 

————–

On Key

Related Posts

จี้รัฐทำแผนรับมือน้ำท่วมเชียงรายหลังพบเหมืองทองต้นน้ำกก นักวิชาการหวั่นซ้ำรอยปีที่แล้ว แนะรัฐเจรจากับพม่า-กองกำลังชาติพันธุ์-เร่งตรวจสารปนเปื้อนและเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 นายสืบสกุล กิจนุกร อาจาRead More →

หวั่นภาพพจน์การท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตติดลบ หลังพบใช้แรงงานข้ามชาติอื้อแต่คุณภาพชีวิตย่ำแย่-เด็กนักเรียนกว่า 300 คนเสี่ยงหลุดจากระบบหลังสถานศึกษาถูกปิด

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤRead More →