
ไม่เพียงถล่มเมืองลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐคะเรนนี อย่างยับเบิน จนประชาชนครึ่งค่อนเมืองต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ แต่กองทัพพม่ายังมุ่งเป้าโจมตีพื้นที่ต่างๆของคะเรนนีอย่างต่อเนื่อง เพราะความหวาดระแวงที่ทหารพม่ามีต่อกลุ่มชาติพันธุ์นี้สูงยิ่ง
คะเรนนีแม้เป็นรัฐเล็กและประชาชนยากจนมาก แต่ประชาชนในรัฐนี้กลับมีเอกภาพยิ่งกว่ารัฐชาติพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญคือความเป็นอิสระของรัฐคะเรนนีมีมายาวนานนับตั้งแต่อังกฤษยึดครองพม่า แต่คะเรนนีก็ยังเป็นอิสระ แม้กระทั่งในสนธิสัญญาปางโหลงก็ไม่ได้มีคะเรนนีเข้าร่วม

ล่าสุดศึกเดือดที่เมืองผาซอง จ.บอละแค ของรัฐคะเรนนี จึงเกิดขึ้น หลังจากที่กองกำลังคะเรนนีหลายกลุ่มจับมือกันยึดพื้นที่ฐานปฏิบัติการที่เคยถูกทหารพม่ายึดไปคืนมาได้ โดยเฉพาะพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เก็บค่าผ่านทางเข้าเมือง
กองทัพฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าสามารถยึดครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ และกองทัพพม่าได้ส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดอย่างหนัก กองกำลังพม่าได้ยึดสะพานผาซองข้ามแม่น้ำสาละวินไว้โดยสะพานแห่งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเชื่อมเมืองผาซองกับบ้านห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 40 กม. เป็นทางหลวงสายเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับเมืองต่างๆ ในรัฐคะเรนนี
ทีมข่าวสำนักข่าวชายขอบ (www.tranbordernews.in.th) เคยไปเยือนเมืองผาซองเมื่อเร็วๆ.นี้ เมืองตั้งอยู่บนที่ราบขนาดใหญ่ริมแม่น้ำสาละวิน มีภูเขาขนาดย่อมรายล้อมอยู่ใกล้ๆเป็นหย่อมๆ ห่างออกไปไกลโพ้นจึงเป็นเทือกเขาสูง

ในอดีต เศรษฐกิจเมืองผาซองขึ้นอยู่กับธุรกิจป่าไม้ โดยเฉพาะไม้สัก ไม้สน ไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้ประดู่ ทว่า ปัจจุบันถูกตัดขายจนเหลือไม่มากนัก คงเหลือเพียงทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนดินซึ่งยังอุดมไปด้วยแร่นานาชนิด ทั้งทองคำ เหล็ก ตะกั่ว พลอย ดีบุก วุลแฟรม ฉะนั้น ตราบใดที่ทหารคะเรนนีกลุ่มต่างๆและพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP) ยังไม่มีเอกภาพภายใน ตลอดจนการต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากพม่ายังไม่จบสิ้น ขุมทรัพย์ที่หมายปองของนายทุนพม่า จีน และไทยก็ยังคงนอนสงบนิ่งอยู่ใต้พิภพ
สมัยที่ผาซองยังมีฐานะเมืองท่าเรือขนส่งไม้สักป้อนพ่อค้าไม้จีน-ไทยทางแม่น้ำสาละวินและทางบก ตอนนั้นแทบไม่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ แต่เมื่อพม่าย้ายเมืองหลวงจากกรุงร่างกุ้งมากรุงเนปีดอว์ ส่งผลให้กลุ่มทุนชายแดนเล็งเห็นโอกาสทางการค้าการลงทุนในอนาคต จึงร่วมกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองนี้ เพื่อเชื่อมเส้นทางการค้าการคมนาคมระหว่างไทยไปเมืองลอยก่อ เมืองตองอู และกรุงเนปีดอว์ รวมระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร

สะพานข้ามแม่น้ำสะลาวิน สร้างในปี 2557 มีส่วนสำคัญช่วยให้เมืองผาซองคึกคักมีชีวิตชีวา ใจกลางเมืองมีอาคารพาณิชย์ โรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจบริการ และร้านค้าส่ง-ปลีกหลายร้าน รองรับนักลงทุนจีน พม่า และไทยซึ่งแวะเวียนมาทำธุรกิจ และพักกลางทางก่อนต่อไปเมืองลอยก่อ เมืองตองอู และกรุงเนปิดอว์ ถัดจากใจกลางเมืองไปเป็นบ้านเรือนไม้ต่างกันไปตามฐานะ แทรกด้วยที่ทำการรัฐ โรงพยาบาล,โรงเรียน, สถานีดับเพลิง ฯลฯ
ตัวเมืองผาซองไม่ใหญ่นัก แต่เชื่อมั้ยว่า เมืองนี้มีทั้งศูนย์บัญชาการทหารพม่า ฐานที่มั่นกองกำลังกะเหรี่ยงดาวแดง (KNPLF) และฐานที่มั่นกองกำลังกะเหรี่ยงดาวขาว (Karenni National Solidarity Organization-KNSO) แต่ละศูนย์มีกองกำลังและอาวุธไว้ดูแลต่อรองผลประโยชน์จากการค้าการลงทุนในพื้นที่ปกครองของตัวเองมากกว่ามีไว้รบกันเหมือนช่วงก่อนเจรจาหยุดยิงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจลงตัว ทุกฝ่ายก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ (ชั่วคราว) แต่ภายหลังรัฐประหารของกองทัพพม่า สถานการณ์ก่อให้เกิดความตึงเครียด จนกองกำลังต่างๆและทหารพม่าไม่สามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้
ช่วงที่ทีมข่าวชายขอบไปผาซอง เราใช้เส้นทางเรือจาก ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 3 ชั่วโมงจึงถึงหมู่บ้านสะกอท่า ริมสาละวิน ที่นี่เป็นท่าค้าควายและร้านขายส่ง-ปลีกเครื่องอุปโภคบริโภคให้ชุมชนต่างๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน นอนค้างคืนในเรือ พอรุ่งขึ้นล่องเข้าสู่รัฐคะเรนนี ผ่านจุดตรวจคนเข้า-ออกทั้งของ KNPP กองกำลังพม่า กะเหรี่ยงดาวแดง และดาวขาว สลับกันไปมาตลอดสองฟากแม่น้ำ รวมเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง จึงถึงเมืองผาซอง
มาถึงวันนี้ ยังไม่รู้ว่าจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายไหน เพราะสนามรบแห่งนี้ยังชุลมุน แต่ที่แน่ๆ คือชาวบ้านจำนวนมากจากเมืองต่างๆ ทั้งลอยก่อและอีกหลายพื้นที่ที่อพยพมาอยู่ในศูนย์ช่วยเหลือภายใต้การดูแลของกลุ่มกองกำลังต่างๆ จำนวนมากต้องอพยพเข้าไปหลบอยู่ในป่า และกว่า 4 พันคนต้องหนีข้ามมายังฝั่งไทย เพราะการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่านั้น ไม่ได้แยกแยะเป้าหมายว่าเป็นพื้นที่พลเรือนหรือไม่
แต่บางทีการใช้ศักยภาพทางอาวุธที่สูงกว่าคืออากาศยานก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นฝ่ายชนะเสมอไป เหมือนครั้งสงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ แพ้ไม่เป็นท่า ครั้งนี้ก็เช่นกัน ฝ่ายกองกำลังต่างๆ ของคะเรนนีที่จับมือกันมีความชำนาญในพื้นที่กว่าทหารพม่ามาก
ติดตามดูกันต่อไปว่าผลสุดท้ายจะออกมาประการใด
/////////////////////////////////////////