นายตาน ซิน ( Than Sin) สมาชิกสมาคมพัฒนาทวาย ( Dawei Development Association) เมืองทวาย ประเทศพม่า เปิดเผยในระหว่างการพบปะกับสื่อมวลชนไทย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย ดำเนินไปไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด เนื่องจากถูกแรงต่อต้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนักอนุรักษ์จาก 2 ประเทศอย่างต่อเนื่องทำให้โครงการหยุดชะงัก โดยเฉพาะในส่วนท่าเรือน้ำลึกนั้น บริษัทอิตาเลียนไทย ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ต่อ นอกจากการสร้างหมู่บ้านไว้รองรับการย้ายครัวเรือนกว่า 32,000 ครัวเรือนและการสร้างอาคารสำนักงานเท่านั้น
นายตาน ซิน กล่าวว่าชณะนี้ชาวบ้านรู้สึกกังวลใจ เนื่องจากบริษัทยังดำเนินการได้ คือ การสร้างถนนเชื่อมต่อถึงประเทศไทยสู่บริเวณท่ารเรือน้ำลึกประมาณ 132 กิโลเมตร และโครงการท่าเรือเล็กบริเวณหาดมองมะกัน เพื่ออำนวยความะดวกด้านการก่อสร้าง ขณะที่โครงการย่อยอื่นๆ เช่น การทำเหมืองถ่านหินเพื่อส่งขายไทยทางชายแดนกาญจนบุรี ที่ดำเนินการโดยบริษัท East star ของไทย อันเป็นบริษัทลูกของบริษัท Energy Star ซึ่งขณะนี้ได้รับสัมปทานแล้ว 60 เอเคอร์ ก็กำลังเป็นปัญหาที่ชาวบ้านในทวายกำลังกังวลอย่างมาก เกรงว่าสารพิษจากเหมืองจะเป็นอันตรายต่อแม่น้ำและชุมชนโดยรอบ ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ตอนนี้หากเส้นทางการเชื่อมต่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีนและไทย ดำเนินโครงการใหญ่ได้หลายโครงการ
ด้านนาย ด้านนาย อู จอ ติท (U kyaw Thet) ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาปี 88 (อดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของพม่าตั้งแต่ปี 1988) กล่าวว่า การสร้างเส้นทางถนนเชื่อมต่อชายแดนไทย-พม่า นั้นพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นและซับซ้อนอีกกรณีคือ ความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินในเมืองทวาย โดยขณะนี้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินในเขตชนบทเป็นประเด็นที่ไม่สามารถจัดการได้ตั้งแต่สมัยที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ( Karen National Union : KNU) กับรัฐบาลพม่าสู้รบกัน แต่จากการติดตามสถานการณ์เป็นเวลากว่า 5 ปี พบว่าปัญหารุนแรงขึ้นเมื่อโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเกิดขึ้น โดยมีปัญหาใหญ่ 2 กลุ่มหลักได้แก่ 1 ปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินใหม่ และเจ้าของที่ดินเก่าหลังการเจรจาหยุดยิงระหว่างเคเอ็นยูและรัฐบาลพม่ายุติลง 2 ปัญหาขัดแย้งระหว่างนายทุนสวนปาล์ม-นายทุนสวนยางพาราของพม่า กับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งปลูกหมากเป็นอาชีพหลัก
นายอู จอ ติท กล่าวว่าที่ดินในเขตตะนาวศรีส่วนมากเป็นที่ดินทับซ้อน โดยเคเอ็นยูกับรัฐบาลพม่าจะออกกฎหมายเรื่องที่ดินต่างกัน ซึ่งหลังจากการเจรจาหยุดยิงแล้วเสร็จหลายเวที รัฐบาลพม่าก็พยายามขายที่ดินให้นายทุนใช้ปลูกยางพารา จากข้อมูลพบว่าการสัมปทานที่ดินให้นายทุนมีจำนวนกว้างถึง 100,000 –150,000 เอเคอร์ และต่อมาเมื่อมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเกิดขึ้น ปรากฎว่าที่ดินราคาสูงขึ้น 8-10 เท่า ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เร่งทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับรัฐบาลพม่า เพื่อปลูกยางพาราและปลูกปาล์ม โดยไม่ผ่านความเห็นของเคเอ็นยู ซึ่งมีกฎหมายที่ดินในพื้นที่ปกครองที่แตกต่างกัน ทำให้ปัญหาความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนชาวบ้านก็ไม่มีโอกาสต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินของตนเอง จึงทำให้ขณะนี้ทุนใหญ่ครอบงำพื้นที่ในเมืองทวายอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้สิ่งที่ชาวบ้านยังตั้งคำถามคือ ไม่แน่ใจว่านายทุนที่ปลูกยางพารานั้นมีความสัมพันธ์กับคนไทยหรือไม่ เพราะส่วนมากเป็นคนร่ำรายจากการทำประมงในประเทศไทยแล้วเก็บเงินมาลงทุนใน พม่าหลังเปิดประเทศ
สมาชิกกลุ่ม 88 ฯ กล่าวว่า สำหรับความขัดแย้งเรื่องที่ดินของชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของเดิมและนายทุนเจ้าของใหม่ใน พื้นที่ทวายนั้น คือ การครอบครองที่ดินของชาวทวายโดยส่วนมากไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ถาวร แต่ภายหลังการเปิดประเทศ รัฐบาลพม่าได้กำหนดไว้ว่าให้ชาวพม่าที่ต้องการที่ดินเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยทำคำร้องขอที่ดินในการครอบครอง โดยระบุว่า กรณีชาวบ้านออกนอกประเทศ เช่น หนีสงครามสู้รบไปหลบที่ประเทศไทยนานเกิน 3 ปี ที่ดินจะตกเป็นของรัฐบาลทันที และการทำรังวัดก็จะเป็นไปโดยไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ใดๆ ซึ่งที่ดินจำนวนมากที่ยึดไปรัฐบาลให้สัมปทานกับนายทุนเป็นส่วนมาก แต่หลังจากเปิดประเทศ คณะกรรมการจัดการที่ดิน กรมที่ดินได้ระบุเงื่อนไขว่า ใครต้องการที่ดินสำหรับทำกินให้ยื่นคำขอ โดยแบ่งเป็นที่ดินในปกครองของกรมที่ดิน และที่ในปกครองของกรมป่าไม้ ซึ่งส่วนมากเป็นที่ดินสำหรับทำการเกษตรเพื่อประโยชน์แต่ละครัวเรือน แต่สิ่งที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนคือ การขายสู่ทุนใหญ่และก่อเกิดกระบวนการซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไรเช่น ปลูกพืชเศรษฐกิจ
“ขณะนี้ไม่ใช่แค่ปัญหานายทุนยางพารา และสวนปาล์มเท่านั้นที่สร้างความขัดแย้ง เพราะหลังจากโครงการทวายเข้ามา ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่อ้างว่าครอบครองที่ดินเก่าที่นานกว่า 30 ปี ได้ตัดสินใจขายที่ดินบริเวณหน้าบ้านเพื่อสร้างถนนสาธารณะและบางคนที่อยู่ตรงจุดสร้างถนนเชื่อมโยงชายแดนไทย-พม่า ก็ตัดสินใจขายสู่บริษัท เพื่อหวังจะได้รับค่าชดเชย แต่จากการตรวจสอบปรากฎว่าที่ดินซึ่งถูกประเมินราคาขายไปนั้น มีเจ้าของมากกว่า 1 คน โดยต่างคนต่างก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ชัดเจน โดยต่างคนต่างใช้หลักต่อสู้โดยอ้างบรรพบุรุษเก่าแก่” สมาชิกกลุ่ม 88 ฯ กล่าว
นายอู จอติทกล่าวว่าที่เป็นปัญหาอีกระดับ คือ ที่ดินในการสร้างถนนเชื่อมต่อไทย –พม่า นั้น ส่วนมากเป็นที่ดินทับซ้อน ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นที่ดินของเคเอ็นยู หรือ ที่ดินรัฐบาลพม่าที่ยึดไป โดยทั้งสองฝ่ายมีกฎหมายที่ดินเป็นของตัวเอง ปัญหาที่หนักที่สุด คือ กองทัพเคเอ็นยูมีแผนที่ครอบครองที่ดินต่างจากแผนที่ของรัฐบาลพม่า โดยกฎของเคเอ็นยู หลังสงครามคือ การแบ่งที่ดินทำกิน สร้างที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนตามจำนวนบุคคลในครัวเรือน และไม่อนุญาตให้ซื้อขายเพื่อธุรกิจและเก็งกำไร ส่วนรัฐบาลพม่านั้นมีกฎหมายไว้แต่ไม่เคยมองเห็นประโยชน์ของประชาชน คือ มีกฎหมายทีดินชัดเจนแต่ส่วนมากเปิดโอกาสให้ทุนทั้งในพม่าและต่างชาติเข้ามาซื้อขายได้ตามศักยภาพเงินทุน แต่ไม่ยอมเผยแพร่ขั้นตอนการขอที่ดินอย่างถูกกฎหมายให้แก่ประชาชนในปกครอง ทำให้ชาวทวายไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลในด้านการบริหารทรัพยากรที่ดิน ภายหลังเปิดประเทศ ทางภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องเร่งรวบรวมข้อมูลและทวงสิทธิอันชอบธรรมกลับสู่ ชาวบ้านที่ทวาย เพราะเกรงว่า เขตตะนาวศรีทั้งเขตจะกลายเป็นแหล่งยางพาราและปาล์ม ทำให้ชาวบ้านขาดอาชีพและการงานที่มั่นคง
อนึ่งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายประกอบด้วยโครงการย่อย 4 โครงการ ได้แก่ 1) ท่าเรือน้ำลึก 2) นิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ โรงเหล็ก โรงปุ๋ยโรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ 3) เส้นทางการคมนาคมได้แก่ ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เชื่อมระหว่างเมืองทวาย สหภาพพม่า กับประเทศไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี และ4) ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อนบริษัทฯ