
สำนักข่าว SHAN ของไทใหญ่เผยแพร่บทความโดย จายยอดคำ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของไทใหญ่ในหลายๆ พื้นที่ของรัฐฉานได้สูญหาย หรือในบางพื้นที่กำลังสุ่มเสียงจะสูญหายในอีกไม่ช้า เนื่องจากขณะนี้เกษตรในรัฐฉาน ประเทศพม่า ได้หันมาปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวจากประเทศจีนแทน เพราะปลูกง่ายและให้ผลผลิตดี และยังสามารถส่งขายไปยังประเทศจีนได้ นอกจากนี้ พันธุ์ข้าวจีนยังเข้าถึงเกษตรกรได้ง่าย บางพื้นที่ของรัฐฉาน มีการนำพันธุ์ข้าวจีนมาปลูกตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่ก่อน
สื่อไทใหญ่ระบุว่า ประชากรส่วนใหญ่ในรัฐฉานนั้นทำเกษตรกรรมและส่งขายพืชผลทางการเกษตรไปขายยังเขตพม่า ประเทศจีนและไทยรวมอยู่ด้วย พื้นที่ที่มีผลผลิตข้าวมากที่สุดคือเมืองเชียงตุง ทางภาคตะวันออกของรัฐฉาน โดยพื้นที่นี้มีการปลูกข้าว 2 รอบ คือช่วงฤดูหนาว (นาโหลง) และฤดูฝน (นาหลอ) พื้นที่ทางใต้ของรัฐฉานที่มีการปลูกข้าวมากที่สุดคือทุ่งราบเมืองนาย ทุ่งโปง เมืองสี่แส่ง และหนองหมอน ส่วนทางภาคเหนือที่มีการปลูกข้าวมากที่สุดคือเมืองแสนหวี
ถึงแม้รัฐฉานจะเป็นอีกรัฐหนึ่งที่มีผลผลิตข้าวจำนวนมาก อย่างไรก็ตามกลับพบว่า พันธุ์ข้าวที่ผลิตได้ในรัฐฉานส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวจากจีนคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของพันธุ์ข้าวทั้งหมด
ชาวนาในเมืองเชียงตุงเผยว่า เหตุที่เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกข้าวพันธุ์จีน เนื่องจากต้องการส่งขายไปยังจีนเพื่อสร้างรายได้ นอกจากนี้พันธุ์ข้าวจีนยังให้ผลผลิดดี แต่พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทใหญ่นั้นไม่ให้ผลผลิตดี ยกตัวตัวอย่าง หากปลูกพันธุ์ข้าวจีนจะได้ 100 กระสอบ แต่หากเป็นพันธุ์ข้าวไทใหญ่จะได้ 70 กระสอบ โดยพันธุ์ข้าวจีนที่ปลูกกันในพื้นที่คือ พันธุ์ข้าว “ส่วนเหย่นเอ” และพันธุ์ข้าว “203” เป็นต้น ผลผลิตข้าวในเมืองเชียงตุงจะส่งขายไปยังเมืองลาและจีน ราคาข้าวอยู่ที่กระสอบละ (40 กิโลกรัม) 25,000 จั้ต (ราว 391 บาท) โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวจีนนั้นมาแพร่หลายในแถบเมืองเชียงตุงตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
ขณะที่เกษตรกรไทใหญ่ในเมืองแสนหวีก็ปลูกข้าวพันธุ์จีน เพื่อส่งขายไปยังจีน ขณะที่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองนั้นจะปลูกไว้กินตามครัวเรือน ชาวนาในเมืองแสนหวีระบุว่า ข้าวพันธุ์ไทใหญ่นั้นให้ผลผลิตไม่ดี มีแมลงรบกวน และไม่มีปุ๋ยบำรุงหรือยาฆ่าแมลง เหมือนพันธุ์ข้าวจีนที่มีทั้งปุ๋ยบำรุงและยาฆ่าแมลง ทำให้ได้ผลผลิตดี
“พันธุ์ข้าวไทใหญ่แทบจะสูญหายหมด หายากมาก เนื่องจากยุคสมัยนี้ การเข้าถึงพันธุ์ข้าวจีนก็ทำได้ง่าย สามารถไปหาซื้อที่ได้ทั่วไป แตกต่างจากเมล็ดข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทใหญ่ที่ต้องมีวิธีและขั้นตอนในการเก็บรักษา และต้องมียุ้งฉางไว้เก็บ และการเก็บรักษาดูแลยาก ดังนั้นชาวนาจึงเลือกวิธีง่ายคือไปซื้อเมล็ดพันธุ์ของคนอื่นมาปลูก” ชาวแสนหวีกล่าวเสริม
พันธุ์ข้าวจีนที่นิยมปลูกในเมืองแสนหวีคือ พันธุ์ข้าว 881 (หอม) พันธุ์ข้าว 881 (โหลง) พันธุ์ข้าว 502 ,203 และ 204 เป็นต้น ส่วนพันธุ์ข้าวไทใหญ่อย่างข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวเป็นต้นนั้นปลูกส่วนน้อย ขณะที่ชาวนาในเมืองนายเปิดเผยว่า พันธุ์ข้าวดั้งเดิมอย่างพันธุ์ข้าวซางโหลง พันธุ์ข้าวซางหอมและพันธุ์ข้าวเม็ดโก้ด แทบจะหาไม่ได้ในพื้นที่ ต้องสั่งซื้อจากเมืองปั่นหรือนำเข้าจากไทย ผลผลิตข้าวในเมืองนายนั้นเลี้ยงคนในเมืองลางเคือ เมืองล็อกจอก หยองห้วยและในแถบพื้นที่ราบ
ส่วนพื้นที่เมืองทุ่งโปง ซึ่งเป็นพื้นที่มีชื่อเสียงในการเพาะปลูกข้าวอีกพื้นที่หนึ่ง พบว่าเกษตรกรในพื้นที่นี้ก็ได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวจีนมาปลูกครึ่งต่อครึ่งกับเมล็ดพันธุ์ข้าวไทใหญ่ โดยพันธุ์ข้าวจีนเริ่มนำมาปลูกเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ส่วนพันธุ์ดั้งเดิมที่รักษาและปลูกต่อๆกันมาในทุ่งโปงคือพันธุ์ข้าวน้ำคำ พันธุ์ข้าวข้าวเม็ดโก้ด พันธุ์ข้าวข้าวเหนียวหอม พันธุ์ข้าวข้าวเหนียวเม็ดยาว พันธุ์ข้าวข้าวหนอง พันธุ์ข้าวโปงโหลงเป็นต้น ข้าวที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้ส่งขายไปยังเมืองมัณฑะเลย์ เมืองย่างกุ้ง และเมืองตองจี (ต้นตี) เมืองหลวงของรัฐฉาน
สื่อไทใหญ่อ้างว่า พันธุ์ข้าวจีนนั้นเริ่มแพร่เข้ามาในรัฐฉานเมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้ว และพันธุ์ข้าวจีนกำลังคุกคามให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเสี่ยงสูญหาย หากไม่มีการรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวดั้งเดิมอย่างจริงจัง
ชาวไทใหญ่รายหนึ่งซึ่งทำงานด้านภาคประชาสังคมในภาคเหนือของรัฐฉาน กล่าวว่า ชาวไทใหญ่จะต้องกลับมาค้นหาและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวดั้งเดิมไว้ เหมือนที่ชาวคะฉิ่นกำลังทำ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูพันธุ์ข้าวดั้งไทใหญ่กับพันธุ์ข้าวจีนนั้นมีความแตกต่างกันอยู่หลายอย่าง เช่น พันธุ์ข้าวไทใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวตามธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี สามารถเก็บรักษาขยายพันธุ์ได้ต่อไป แต่พันธุ์ข้าวจีนที่ปลูกกันในรัฐฉานนั้นต้องใช้สารเคมีและสามารถปลูกกินครั้งต่อครั้งเท่านั้น ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ หากต้องการปลูกอีกก็ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อีกรอบเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับผู้บริโภค
“ข้าวเรามีประโยชน์ ปลอดสารเคมีเพราะใช้ปุ๋ยขี้วัว ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด สามารถขยายพันธุ์ได้ตลอด แค่กินน้ำต้มข้าวก็รู้สึกมีเรี่ยวมีแรง แต่ข้าวพันธุ์คนอื่นนั้น อย่าว่าจะกินน้ำข้าวต้มเลย ยังต้องล้างแล้วล้างอีก เพื่อให้สารเคมีเจือจาง กินแล้วท้องอิ่ม แต่ส่งผลกระทบกับร่างกาย” จายหม่องจี นักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์เมืองนายกล่าว โดยเขายังออกมาเรียกร้องให้ชาวนาชาวสวนในรัฐฉานหันกลับมารักษาเมล็ดพันธุ์พืชผักอื่นๆไม่ให้สูญหาย
มีรายงานว่า นอกจากเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้ว ยังมีเมล็ดพืชพันธุ์อื่นๆของจีน เช่นผักชี ผักกาด ข้าวโพด เป็นต้น ก็กำลังแพร่ขยายมายังรัฐฉาน เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ รัฐฉานยังเป็นแหล่งปลูกมันฝรั่งที่ใหญ่ที่สุดในพม่า คิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถแก้ปัญหามันฝรั่งล้นตลาด หรือหาตลาดรองรับให้กับเกษตรกร แต่กลับนำเข้ามันฝรั่งจากจีนมายังรัฐฉาน เรื่องนี้ก็กำลังสร้างผลกระทบให้กับคนในพื้นที่ รัฐฉานนั้นมีพื้นที่เพาะปลูกราว 1,196,00 เอเคอร์(3,025,880 ไร่ ) โดยเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว 119,000 เอเคอร์ (301,070 ไร่)
_______