Search

กลุ่มกองกำลังคะเรนนีประกาศสถาปนารัฐบาลชั่วคราวปกครองรัฐ-รอจนได้พม่าได้ประชาธิปไตยผนวกเป็นสหพันธรัฐ เผยการสู้รบชายแดนไทยด้านแม่ฮ่องสอนยังเดือด คาดผู้หนีภัยการสู้รบทะลักไทยเพิ่ม

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 น.ส.ริฮาน่า (Rihana) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชาวคะเรนนี ซึ่งมีบทบาทในการให้คำปรึกษากองกำลังในรัฐคะเรนนี ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวชายขอบ”ว่า พื้นที่ซึ่งกำลังมีสถานการณ์สู้รบใกล้ชายแดนไทยในรัฐคะเรนนี คือ อ.แม่เจ๊ะ หรือ แหม่เซ (Mese) คือเมืองท้ายๆ ในคะเรนนีที่มีการต่อสู้ปกป้องโดยกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ ที่พยายามต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า โดยกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในท้องถิ่นได้เตรียมการมานานแล้วที่จะยึดเมืองแห่งนี้คืนให้แก่ชาวคะเรนนี และที่ผ่านมาได้เตรียมพื้นที่หลบซ่อน และพยายามไม่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนในไทย 

น.ส.ริฮาน่ากล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุยึดฐานของทหารและตำรวจพม่า ทำให้กองทัพพม่าส่งอากาศยานเข้ามาโจมตี ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดูแลโดยกองกำลัง KNPLF(กลุ่มดาวแดง) ซึ่งมีค่ายผู้พลัดถิ่น (IDPs) ที่ได้หนีมาจากเมืองหลักๆ ในคะเรนนี โดยเฉพาะลอยก่อมารวมกันเป็นค่ายชั่วคราว 6-7 แห่ง มีผู้พลัดถิ่นราว 3,500 คน เมื่อพม่าโจมตีทางอากาศ ทุกคนจำเป็นต้องหนีเข้ามายังประเทศไทยทางด่านเสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน คาดว่ายังมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ แม่น้ำสาละวิน แถบแหม่เซนาม ปันเตง ซึ่งเร็วๆ นี้หากมีการโจมตีอีกก็น่าต้องหนีมาทางเสาหินเพิ่มขึ้น โดยมาจากช่องทางอื่นๆ เพราะทางปกติเวลานี้ไม่สามารถเดินทางได้แล้ว ดังนั้นตัวเลขผู้ลี้ภัยในสัปดาห์ถัดไปน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 

“ตอนนี้เป็นห่วงชาวบ้านคือผู้พลัดถิ่นในพื้นที่ผาซอง บอลาเค เพราะเป็นทางแยกถนนสายหลักที่ทหารพม่าใช้ส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ พื้นที่นี้ถือว่าเสี่ยงที่จะมีการโจมตีและปะทะ ผาซองเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำสาละวิน ไม่มีทางหนีไปไหน หากล่องเรือลงมาตามลำน้ำสาละวิน ก็เสี่ยงถูกโจมตีจากทหารพม่าที่ตั้งฐานอยู่ริมแม่น้ำ ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินก็ไม่สามารถใช้ได้เพราะทหารพม่าเฝ้าดูอยู่ตลอด ถือได้ว่าติดกับดักตัวเองเพราะ2ปีที่ผ่านมาเมื่อเกิดสถานการณ์ ชาวบ้านในหมู่บ้านทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินได้พากันหนีไปแถวๆ ผาซอง ไปรวมกันที่นั่น และถือว่าเสี่ยงมาก”น.ส.ริฮาน่า กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงอนาคตของประชาชนในรัฐคะเรนนีจะเป็นอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขกล่าวว่า เราเคยมีประวัติศาสตร์ ทุกคนอยากเห็นแผ่นดินที่สงบสุข ที่ผ่านมาได้มีการตั้ง Karenni State Consultative Committee (KSCC) มีคณะกรรมการด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ 

“ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้ประกาศสภาบริหารรัฐคะเรนนีชั่วคราว Interim Executive Council of Karenni State (IEC) เป็นดังรัฐบาลชั่วคราวของรัฐคะเรนนี มีนายคูอูเหร่ (Khu Oo Reh) เป็นประธาน เรายังคงมีความหวังสำหรับอนาคต หากสภาทหารพม่าหรือเผด็จการทหารพม่าสิ้นสุดลง หากพม่ามีรัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตย พวกเราในรัฐคะเรนนีก็จะเป็นรัฐหนึ่งของสหพันธรัฐพม่า เราจะดูแลตัวเองในด้านต่างๆ การพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติ เยาวชน การศึกษา การต่างประเทศ แต่เรารอไม่ได้ จะรอรัฐบาลเงา(NUG)ของพม่าหรือรัฐบาลกลางพม่าก็ยังคงมีการเตรียมกันอยู่ แต่เราต่างก็มีวิสัยทัศน์ของเราเอง ต้องการสร้างรัฐของเราเพื่อให้สามารถกำหนดอนาคตตนเอง  จะมารอให้คนอื่นบอกคงรอไม่ได้” ผู้เชี่ยวชาญชาวคะเรนนี กล่าว 

นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไทยไม่ควรทำคือการปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ประชาชนจากฝั่งพม่าอพยพเข้ามาฝั่งไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบริเวณชายแดนด้านห้วยทรายในรัฐคะเรนนีที่อยู่ตรงข้ามกับบ้านเสาหิน มีประชาชนภายในรัฐคะเรนนีจากหลายพื้นที่มาหลบภัยอยู่ตามแนวชายแดนโดยมีกองกำลังติดอาวุธของแต่ละกลุ่มคอยให้ความคุ้มครอง คนเหล่านี้ต้องพึ่งข้าวของเครื่องใช้จากฝั่งไทย ดังนั้นหากมีการปิดจุดผ่อนปรนเท่ากับเป็นการเพิ่มความลำบากให้พวกเขาและเป็นแรงกดดันให้ข้ามมาฝั่งประเทศไทย

นายกฤษณะกล่าวว่า สถานการณ์การสู้รับในรัฐคะเรนนีบริเวณชายแดนไทยเกิดขึ้นภายหลังจากที่หลายกลุ่มกองกำลังร่วมมือกันยึดพื้นที่เพื่อขับไล่ทหารและตำรวจพม่าออกไป โดยสามารถยึดฐานพม่าไว้ได้ 3 แห่ง แต่ทหารพม่าต้องการเอาคืนจึงเกิดการสู้รบขึ้น จริงๆแล้วบริเวณฐานที่พม่ายึดไว้นั้นมีทหารพม่าอยู่ไม่มาก เพียงแต่เป็นด่านที่ต้องการเก็บค่าผ่านทางการค้า อย่างไรก็ตามช่วงนี้ใกล้หน้าฝนจึงเป็นไปได้ว่าที่กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต้องการยึดพื้นที่เหล่านี้ไว้ให้ได้ 

“การเตรียมรับมือสำหรับสถานการณ์อพยพที่อาจมีประชาชนหนีเข้ามาหลบภัยมากขึ้น ผมคิดว่ารัฐไทยควรเปิดให้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และมูลนิธิต่างๆเข้าไปในพื้นที่ได้เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ที่หนีภัยซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เพราะลำพังแค่ให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือสภาการชาดทำ คงไม่เพียงพอเพราะไม่ใช่มืออาชีพและไม่มีกระบวนการ”อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว

————-

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →