นางสาวดอ ซูซู เว ( Daw Su Su Swe ) ตัวแทนจากสมาคมสตรีทวาย ( Tavoyan Woman Union ) เปิดเผยระหว่างการพบปะกับสื่อมวลชนประเทศไทย ที่เมืองทวาย ประเทศพม่าว่า ขณะนี้ชาวบ้านในเมืองทวาย เขตตะนาวศรี ประเทศพม่า รู้สึกกังวลกรณีที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการวางท่อก๊าซและขุดเจาะก๊าซเพื่อส่งออกประเทศไทยที่ผลิตในแหล่งยาดานา ซึ่งมีระยะทางจากพม่า –ชายแดนไทย บริเวณบ้านอีต่อง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 409 กิโลเมต (ในทะเล 346 กม. บนบก 63 กม.) โดยการดำเนินการของบริษัทไม่เคยมีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของคนพม่าและไม่มีการจ่ายค่าชดเชยกรณีการวางท่อก๊าซใดๆ ทั้งๆ ที่พื้นที่การวางท่อก๊าซตัดผ่านที่ดินที่เป็นสวนหมากและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวทวายจำนวนมาก
นางสาวดอ ซูซู เว กล่าวว่า ชาวทวายเริ่มไม่วางใจในการดำเนินการของ ปตท.และสายสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า เพราะไม่แน่ใจว่าได้ตกลงอะไรกันไว้บ้าง โดยตอนที่มีการขุดเจาะหลุมวางท่อก๊าซในช่วงแรกๆ เคยมีชาวทวายยื่นเรื่องขอให้ ปตท.รับผิดชอบค่าเวนคืนที่ดินที่ขุดเจาะ แต่ไม่ได้รับความสนใจ ชาวบ้านจึงตัดสินใจกระโดดลงหลุมยึดที่ดินสำหรับเดินท่อแล้วพร้อมท้าให้ เจ้าหน้าที่กลบร่างในหลุม หากไม่ยอมชดใช้เงินในส่วนที่ตัดผ่านที่ดินทำกิน ครั้งนั้นปตท.เคยรับปากว่าจะชดใช้ให้ โดยขอเวลาเจรจากับรัฐบาลแต่ไม่มีการตอบรับจนถึงปัจจุบัน ชาวทวายจึงมีความกังวลว่า ปัญหาความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงขึ้น หาก ปตท.และรัฐบาลพม่ายังนิ่งเฉย
“พวกเราไม่แน่ใจว่าคนไทยรู้หรือเปล่า ว่า ปตทไม่เคยให้เกียรติเรา ไม่เคารพสิทธิเราเลย การลงทุนในอดีตที่ผ่านมา เราไม่มีสิทธิจะประท้วงเพราะรัฐบาลเผด็จการไม่อนุญาต คนทวายไม่มีใครกล้าออกมาต้าน ได้แต่ทำอย่างเงียบๆ แต่ตอนนี้เรามีสิทธิพูดถึงปัญหา เราอยากให้รัฐบาลเข้าใจว่า การเปิดการลงทุนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน คนทวายไม่เคยได้รับสิทธิที่ถูกต้องเลย กฎหมายที่ดินก็ยังไม่ลงตัว การแบ่งที่ดินหลังเปิดประเทศเพื่อให้คนพม่าใช้ครองที่ดินทำประโยชน์แต่ละครอบครัว ก็ยังไม่ลงตัวด้วยซ้ำ เดือนมีนาคม 2557 นี้ ทาง ปตท.ก็จะส่งก๊าซรอบใหม่สู่ประเทศไทยแล้ว แต่การประเมินผลกระทบในพื้นที่กลับไม่มีใครสนใจ”นางสาว ดอ ซูซู กล่าว
ตัวแทนจากสมาคมสตรีทวาย กล่าวต่อว่า ตั้งแต่พม่าเปิดประเทศ ชาวทวายไม่เคยมองเห็นเลยว่า อะไรคือประโยชน์เพราะการต่อสู้ของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมีขึ้นแทบทุกพื้นที่ เช่น หลังจากสถานการณ์ท่าเรือน้ำลึกทวายเริ่มเงียบลงไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศขอเวลาทบทวนเรื่องแผนการลงทุนร่วมกับบริษัทไทย ในโครงการทวายฯ ชั่วคราว ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีของชาวทวาย ที่พอจะเห็นโอกาสในการระงับโครงการฯ แต่ก็ยังไม่น่าไว้ใจเพราะญี่ปุ่นเพียงแค่ระบุว่า ขอดำเนินการโครงการอุตสาหกรรมติลาวา ให้แล้วเสร็จก่อนเท่านั้น
ด้านนายตาน ซิน (Than Sin) สมาชิกสมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association :DDA ) ขณะนี้ประชาชนทวายอยู่ในช่วงขั้นตอนการทำหนังสือขออนุญาตสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยงหรือเคเอ็นยูและรัฐบาลพม่าเพื่อขอใช้พื้นที่ทวายในการแสดงจุดยืนต่อต้านการลงทุนอันไร้จริยธรรมของ ปตท.ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จก่อนการส่งก๊าศรอบใหม่ในเดือนมีนาคม 2557 เพื่อประกาศให้สาธารณะรับรู้ว่า คนทวายต้องการความเป็นธรรมจากนักลงทุนต่างชาติ และเรียกร้องให้ ปตท.รวมทั้งรัฐบาลพม่าศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนกรณีวางท่อก๊าซ โดยเชื่อว่าการชุมนุมหรือจัดรณรงค์เล็กๆ ในพื้นที่จะทำได้บ้างในยุคที่พม่าเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ
ด้านมล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระและกรรมการในอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา กล่าวว่า จริงๆแล้วแหล่งก๊าซยานาดา มีมาราวกว่า 10 ปี แล้ว โดยการลงทุนขุดเจาะก๊าซของบริษัทต่างๆ ในพม่ามี 3 บริษัท คือ 1 ปิโตรนาส 2 เชฟร่อนและ 3 ปตท. แต่ในส่วนของการวางท่อก๊าซนั้น เชื่อว่า เป็นของ ปตท.ทั้งสิ้น เพราะบริษัทอื่นใช้สิทธิบริษัทเอกชน แต่ ปตท.ใช้อำนาจมหาชน และความเป็นรัฐวิสาหกิจเข้าไปลงทุน โดยปิดบังข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ชายแดนมาโดยตลอด ขณะเดียวกันการเข้าถึงข้อมูลฝั่งพม่านั้นเป็นสิ่งที่ยาก และคนไทยส่วนไทยส่วนมากก็มองว่าไกลตัว หรือเป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อชีวิตโดยตรง
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวของ ปตท. คือ การใช้อำนาจเข้าไปลงทุนทั้งภาคทะเลและบนบก โดยการลงทุนในพม่า ปตท.ทำสัญญาในนามรัฐวิสาหกิจแบ่งกำไรให้รัฐบาลพม่า 25% ส่วนอีก 2 บริษัทหากต้องการขนส่งก๊าซจะต้องมีการจ่ายเงินให้ ปตท.เพื่อส่งออก แต่ไม่ทราบจำนวนรายได้ว่าในพม่านั้นต้องจ่ายเท่าใด ทั้งนี้การลงุทนดังกล่าวไม่เคยมีประวัติศึกษาผลกระทบทางคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของพม่า แต่วันนี้คนในพื้นที่ในพม่าเองยืนยันแล้วว่าไม่เอา แล้วทำไมคนไทยต้องยอม
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ในการลงทุนของปตท.ในนามรัฐวิสาหกิจ ระบุต่อสาธารณะว่า เป็นองค์กรพัฒนาด้านพลังงานที่ใช้มาตรฐานสากล แต่พม่าเป็นประเทศเดียวที่ ปตท.ไม่เคยใช้หลักสากลในด้านการให้ความสำคัญกับประชาชนเรื่องสิทธิมนุษยชนในการยินยอมให้ขุดเจาะและการเดินท่อก๊าซ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมากที่ชาวบ้านไม่ประท้วงและเป็นไปไม่ได้ตามหลักสากลขององค์กรที่อ้างว่ามีชื่อระดับนานาชาติไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้านที่เสียพื้นที่ทำกิน เป็นเรื่องที่ทั่วโลกรู้ดีว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมาก แต่เพราะปตท.อ้างว่ารัฐบาลอนุญาต คนพม่าเลยนิ่งเพราะกลัวจะมีอันตราย
“ในกฎหมายสากล มันต้องประเมินผลกระทบ จะสร้างอะไรทับบ้านใครก็ต้องมองว่าเขาเดือดร้อนอย่างไร แต่กรณีพม่านั้น ปตท.เคยระบุว่าเป็นกฎหมายเฉพาะประเทศ ปรากฏการณ์ของการต่อต้านทุนไทยครั้งนี้สะท้อนว่า เพื่อนบ้านเริ่มมองเห็นการเอาเปรียบของทุนไทยแล้ว คนไทยจะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะชายแดนพม่าทางตะวันตก คือ จังหวัดกาญจนบุรีนั้น มีอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ หากเราปฏิวัติปตท.ไม่ได้ แล้วปล่อยให้เขาใช้นามรัฐวิสาหกิจไปลงทุนฝั่งนั้น สร้างเส้นทางท่อก๊าซจากทวายมาถึงตัวชนบทกาญจนบุรี รับรองว่าวันหนึ่งอุทยานฯก็จะถูกรุกรานผ่านอำนาจของรัฐและนักการเมือง ระบบนิเวศไทย ป่าเขาที่จะเสียหายในอนาคตมีอีกมาก หากตอนนี้คนไทยไม่ช่วยประชาชนทวาย ในอนาคตพวกเขาก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้”มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว