เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 นายเดชณรงค์ อยู่กลาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 เกาะหลีเป๊ะ ต.สาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล เปิดเผยว่า เมื่อค่ำวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมาชาวบ้าน (อูรักลาโว้ย) หมู่ 7 และหมู่ 8 ได้ร่วมกันประชุมประชาคม ครั้งที่ 1/2566 เพื่อสำรวจความต้องการของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านซึ่งที่ประชุมมีมติใน 7 ประเด็นดังนี้ 1.ขอยืนยันว่าลำรางสาธารณะประโยชน์บริเวณชุมชนตูโป๊ะหลังโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะเป็นลำรางสาธารณะที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติซึ่งเป็นทางระบายน้ำออกจากชุมชนมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ปัจจุบันถูกเอกชนปิดกั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมชุมชนดูโป๊ะ ชุมชนปาดักและชุมชนใกล้เคียงก่อให้เกิดโรคระบาดและการสัญจรไปมาไม่สะดวก ทรัพย์สินของราษฎรได้รับความเสียหาย
นายเดชณรงค์กล่าวว่า 2.ขอยืนยันว่าถนนบริเวณด้านข้างโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะเป็นถนนที่ชุมชนชาวเลได้ใช้ในการสัญจรมาตั้งแต่สมัยโบราณกว่า 100 ปีแล้ว จึงเป็นถนนสาธารณะประโยชน์แต่มีการแจ้งเอกสารสิทธิที่ดินครอบทับอีกทีจึงกลายเป็นที่ดินของเอกชน จึงขอให้พี่น้องชาวเลที่ใช้เส้นทางดังกล่าวยืนยัน 3.ชาวบ้านขอให้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิบนเกาะหลีเป๊ะทั้งเกาะโดยเร็วโดยเฉพาะบริเวณที่ดินของโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 กล่าวว่า 4.ชาวบ้านต้องการให้มีการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันช่องทางระบายน้ำลงสู่ทะเลถูกเอกชนถมพื้นที่ปิดกั้น ทำให้เมื่อถึงฤดูฝนเกิดน้ำท่วม ดังนั้นภาครัฐจึงควรเร่งสร้างช่องทางระบายน้ำสู่ทะเล 5.ชาวบ้านต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากเมื่อถึงฤดูแล้งชุมชนบนเกาะหลีเป๊ะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากผู้ประกอบการได้เจาะน้ำลึกถึงชั้นบาดาลด้านล่าง ขณะที่บ่อน้ำบาดาลของชาวบ้านขุดตื้นกว่า ทำให้น้ำด้านล่างถูกดึงไปใช้หมด และชาวบ้านต้องไปขนน้ำจากเกาะอาดังหรือซื้อน้ำบริโภคดังนั้นอยากให้ภาครัฐแก้ปัญหานี้
นายเดชณรงค์กล่าวว่า 6.เรื่องไฟฟ้าซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านบนเกาะหลีเป๊ะใช้ไฟฟ้าแพงกว่าประชาชนทั่วไปเพราะต้องซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนโดยต้องจ่ายค่าไฟถึงยูนิตละ 25 บาท ขณะที่ไฟฟ้าหลวงราคาเพียงยูนิตละ 4-5 บาท ดังนั้นอยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาแก้ปัญหานี้ด้วย 7.ปัญหาเรื่องจัดการขยะโดยชาวบ้านมีความเห็นร่วมกันว่า จะร่วมมือกันจัดเก็บขยะในทุกเย็นวันอาทิตย์โดยเริ่มต้นจากชุมชนตัวเองก่อนและขยายไปยังพื้นที่สาธารณะต่างๆโดยขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนชุมชน
“หลังจากทำเอกสารเสร็จสิ้นผมจะนำผลประชาคมทั้ง 7 ประเด็นเสนอตามลำดับชั้นไปที่อำเภอ จังหวัดและกระทรวงมหาดไทยเพื่อแจ้งความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านซึ่งได้มีการลงมติเป็นเอกฉันทน์ในทุกประเด็น
ที่ผ่านมาปัญหาต่างๆ คนนั้นพูดที คนนี้พูดที หรือแก้ปัญหาเฉพาะรายบุคคล แต่ครั้งนี้เมื่อมีการทำประชาคมซึ่งเป็นไปตามระเบียบราชการ ทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสใช้กลไกนี้ในการต่อสู้เพื่อประโยชน์ของชุมชน”ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะพบว่า ที่ดินของโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะซึ่งในเอกสารแผนที่ราชพัสดุระบุไว้ว่ามีเนื้อที่ 6 ไร่เศษ แต่ปัจจุบันถูกเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์และสร้างกำแพงรุกเข้าไปในที่ดินผืนดังกล่าวประมาณ 2 ไร่ ขณะที่ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีข้อสั่งการใดๆในการแก้ปัญหานี้แม้จะมีการแจ้งเรื่องดังกล่าว รวมทั้งเป็นข่าวต่อเนื่องทางสื่อมวลชนแล้วก็ตาม