
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่บริเวณป่าสักทอง ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานร่วมกับตัวแทนชาวบ้านในตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ จัดพิธีบวชป่าสักทอง สืบชะตาป่าดงสักงาม พร้อมด้วยอ่านแถลงการณ์สนับสนุนคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง โดยตัวแทนชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ นิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป เพื่อประกอบพิธีบวชป่าสักทอง และสืบชะตาป่าดงสักงาม พร้อมปฏิญาณตัวร่วมกันในการต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นด้วยชีวิต เนื่องจากเป็นผืนป่าขนาดใหญ่กว่า 2 แสนไร่ ที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้
นายณัฐปคัลปภ์ ศรีคำภา อายุ 59 ปี ประธานกลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า ในส่วนของรัฐที่ยังมีความคลุมเครือในการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบนล่าง ยังไม่มีชัดเจนก็คือการยังไม่มีการเพิกถอนยกเลิกของทางคณะรัฐมนตรีที่ผูกโครงการแก่งเสือเต้นไว้ ดังนั้นถ้าหากแค่มีคำสั่งชะลอโครงการไว้เฉยๆ โดยไม่มีการยกเลิก หากรัฐบาลยุคไหนขึ้นมา และมีแผนจะสร้างเขื่อนอีก ก็หยิบยกขึ้นมาสร้างได้ ในจุดนี้เราจึงมีความกังวล

นายดนัย บุญทิพย์ อายุ 45 ปี คณะกรรมการเครือข่ายสมัชชาคนจน กล่าวว่า ตอนนี้พี่น้องเรายังรวมตัวกันร่วมสู้กันอยู่ และยังรักสามัคคีกัน ต่อไปคือการวางแนวทางเพื่ออนุรักษ์ป่าและเผยแพร่แนวคิดให้กระจายให้ทั่วทั้งประเทศแก่พี่น้องประชาชน และก็สร้างเครือข่ายขึ้นมาให้รับรู้ร่วมกันซึ่งตอนนี้ก็นำโมเดลการอนุรักษ์ป่าสักทองมาใช้เป็นหลัก”
ขณะที่นายการัณ ดิษเจริญ อายุ 25 ปี ตัวแทนของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน ได้อ่านแถลงการณ์สนับสนุนการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นโดยระบุว่า 33 ปี ของชาวบ้านในพื้นที่สะเอียบที่ได้ลุกขึ้นปกป้องชุมชน ปกป้องทรัพยากร ปกป้องวิถี ที่ชุมชนได้กำหนดอนาคตของตนเอง จากความผลักดันของรัฐผ่านหลายยุคหลายสมัยกรณีโครงการแก่งเสือเต้น แต่การผลักดันโครงการได้ถูกคัดค้านโดยเจ้าของทรัพยากรในท้องที่จนถึงปัจจุบัน
แถลงการณ์ระบุว่า เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานได้ลงมาพื้นที่สะเอียบ เพื่อเรียนรู้การปกป้องทรัพยากร ปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องบ้านเกิด จึงขอร่วมสนับสนุนกระบวนการเคลื่อนไหวและคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนยมบน-ยมล่าง และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ 1. ให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง อย่างเร่งด่วน 2. ให้เพิกถอนพื้นที่ตำบลสะเอียบ ออกจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม 3. ให้สนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำแบบ “สะเอียบโมเดล” 4. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่