เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 ชาวอูรักลาโว้ยจากเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล จำนวน 10 คน ได้เดินทางมายังท่าเรือปากบาราและนั่งรถตู้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อเดินสายอธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับชาวเลจนทำให้ต้องสูญเสียที่ดินและถูกฟ้องขับไล่จากเอกชนบางรายที่อ้างกรรมสิทธิในที่ดิน รวมถึงปัญหาอื่นๆที่ชาวเลกำลังเผชิญอยู่และได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ระหว่างทางชาวเลกลุ่มนี้ได้แวะที่ชมรมประมงพื้นบ้านสตูล อ.ละงู โดยเครือข่ายรักจังสตูล ได้ให้กำลังใจชาวเลและประกาศพร้อมยืนยันเคียงข้างต่อสู้ร่วมกับชาวเล
ขณะที่นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ควรต้องย้อนดูประวัติศาสตร์และหนีไม่พ้นที่ต้องกำจัดอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาน หรือบิ๊กโจ๊ก รอง ผบ.ตร เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดิน ที่เกี่ยวข้องกับยชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จำเป็นต้องตรวจสอบให้ถึงรากเหง้าของปัญหา ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าจะจัดการได้แค่ไหน
นายสมบูรณ์กล่าวว่า ปัญหาของชาวเลเกาะหลีเป๊ะเป็นมิติสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกดทับมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งหน่วยงานรัฐพึงระวังเพราะทุกวันนี้ได้เอากฎหมายมาใช้หลังจากที่ชาวเลถูกริดรอนสิทธิไปแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องย้อนตรวจสอบไปให้ถึงตั้งแต่จุดเริ่มต้นการออกเอกสารของชาวบ้านที่อยู่บนเกาะหลีเป๊ะในยุคแรกว่าอยู่กันกี่คน กี่ครอบครัว ใครเป็นคนจัดสรรที่ดินและมีการหมกเม็ดหรือไม่ เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของสิทธิของชาวเลถูกกระทำ แม้กระทั่งสตูลบางส่วนยังมองว่าชาวเลขายที่ดินไปหมดเอง
“ผมไม่แน่ใจว่าบิ๊กโจ๊กกล้ารื้อประวัติศาสตร์เหล่านี้หรือไม่ ชาวเลบุกรุกตั้งแต่ต้นหรือใครมาบุกรุกชาวบ้านกันแน่ มีใครที่เกี่ยวโยงบ้างดูไม่ยาก เพียงแต่พร้อมดูและแก้ปัญหาหรือไม่” นายสมบูรณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ คิดอย่างไรกรณีที่ชาวเลระบุว่าถูกอิทธิพลข่มขู่จนเสียที่ดิน นายสมบูรณ์กล่าวว่า เกาะหลีเป๊ะอยู่ห่างฝั่งพอสมควร สมัยก่อนมีกำนันคนหนึ่งดำเนินการเรื่องต่างๆให้ชาวเล เนื่องจากชาวเลมีอุปสรรคในการเดินทาง และพวกเขาสื่อสารได้ไม่ชัดเจนเพราะพูดไทยไม่ค่อยได้ ทำให้ไม่อยากขึ้นบนฝั่ง จึงถูกจัดการแทนโดยคนที่พวกเขาไว้ใจ หากดูจากเอกสารจะพบว่ามีตัวละครไม่กี่ตัว ที่เข้าจัดการ ดังนั้นควรทำให้สังคมเข้าใจเขาที่อยู่มาตั้งแต่ต้น บางส่วนยังรู้สึกเป็นห่วงว่าถ้าคืนสิทธิให้ชาวเลแล้วคนอื่นจะทำอย่างไร เรื่องนี้รัฐบาลต้องหาทางออก
เมื่อถามว่า เกาะหลีเป๊ะควรพัฒนาในทิศทางใด ประธาน กป.อพช.กล่าวว่า พัฒนารูปแบบไหน ขณะนี้เวลามีพรรคพวกจากต่างจังหวัดมาเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ เขาอยากเห็นวิถีชีวิตชาวเล แต่เมื่อลงเกาะหลีเป๊ะกลับไม่เห็นเพราะถูกกำกับและควบคุมไว้หมด หากภาครัฐทำให้การท่องเที่ยววิถีชาติพันธุ์เด่นชัดขึ้นมาได้ก็น่าสนใจ เพราะแต่ละปีเกาะหลีเป๊ะมีรายได้มหาศาล แต่กลับมีงบประมาณพัฒนาน้อยมาก ซึ่งต่อไปหากรัฐบาลจัดตั้งองค์กรพิเศษจัดการปกครองอีกแบบเพื่อให้พื้นที่ที่มีทรัพยากรโดดเด่นเลี้ยงดูตัวเองได้ ให้ผู้ประกอบการและกลุ่มชาตจิพันธุ์อยู่ร่วมกันได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
“ผมคิดว่าที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ แต่เรื่องคุณภาพชีวีตของพวกเขาก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ เข้าไม่ถึงสาธารณูปโภค เขาต้องแบกรับภาระ จริงๆรัฐบาลควรคิด ถ้ามีองค์กรจัดการท่องเที่ยวพิเศษและมีการออกแบบดีๆ ลดภาระให้ชาวบ้านก็เป็นเรื่องที่ดี”นายสมบูรณ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดอย่างไรกรณีชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะบางส่วนเริ่มตั้งคำถามว่า การที่บรรพบุรุษของเขาเลือกอยู่แผ่นดินสยามแทนที่จะอยู่มาเลเซียเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ นายสมบูรณ์กล่าวว่า เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ประเทศมาเลเซียแม้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่อังกฤษได้รากฐานไว้ดีและมีความก้าวหน้ากว่าประเทศไทย แม้กระทั่งบริเวณรัฐชายแดน สิ่งที่ชาวเลพูดมีความเป็นจริงที่พอเข้าใจได้ แต่สังคมไทยอาจรับไม่ได้ แต่เป็นความคิดที่สะท้อนความน้อยอกน้อยใจเพราะไม่ได้รับความดูแลโดยชาวบ้านมีสิทธิคิดเช่นนั้นด้วย
นางสาวนภัสรัตน์ หาญทะเล ชาวอูรักลาโว้ย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งบนเกาะหลีเป๊ะ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ดินผืนที่ตนนำมาประกอบธุรกิจนี้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่รู้สึกแปลกใจที่บรรพบุรุษไม่มีชื่ออยู่ใน สค.1 ทั้งๆที่ยายยืนยันว่าเสียภาษีทุกปี ตอนนี้เปิดรีสอร์ทมาได้ราว 15 ปีก่อน โดยในช่วงแรกยังไม่เกิดปัญหาอะไร แต่ต่อมาถูกเอกชนรายหนึ่งฟ้องเพราะเขาอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนี้ หลังจากสู้กันในศาลจนตัดสินให้ตนชนะคดี ต่อมาก็มีคนจะมาซื้อที่ดินอีกโดยเขาอ้างว่าเขามีสิทธิ แต่พวกตนไม่ยอม เขาเอาหนังสือบางอย่างมาให้ดูว่าเขามีสิทธิอย่างไรและพยายามให้เราขายที่ดิน
“ตอนนั้นเราพึ่งผ่านการต่อสู้และชนะคดีจากรายแรก ทำให้รู้สึกเครียดเพราะไม่มีเงิน เราได้เดินทางไปที่สำนักงานที่ดินสตูลเพราะอยากให้ความจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดันคนหนึ่งบอกว่าที่ดินผืนนี้เป็นกรรมสิทธิของเราเพราะอยู่มาก่อน แต่เจ้าหน้าที่รายนี้ก็ช่วยอะไรเรามากไม่ได้เพราะกลัวอิทธิพล ในที่สุดผู้ซื้อรายนี้ได้เอาปืนมาขู่เพื่อให้ขาย เราน้ำตาตกในโดยมีมือปืน 3 คน แต่มันไม่ยุติธรรม เราไม่ยอมเซ็น พอเราไปแจ้งความว่าเขาบุกรุก ตำรวจก็ไม่รับแจ้งอ้างว่าเราไม่มี น.ส.3 หรือ สค.1”น.ส.นภัสรัตน์ กล่าว
ชาวอูรักลาโว้ยรายนี้กล่าวด้วยว่า ตอนนั้นตนไม่รู้จะหันหน้างไปพึงใครจึงเดินทางเข้า กทม.เพื่อไปที่สภาทนายความโดยเดินทางแบบแอบๆเพราะกลัวอิทธิพล ซึ่งสภาทนายความได้รับเรื่องไว้ และบอกว่าพร้อมดำเนินการต่อให้ แต่ตนขอเวลาคุยกับคนที่จะมาซื้ออีกครั้ง โดยครั้งนี้ตนถ่ายภาพที่ได้เดินทางไปสภาทนายความ และส่งรูปให้เขาดูพร้อมยืนยันว่าไม่ขายที่ดินผืนนี้ หากใครรื้อก็จะฟ้อง จนในที่สุดผู้มีอิทธิพบรายนี้เขาไม่กล้ามายุ่งอีก
“เขาเคยเรียกหนูไปที่บ้านและขู่ฆ่า หนูได้อัดเสียงเอาไว้ในโทรศัพท์ทั้งหมด และตอนนี้เสียงบรรทึกนั้นก็ยังอยู่ หลังจากนั้นเขาไม่ยุ่งกับเราอีกเลย พอไม่ได้ที่ดินจากเรา เขาก็ไปเอาที่ที่ดินคนอื่น”นางสาวนภัสรัตน์ กล่าว
เมื่อถามว่าสาเหตุที่ชาวเลต้องเสียที่ดินให้กับผู้มีอิทธิพลเหล่านี้คืออะไร นางสาวนภัสรัตน์กล่าวว่า ชาวเลเป็นคนใจดีและไม่มีความรู้ ตอนนี้ที่ชาวเลขอแค่เรียกร้องสิทธิของตัวเองซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงในครอบครัวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ตอนนี้หาดก็ไม่มี ทางเดินก็ไม่มี หางานทำก็ลำบาก หาปลาก็ยาก ขณะนี้ชาวเลต้องการเพียงเอกสารอะไรก็ได้เพื่อยืนยันว่าเราอยู่ตรงนี้ ยิ่งเป็นเอกสารที่ขายที่ดินไม่ได้หรือโฉนดชุมชน เราจะดีใจมากเพราะจะได้ไม่ถูกอ้างเอาไปขาย เรานึกถึงบรรพบุรุษที่ต่อสู้มาก่อน เราจึงอยากรักษาไว้
“เมื่อก่อนเราอยู่กันอย่างมีความสุข แต่ตอนนี้ต่างรู้สึกเครียด ไปขอความช่วยเหลืออะไรก็ไม่ค่อยได้ เราไม่ได้ต้องการให้รื้อรีสอร์ทของคนนอก แต่เราต้องการได้รับความเป็นธรรมจากการที่ที่อยู่อาศัยของเราถูกอ้างกรรมสิทธิ์”นางสาวนภัสรัตน์ กล่าว
ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ดร.นฤมล กล่าวว่า ก่อนที่จะแก้ไขปัญหาของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะควรเข้าใจถึงจุดแข็งของชุมชน ประวัติความเป็นมา ทุนทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงการตั้งถิ่นฐานเดิมที่กระจายตัวบริเวณเกาะอาดังและเกาะราวี แผนที่ด้านล่างนี้ แสดงให้เห็นที่ตั้งหมู่บ้านเก่า แหล่งพักแรม รวมทั้งภูมินามต่างๆ (ชื่อเกาะ แหลม อ่าว หาดทราย ฯลฯ ที่เป็นภาษาอูรักลาโว้ย) ซึ่งสะท้อนความผูกพันระหว่างชุมชนกับพื้นที่โดยรอบที่เป็นบ้าน แหล่งอาหาร และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
ดร.นฤมลกล่าวว่า ชาวเลเกาะหลีเป๊ะในสมัยก่อนพึ่งพาตัวเองได้เพราะมีการปลูกข้าวไร่ ปลูกพืชสวนครัว ผลไม้ ฯลฯ ต่อมาวิถีชีวิตเริ่มเชื่อมโยงกับระบบตลาดมากขึ้น มีเถ้าแก่ พ่อค้าคนกลาง ซึ่งเดิมก็อยู่ร่วมกันในลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูล แต่ต่อมาเมื่อมีการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติฯ มีการโยกย้ายชาวเลมาอยู่รวมกันที่เกาะหลีเป๊ะ การพึ่งพาตัวเองเริ่มลดลง แต่พึ่งพาตลาดและเถ้าแก่มากขึ้น และเมื่อการท่องเที่ยวเข้ามา ผู้ที่มีทุนมากกว่าก็ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น เรื่องที่ดินที่มีความไม่ชัดเจนก็ก่อปัญหาบานปลายมากขึ้น การปล่อยให้มีการขยายตัวของการท่องเที่ยวโดยไม่มีการควบคุม ทั้งในแง่การวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่และทรัพยากร ส่งผลกระทบทั้งในแง่กายภาพและส่งผลต่อชีวิตวัฒนธรรมชาวเลด้วย เมื่อที่ดินมีราคาพุ่งสูงขึ้น การพัฒนาเกาะหลีเป๊ะจึงเติบโตไปโดยรุกเข้าไปในพื้นที่ของความเป็นชุมชน พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ธรรมชาติ
“การปล่อยให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง เน้นแต่การเติบโตและผลกำไรของธุรกิจ ทำให้ประโยชน์สาธารณะถูกมองว่าเป็นเรื่องลำดับรองลงมา ที่ผ่านมาการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แหล่งการค้า มีการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์และพื้นที่ธรรมชาติ ที่เกาะหลีเป๊ะ พื้นที่ลุ่มต่ำและเส้นทางน้ำถูกถมถูกเปลี่ยน จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงฝนชุก และชุมชนชาวเลก็ต้องเผชิญปัญหาอยู่ร่ำไป เด็กชาวเลที่เคยมีหาดทรายมีพื้นที่ไว้วิ่งเล่นก็แทบไม่เหลือพื้นที่เหล่านั้นแล้ว เพราะริมหาดกลายเป็นพื้นที่ของนักท่องเที่ยว จึงกลายเป็นความแปลกแยกในบ้านของตัวเอง เราจึงต้องตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบริเวณหมู่เกาะนี้ รวมทั้งการพัฒนาท่องเที่ยวทำให้คุณภาพชีวิตและความสุขของชุมชนดั้งเดิมดีขึ้นหรือไม่ หรือยิ่งสร้างความทุกข์ให้กับเจ้าบ้านและทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงยิ่งขึ้น” ดร.นฤมล กล่าว
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม กล่าวว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นตัวตั้งและเป็นผู้กำหนดทิศทางจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับพื้นที่เช่นเกาะหลีเป๊ะ และประเทศไทยก็มีตัวอย่างความสำเร็จในหลายพื้นที่ โดยในช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่การท่องเที่ยวซบเซาลง น่าจะเป็นช่วงที่ทำให้เราได้ทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้น และวางแผนการท่องเที่ยวที่ “ยั่งยืน” ที่แท้จริง และในทางกลับกัน ถ้านักท่องเที่ยวและธุรกิจมีสำนึกรับผิดชอบ ก็จะช่วยสร้างเงื่อนไขให้การท่องเที่ยวเอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่าย
—————