Search

ชาวบ้านริมโขงจับมือนักวิชาการวิจัยข้อมูลเศรษฐกิจท้องถิ่น-ทรัพยากรธรรมชาติรับมือ 2 เขื่อนยักษ์เฉียดแดนไทย ชงพรรคการเมือง-รัฐบาลใหม่ หวั่นผลกระทบข้ามแดนทำชุมชนพินาศ

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนใน 5 หมู่บ้านริมแม่น้ำโขงคือ บ้านสำโรง อ.โพธิ์ไทร บ้านปากลา  บ้านดงนา บ้านคันท่าเกวียน ต.นาโพธิ์กลาง และบ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ได้ร่วมกันดำเนินการเก็บข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติ การพึ่งพาแม่น้ำโขงและรายได้จากการประมง เพื่อเตรียมรับมือกับการผลักดันโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเขื่อนสาละวันหรือเขื่อนบ้านกุ่ม และโครงการเขื่อนพูงอย โดยกิจกรรมเก็บข้อมูลได้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) และนักวิจัยกล่าวว่าการร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลนี้เป็นการเตรียมตัวของชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง ทั้งการติดตามสถานการณ์การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน 12 แห่ง และเขื่อนแม่น้ำโขงตอนล่างในลาว 2 แห่ง นั้น ได้ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้านซึ่งได้รับทราบข้อมูลแล้วว่าสาเหตุเกิดจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา  การขึ้นลงของระดับน้ำที่ผิดฤดูกาลผิดธรรมชาติทำให้พืชพรรณแม่น้ำโขงตายลง ปริมาณน้ำไม่ไหลเข้าลำห้วย แม่น้ำสาขา

นายมนตรีกล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีการศึกษาผลกระทบของกรณีโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม ระดับกักเก็บน้ำของเขื่อนคือ 115 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งทำให้ระดับน้ำเอ่อท่วมยาวจากบ้านกุ่มขึ้นไปยังแม่น้ำโขงในเขตอำเภอเขมราฐ  เช่น บ้านคันท่าเกวียน จะมีบ้านที่ต้องถูกน้ำท่วมประมาณ 20 หลังคาเรือน โดยกระทรวงพลังงานเคยเสนอว่าจะสร้างกำแพงป้องกันไม่ให้น้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อภาคประชาสังคมในจังหวัดอุบลราชธานีและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และวุฒิสภาในยุคนั้นได้ทำงานผลักดันคัดค้าน ทำให้โครงการเขื่อนบ้านกุ่มต้องชะลอออกไป แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า มีบริษัทเอกชนไทยคือบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ได้สัมปทานการศึกษาผลกระทบของเขื่อนบ้านกุ่มจากรัฐบาลลาวและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โครงการเขื่อนสาละวัน ได้เข้าสำรวจสภาพพื้นที่ใหม่ในเขตฝั่งลาว และพยายามจะศึกษาในฝั่งไทย  ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวถึงโครงการเขื่อนภูงอย ที่จะกั้นแม่น้ำโขง ห่างจากเมืองจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ลงไป 14 กิโลเมตร มีการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเสร็จสิ้น และเตรียมเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 

“เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนจากการกักเก็บน้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่แม่น้ำมูนและชุมชนริมน้ำโขงในเขตประเทศไทยกว่า 10 หมู่บ้าน  การร่วมกันทำวิจัยเก็บข้อมูลร่วมกันกับชุมชนจึงเป็นกระบวนสำคัญที่จะให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวทั้งข้อมูลเพื่อสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายมนตรีกล่าว

นางสอน จำปาดอก ชาวบ้านและคนหาปลาจากหมู่บ้านสำโรง กล่าวว่าชาวบ้านได้ร่วมกันศึกษาวิจัย เพื่อที่จะได้รู้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า หากมีการสร้างเขื่อนทั้งโครงการบ้านกุ่ม (สาละวัน) และเขื่อนพูงอย เราจะเสียหายอะไรบ้าง ทั้งเรื่องพื้นที่ทำกิน การประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน

“บางหมู่บ้านที่ไม่มีที่ดินทำนา ยังมีการหาปลาจากแม่น้ำโขง ทำปลาแดก (ปลาร้า) และนำไปแลกข้าวกับเครือญาติอยู่ทุกปี พันธุ์ปลาต่างๆ พืชพรรณธรรมชาติ การเกษตรริมโขง โดยเฉพาะหลายหมู่บ้านที่เป็นทั้งพื้นที่ปลูกฝ้ายธรรมชาติริมฝั่งโขงที่เป็นรายได้หลักของชาวบ้าน และพื้นที่การท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ทางหน่วยงานรัฐได้เข้ามาส่งเสริม  เมื่อเราได้ข้อมูลเราก็จะได้นำเสนอกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่า เราจะเสียหายอย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องสร้างเขื่อนอีก”

ดร.กนกวรรณ มโนรมย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่าข้อมูลที่ชาวบ้านร่วมกันเก็บมาสำคัญมาก ทำอย่างไรจะทำให้ข้อมูลที่ชาวบ้านร่วมกันเก็บมาจะนำไปใช้อย่างไร และหากมีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มเกิดขึ้น จะเป็นข้อมูลสำคัญว่าเขื่อนยังจำเป็นไหม

“สิ่งที่เห็นวันนี้คือ คลังข้อมูล คลังความรู้ของชาวบ้านที่ถูกจัดเก็บและคนข้างนอกมาช่วยจัดเก็บและรวบรวมมาเป็นระบบ ทั้งข้อมูลเกษตร ประมง ท่องเที่ยว พืชพันธุ์ ซึ่งสำคัญมาก  เป็นประโยชน์มาก ข้อมูลเหล่านี้จะต้องไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านเพียงอย่างเดียว และจะต้องถูกนำเสนอต่อสาธารณะ เพื่อให้คนที่ไม่ได้อยู่ในแม่น้ำโขง หรืออยู่ในเมืองอุบลได้เข้ามาฟัง เพื่อให้คนที่ไม่เข้าใจได้ฟังเรา เพื่อให้เขาได้เป็นพันธมิตรกับเรา เช่นบอกว่า เขื่อนอาจจะดี ผลิตไฟฟ้า แต่เราคือผู้เดือดร้อน จะต้องมีทางออกอย่างไร และจะต้องสื่อสารออกไปวงกว้าง และคนทั่วไปอาจจะมองว่า น้ำโขงสวย แต่เขาไม่รู้ว่า ถ้ามีเขื่อนแล้วเราจะเสียหายอย่างไร ข้อมูลจึงต้องแม่นและสื่อสารออกไปให้ถึงทุกระดับทั้งนักศึกษา พรรคการเมือง กระทรวงที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ชุมชนทั้ง 5 หมู่บ้าน กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้วางแผนจะจัดเวทีเพื่อนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อสาธารณะ โดยจะมีการเชิญทั้งหน่วยงานราชการในพื้นที่ นักศึกษา สื่อมวลชนเพื่อเข้าร่วมเวทีดังกล่าวในวันที่ 13 กันยายน 2566 นี้

On Key

Related Posts

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →