
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหากรณีที่ชาวบ้าน 113 คนร้องเรียนเรื่องขอเช่าที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)
ทั้งนี้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเดิมทีกรมป่าไม้ได้ให้เอกชนรายใหญ่เช่าปลูกป่าหลายพันไร่ซึ่งเอกชนได้นำที่ดินบางส่วนไปให้ชาวบ้านเช่าต่อในราคาที่สูง และได้หมดสัญญาเช่าเมื่อปี 2561 ทำให้ชาวบ้าน 2 กลุ่มเรียกร้องให้นำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้ชาวบ้านเช่าโดยตรง พร้อมเรียกร้องไม่ให้มีการต่อสัญญาสัมปทานให้เอกชนรายใหญ่ โดยชาวบ้านกลุ่มแรกจำนวน 113 คนต้องการเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรกรรม และชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีเชื้อสายกะเหรี่ยงต้องการนำที่ดินที่เคยเป็นของบรรพบุรุษกลับคืนมาทำไร่หมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิม
อย่างไรก็ตามการเดินทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งได้เพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน 113 ราย โดยก่อนหน้านี้ตัวแทนชาวบ้านได้เข้าไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการซึ่งมีนายพีระพันธุ์เป็นประธาน โดยนายพีระพันธุ์ได้พยายามไล่จี้ให้กรมป่าไม้ยินยอมให้ชาวบ้านรายย่อยได้เช่าที่ดิน แต่กรมป่าไม้ยังไม่ให้คำตอบที่ชัดเจนและพยายามหาพื้นที่อื่นๆมาให้ชาวบ้านแทน เพราะได้มีการต่อสัญญาสัมปทานแปลงใหญ่ให้กับเอกชนไปแล้ว ทำให้ชาวบ้านและนายพีระพันธุ์ต่างข้องใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีพบปะกับชาวบ้าน ได้สอบถามปัญหาโดยกล่าวว่า นายกฯ ทำเรื่องคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาหลายปีแล้ว จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาให้กับผู้มีรายได้น้อย ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วจนถึงรัฐบาลนี้ วันนี้ถือโอกาสมาดูว่ามีปัญหาอะไรอีกบ้าง ยืนยันว่าตนมาในนามนายกรัฐมนตรี รักทุกคนอยู่แล้ว ยืนยันต้องทำให้ถูกต้อง และระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ เดินพูดคุยกับชาวบ้าน แต่ไมค์ติดๆดับๆ จนชาวบ้านตะโกนแซวว่า “ไม่ต้องใช้ไมค์ นายกฯไฟแรงอยู่แล้ว”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้มาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองมีนโยบายเรื่องความเท่าเทียม และการเข้าถึงโอกาสดูแลผู้มีรายได้น้อย แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย กฎกติกาต้องยอมรับซึ่งกันและกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรี รับปากกับชาวบ้านในเรื่องที่ทำกินว่า หลักการทั้งหมดนั้นอนุมัติให้อยู่แล้ว แต่ต้องตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ว่าถูกต้องหรือไม่ โดยได้สั่งการให้ดูที่ดิน 2 แปลงใหญ่ ว่าเป็นการเช่าตามกฎหมายหรือไม่ ออกมาแบบนั้นได้อย่างไร ต้องไปตรวจสอบอีกที พร้อมระบุอีกว่า กติกาสำคัญคือต้องตรวจสอบว่า ชาวบ้าน 113 ราย มีที่ดินทำกินที่อื่นหรือไม่ ถ้ามีจะไม่ได้รับการจัดสรร
พล.อ.ประยุทธ์ ถามชาวบ้านว่า ใครเป็นคนจัดสรรให้ ชาวบ้านระบุว่า “คุณพี” นายกฯ ถามว่า “คุณพี” คือใคร พร้อมระบุว่าแต่ไม่ว่าใคร ก็ตัดสินไม่ได้ เพราะตนคือนายกฯ ถ้านายกฯ ตัดสินไม่ได้ ใครก็ทำให้ไม่ได้เหมือนกัน
ทั้งนี้ชาวบ้านฟ้องนายกรัฐมนตรีว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ยอมดำเนินการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงรีบปรามว่า “ไม่ใช่ศัตรูกัน คนไทยด้วยกันทั้งนั้น ตรงนี้ผมได้มอบหมายให้ผู้ว่าฯไปดำเนินการเรียบร้อยแล้ว”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการไปแล้วว่า ให้ดำเนินการให้ชาวบ้านทั้ง 113 ราย นี้ก่อน ซึ่งหากทุกอย่างถูกต้องจะต้องทำผัง และจับสลากว่าใครอยู่ตรงไหน ซึ่งจากการเอกสาร พบว่า มีชาวบ้านไม่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ 59 ราย เหลือเพียง 54 รายที่ถูกต้อง
จากนั้น นายกรัฐมนตรี สอบถามถึงที่ดินแปลงหนึ่งที่มีการไปล้อมรั้วลวดหนาม ว่า บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปหรืออย่างไร พร้อมถามว่า “โอเคและพอใจหรือไม่ ผมมาประสานให้ทุกอย่างเดินหน้า ไม่ได้มาทำเพื่อให้ทุกคนรักผม หากจะรักก็รักอยู่แล้ว แต่ทำวันนี้ คือทำให้ถูกต้อง วันนี้ผมมาประสาน เพื่อให้ดำเนินงานต่อไปให้ได้ ไม่ได้ทำเพื่อเอาใจ หากสำเร็จต้องให้เครดิตกับผู้ว่าฯ และคณะทำงาน อย่าไปโกรธกัน โกรธกันไม่ได้ เพราะต้องรักษากฎหมาย หลักนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ต้องเดินคู่กัน หากขัดแย้งกันบ้านเมืองก็เดินต่อไปไม่ได้ ต้องสร้างความรักความสามัคคี จะบอกว่ารักนายกฯหรือไม่ชอบผู้ว่าฯ ก็ไม่ได้ ต้องมีกฎหมายดูแล วันนี้การทำงานก็มีรองนายกฯอยู่หลายคน”
ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าปัญหามี แต่จะให้ลงไปทุกพื้นที่คงไม่มีเวลา เพราะมีปัญหาและงานอีกเยอะที่ต้องทำ แค่ขอให้ยกปัญหาครั้งนี้ เป็นบทเรียน เพื่อจะนำร่องไปแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่อื่นได้อย่างไร
จากนั้น มีตัวแทนชาวบ้านอีก 6 คน ขอให้นายกฯ แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่ทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ โดยมีชาวบ้าน 95 ครอบครัว ที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ ปัญหานี้ชาวบ้านเข้ามาทำกินในพื้นที่ ก่อนปี 2506 ที่ภาครัฐเข้ามาจัดระเบียบ ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน ทำให้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้ชาวบ้านใจเย็น ตอนนี้กำลังอยู่ในกติกา ที่กำลังแก้อยู่ และจะรับเรื่องนี้ไปพิจารณา ซึ่งปัญหานี้เป็นการประกาศพื้นที่ทับซ้อน หลังจากจัดทำพื้นที่อัตรา 1:4000 วันนี้ตนมาแล้ว ก็จะรับเรื่องไว้ใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนเดินทางกลับ ว่า “วันนี้ผมพูดในนามรัฐบาล ไม่ได้มาหาเสียง หน้าที่ของ นายกรัฐมนตรีคือให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทั่วประเทศ การลงพื้นที่ครั้งนี้ พร้อมนำแนวทางไปใช้กับพื้นที่อื่นด้วย เพราะ คทช. จะจัดระเบียบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีปัญหาอยู่มาก ชาวบ้านมีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ แต่นายกฯในฐานะประธาน คทช. ก็ได้มารับฟังปัญหาแล้ว แก้ไขเพื่อลดความขัดแย้ง ให้ ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ซึ่งทั้งหมดคือหน้าที่ของรัฐบาล”
ขณะเดียวกันชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งในนามเครือข่ายกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน 3 หมู่บ้านได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเรียกร้องขอจัดการพื้นที่วัฒนธรรม หลังจากร้องเรียนผู้บริหาร ทส.มาแล้ว 2 ปีแต่ไม่มีความคืบหน้า โดยเนื้อหาในหนังสือร้องเรียนระบุว่าเนื่องด้วยชุมชนกะเหรี่ยง(โผล่ว) เป็นชุมชนดั้งเดิมมีประวัติศาสตร์อาศัยอยู่มานานกว่า 300 ปีและถูกยกให้เป็นแผ่นดินแห่งสัญญา ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมารัฐยกพื้นที่ให้เอกชนสัมปทานป่าไม้และให้นายทุนเช่าเข้าถึงทรัพยากร สร้างสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี สร้างอ่างเก็บนํ้าและประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทําให้เกิดผลกระทบมากมาย
ในหนังสือร้องเรียนระบุว่า ชาวบ้านต้องอยู่อย่างยากลําบาก ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทํากิน และที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทํากิน ไม่สามารถทํากินในแผ่นดินบรรพบุรุษของตนเองและยังส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อป่าไม้และระบบนิเวศ
//////////////