
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ชายแดนพื้นที่แม่ฮ่องสอนโดยระบุว่า ยังคงปรากฏข่าวสารการปะทะกันระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย/กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาบริเวณตามชายแดนในพื้นที่ด้านตรงข้ามช่องทางเสาหิน ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง และช่องทางห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม โดยปัจจุบันมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเดินทางข้ามมายังฝั่งไทย 4,076 คนในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 2 แห่งคือบ้านเสาหิน อ.แม่สะเรียง และบ้านพะแข่ อ.ขุนยวม
แถลงการณ์ระบุว่า กองกำลังนเรศวรและฝ่ายปกครองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินการติดตามสถานการณ์ในฝั่งเมียนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ และกองทัพอากาศได้จัดอากาศยานลาดตระเวนในพื้นที่ชายแดนแม่ฮ่องสอน 1 ครั้ง ขณะที่ศูนย์สั่งการฯได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้หนีภัยความไม่สงบ โดยได้มีการสร้างที่พักชั่วคราวเพิ่มเติม หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 ทำการขุดบ่อน้ำ หลุมขยะ หลุมส้วม ขณะที่องค์กร MI จัดเจ้าหน้าที่สร้างห้องน้ำและวางระบบน้ำใช้ และสาธารณสุขอำเภอได้คัดกรองหาเชื้อมาลาเรีย ฉีดพ่นควันป้องกันยุงลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ
“สมาชิกอาสารักษาดินแดนอำเภอแม่สะเรียง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ตั้งจุดตรวจร่วมช่องทางเข้า-ออก พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว และมีการจัดประชุมประจำวันเพื่อติดตามสถานการณ์” แถลงการณ์ระบุ
ส่วนสถานการณ์การสู้รบในพื้นที่รัฐคะเรนนีนั้น ล่าสุดนายคูอูเหร่ (Khu Ou Reh) ประธานพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni Progressive Party -KNPP) และประธานสภาบริหารรัฐคะเรนนีชั่วคราว (Interim Executive Council of Karenni State หรือ IEC) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชายขอบว่า สถานการณ์ในรัฐคะเรนนีในเวลานี้มีความตึงเครียด กองทัพพม่าที่ได้กระทำรัฐประหารพยายามยึดพื้นที่และฐานต่างๆ โดยเวลานี้มีประชาชนที่ต้องได้รับผลกระทบติดอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่วิกฤตมากเนื่องจากผู้พลัดถิ่นเหล่านี้กำลังขาดแคลนอาหาร

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของไทยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าวว่า หลายพื้นที่ในรัฐคะเรนนีกำลังถูกโจมตีโดยกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อคืนก่อนมีการทิ้งระเบิดที่ เขต อ.พรูโส่ โดยกองทัพพม่าส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดในหมู่บ้าน แต่เนื่องจากความยากลำบากในการติดต่อทำให้ยังไม่สามารถยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้ สำหรับเขตเมื่องแม่เจ๊ะ (Mese) ใกล้ชายแดนไทย ทางด้าน จ.แม่ฮ่องสอน มีเครื่องบินรบของพม่าบินวนมาและทิ้งระเบิดทุกวัน
“ขณะนี้กองกำลังคะเรนนี (Karenni Army-KA) และกองกำลังอื่นๆ เช่น KNDF, PDF ได้ร่วมกันสนธิกำลังในทุกพื้นที่เพื่อปกป้องมาตุภุมิของตนเอง แต่กองทัพพม่าได้เปรียบด้านยุทโธปกรณ์ ส่งอากาศยานมาโจมตีพื้นที่ต่างๆ ซึ่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหนัก”แหล่งข่าวกล่าว
ด้าน ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐคะเรนนีเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีขนาดเล็กและจำนวนคนน้อยสุดในพม่า และต้องเผชิญความยากจนมาโดยตลอด ในช่วงที่พม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่อังกฤษไม่ได้มาปกครองพื้นที่นี้ ทำให้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพม่าและไม่ได้เป็นอาณานิคมแม้แต่สนธิสัญญาปางโหลง
“เขามีกองกำลังต่อสู้กับทหารพม่ามาตลอด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร กลุ่มกองกำลังต่างๆ ในรัฐคะเรนนีถูกโจมตีจากกองทัพพม่าอย่างรุนแรง โดยที่ทหารพม่าไม่เว้นเป้าหมาย ทั้งโบสถ์ โรงพยาบาล โรงเรียน แม้กระทั่งค่ายผู้พลัดถิ่นที่มีตลอดชายแดนไทย รวมถึงที่อยู่ในรัฐฉานตอนใต้ซึ่งมีผู้หลบภัยอยู่จำนวนมาก เขาโจมตีแม้กระทั่งเขตพลเรือน มีการใช้ผู้หญิงและคนแก่เป็นโล่มนุษย์ ทำให้ชาวคะเรนนีที่ยากจนอยู่แล้วต้องเผชิญความยากลำบากขึ้นไปอีก ประชากรในรัฐคะเรนนีเกือบครึ่งต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น บางส่วนข้ามมาชายแดนไทย แต่ส่วนใหญ่พลัดถิ่นอยู่ในรัฐตัวเอง ดังนั้นจึงมีปัญหาเชิงมนุษยธรรมมาก เป็นปัญหาที่ทับซ้อนปัญหา ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เรื่องความช่วยเหลือต่างๆ” ดร.ศิรดา กล่าว

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์กล่าวว่า ขณะนี้กองทัพพม่าได้ใช้วิธีโจมตีทางอากาศแสดงว่าไม่สามารถควบคุมรัฐคะเรนนีได้ นับตั้งแต่หลังรัฐประหารรัฐคะเรนนีแทบไม่ได้อยู่ในการควบคุมของรัฐพม่าเลย มีเพียงชายแดนไทยที่มีตำรวจพม่าซึ่งกองกำลังดาวแดงได้ยึดฐานที่มั่นนั้นกลับมา ทหารพม่าจึงโจมตีทางอากาศ
“ในทางการเมืองรัฐคะเรนนีนี้มีความก้าวหน้ามาก เมื่อไม่กี่วันก่อนเขาได้เตรียมตัวนำไปสู่สหพันธรัฐ เพิ่งตั้ง IEC เพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐบาลชั่วคราวดูแลบริการสาธารณูปโภคต่างๆ และร่างแนวทางการปกครอง เพื่อให้เขากำหนดชะตากรรมของตัวเองได้ ทำให้ได้รับการแสดงความยินดีจากกลุ่มกองกำลังอื่นๆ แม้ในแง่ของความมั่นคงยังต้องเผชิญภัยจากกองทัพพม่า แต่คะเรนนีได้สร้างความเข้มแข็งจากรากขึ้นไปแสดงออกซึ่งศักยภาพในการดูแลตัวเองได้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนิมิตหมายใหม่” ดร.ศิรดา กล่าว
ดร.ศิรดากล่าวว่า เดิมทีกองทัพพม่าไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมด และหลังรัฐประหารยิ่งไม่ได้เพิ่มขึ้นอีกแม้กระทั่งในเมือง กองทัพพม่าเพลี่ยงพล้ำเรื่องการควบคุมดินแดน จึงต้องใช้กองกำลังทางอากาศโจมตีแม้กระทั่งในรัฐที่เป็นคนพม่าด้วยกันเอง เพราะต้องยอมรับว่าถึงอย่างไรศักยภาพของกองทัพพม่ายังมีมากเนื่องจากสามารถซื้ออาวุธจากประเทศต่างๆ ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลไทยควรวางตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า รัฐบาลไทยมักอ้างว่าไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน แต่เมื่อยังติดต่อกับรัฐทหารพม่าก็ถือว่าเป็นการแทรกแซงแล้ว ยิ่งการที่รัฐบาลไทยให้พื้นที่รัฐบาลทหารพม่าเป็นการแทรกแซงหรือไม่ เพราะรัฐบาลทหารพม่าได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม ถ้าเป็นไปได้รัฐบาลไทยต้องตระหนักให้ดีว่าสถานการณ์ยังไม่นิ่ง การเข้าข้างใดข้างหนึ่งจึงไม่ถูกต้อง บริบททางการเมืองในพม่าซับซ้อน เพราะมีหลายฝ่ายเป็นตัวละคร ควรเริ่มต้นจากการช่วยเหลือมนุษยธรรม แต่ไม่ใช่ส่งผ่านรัฐบาลทหารพม่า ควรศึกษารายละเอียดในแต่ละรัฐให้ดี