ภาสกร จำลองราช
ชาวกะเหรี่ยงหลายคนนั่งคุยกันอย่างออกรสออกชาติ เมื่อถามถึงเหตุการณ์การสู้รบที่ทำให้พวกเขาและชาวบ้านกว่า 300 คนต้องหนีข้ามมาหลบภัยฝั่งแดนไทย พวกเขาก็ช่วยกันเล่าด้วยน้ำเสียงที่ยังตื่นเต้นอยู่
“ตอนเครื่องบินทิ้งระเบิด ชาวบ้านบางส่วนอยู่ในไร่นา บางส่วนอยู่บ้าน แต่ไร่นากับหมู่บ้านอยู่ห่างกัน มีฐานทหารพม่าตรงอยู่กลาง เสียงระเบิดทำให้ต้องหนีกันเตลิดไปคนละทาง กลุ่มใหญ่หนีหลบเข้ามาที่นี่ บางส่วนหนีไปทางเสาหิน ตอนนี้บางครอบครัวยังตามหาลูกเมียไม่เจอเลย” ชายชาวคะเรนนีพูดอย่างขำๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ดูเครียด แต่พวกเขาก็พอยิ้มได้ หลังจากตรวจสอบในเวลาต่อมาพบว่าลูกเมียหลบเข้าไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยฝั่งไทยอีกจุดหนึ่งแล้ว
“ที่นี่” ที่พวกเขาบอกและอพยพมาหลบภัยคือในป่าสาละวินฝั่งไทย ใกล้หมู่บ้านอูนุ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
บริเวณชายแดนระหว่างไทย-รัฐคะเรนนี มีสันเขาเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างไทย-พม่า แต่มีช่องทางธรรมชาติที่ชาวบ้านทั้งสองฝั่งใช้เดินทางเชื่อมต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล สมัยที่ยังไม่มีเส้นแบ่งแดนของรัฐชาติ
ชาวไทยบ้านอูนุและชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้านชายแดนฝั่งรัฐคะเรนนีต่างเสมือนเครือญาติที่พึ่งพาอาศัยกันมาช้านาน ดังนั้นเมื่อเพื่อนได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงคราม ชาวบ้านอูนุจึงให้ความช่วยเหลือสุดกำลังเท่าที่ทำได้
“เรามาขออาศัยเพื่อความอยู่รอด ใจเราก็เป็นห่วงบ้าน เป็นห่วงนาที่ข้าวกำลังงอกงาม ตอนนี้มีหญ้าขึ้นและไม่มีใครถอนหญ้า ควายเลยเข้าไปกินหมด” ซอดาทู หนุ่มกะเหรี่ยงวัย 36 บอกด้วยน้ำเสียงเกรงใจ
ซอดาทูเป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านป่ากล้วย ซึ่งอยู่บริเวณชายแดนในรัฐคะเรนนี หมู่บ้านของเขาอยู่ห่างจากบ้านอูนุเพียง 7 กิโลเมตร มีทางเส้นทางเล็กๆ ไปมาหาสู่กัน หมู่บ้านป่ากล้วยอยู่ในเขตอิทธิพลที่กลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยดาวแดง (Karenni National People’s Liberation Front -KNPLF) หรือกาลาลาตา
ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน กองกำลัง KNPLE ได้จับมือกับทหารกลุ่มพันธมิตรคือพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี Karenni National Progressive Party-KNPP และกองกำลังดาวขาว KNSO รวมถึงกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF บุกยึดฐานทหารพม่า และสถานีตำรวจพม่า เพื่อผลักดันให้ออกจากพื้นที่ ภายหลังจากที่รัฐคะเรนนี้ถูกกองทัพพม่าโจมตีอย่างต่อเนื่องจนทำให้ประชาชนในรัฐนี้กว่าครึ่งหนึ่งต้องหนีตาย หลบอยู่ตามป่าเขากลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
การจับมือกันของกลุ่มกองกำลังต่างๆทำให้สามารถผลักดันฐานทหารพม่าออกไปจากพื้นที่ชายแดนตอนใต้ของรัฐคะเรนนีออกไปเกือบหมด กองทัพพม่าตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวต้องหนีภัยการสู้รบข้ามป่าเขามาอยู่ฝั่งไทย 4 จุดคือที่บ้านเสาหิน บ้านแม่อูนุ บ้านจอปร่าคี อ.แม่สะเรียง และบ้านพะแข่ อ.ขุนยวม
“รู้สึกตกใจมากตอนเครื่องบินมาทิ้งระเบิด เราต้องหนีมานอนอยู่ชายแดน 1 คืนแล้วค่อยเดินมาถึงที่นี่ กว่าจะถึงปวดเอวมาก” แม่เฒ่าชาวคะเรนนีวัย 74 ปีเล่าถึงการหนีทหารพม่า แกมาพร้อมกับลูกหลาน 12 ครอบครัวอยู่ที่หมู่บ้านตอละ บริเวณชายแดนคะเรนนี เดินเท้ามาถึงป่าบ้านอูนุได้ต้องใช้เวลาไม่น้อย
“ชีวิตของเราหนีมาตลอด หนีการสู้รบมากว่า 10 ครั้งแล้ว หนีตั้งแต่เด็กแล้ว ต้องย้ายที่อยู่และที่ทำกินมาทั้งชีวิต แม่เฒ่าก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร”
ขณะที่ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน อ.สบเมย สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน รวมทั้งองค์กรพันธมิตรต่างๆ ได้นำข้าวสารอาหารแห้งและสิ่งของที่จำเป็นจำนวน 2 คันรถเดินทางจาก อ.สบเมย และ อ.แม่สะเรียง ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวที่บ้านอูนุ
การเดินทางไปยังหมู่บ้านอูนุเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้ระยะทางราว 80 กิโลเมตรจากอำเภอแม่สะเรียง แต่ต้องใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง เนื่องจากต้องข้ามป่าเขาในช่วงแรกและต้องวิ่งรถตามลำห้วยที่เต็มไปด้วยหินในช่วงหลัง
เมื่อถึงหมู่บ้านอูนุแล้ว ยังต้องเดินทางต่ออีก 3-4 กิโลเมตรกว่าจะถึงจุดพักพิงชั่วคราวที่ชาวคะเรนนีอพยพมาหลบภัย ดังนั้นการเดินทางนำข้าวของไปบริจาคที่นี่จำเป็นต้องพักค้างคืนในหมู่บ้านอูนุ
ที่น่าเป็นกังวลคืออีกไม่กี่วันเมื่อเข้าฤดูมรสุมและฝนตกหนักในป่าใหญ่แห่งนี้ เส้นทางการจราจรถูกตัดขาดเหมือนทุกๆ ปี การจัดส่งข้าวของที่จำเป็นให้ชาวบ้านที่หนีภัยเหล่านี้จะทำอย่างไร
วันนี้สถานการณ์การต่อสู้ระหว่างกลุ่มกองกำลังต่างๆและทหารพม่ายังคงเข้มข้น โดยทหารพม่าซึ่งเพลี่ยงพล้ำถูกโจมตีฐานตำรวจและทหารแตกกระจุยพร้อมทั้งถูกผลักดันออกไปจากตอนใต้ของรัฐคะเรนนี ย่อมไม่ยอมแน่ๆ จึงส่งอากาศยานมาทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กองทัพพม่ากำลังจัดส่งรถถังและกำลังพลมายังจุดนี้อีกด้วย
สงครามระหว่างกองทัพพม่าผู้ก่อรัฐประหาร และกองทัพคะเรนนี คาดว่าต้องยืดเยื้ออีกนาน ผลคือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณสนามสู้รบ ยังคงต้องหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขาและบางส่วนข้ามตะเข็บชายแดนมาหลบอยู่ในศูนย์พักพิงฝั่งไทยต่อไป
แม้ปัจจุบันทางการไทยจะประกาศให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก้ชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบจากพม่า แต่เอาเข้าจริงๆ แนวความคิดที่ว่า “อย่าให้เขากินดีอยู่ดี เดี๋ยวเขาจะอยู่เลย” ของบางหน่วยงานด้านความมั่นคงก็ยังแพร่ขยายในวงราชการชายแดน ทำให้การกีดกันผู้ที่ให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะเอ็นจีโอ รวมถึงสื่อมวลชนที่เข้าไปสะท้อนข้อเท็จจริง ยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ธรรมชาติของผู้หนีภัยการสู้รบ เมื่อเหตุการณ์สงบลง พวกเขาจะรีบกลับบ้านทันทีเพราะเป็นห่วงทรัพย์สินและไร่นา
การที่รัฐบาลไทยไม่ยอมแยกแยะผู้ที่เข้าเมืองจากประเทศพม่าออกเป็นกลุ่มต่างๆ ทำให้การแก้ไขปัญหายิ่งซับซ้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกองทัพพม่าและกองทัพไทยแนบแน่นกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน เมื่อผู้นำเหล่าทัพกลายเป็นผู้บริหารประเทศ การกำหนดนโยบายต่างๆ จึงอยู่บนพื้นฐานความเกรงใจกันมากกว่าผลประโยชน์ของบ้านเมือง
จริงๆ แล้วคนที่เป็นเสมือนเครือญาติกับคนไทยมายาวนานในประวัติศาสตร์คือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั้งกะเหรี่ยง ไทใหญ่ มอญ คะเรนนี ทวาย ฯลฯ ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทยและเป็นรัฐกันชนให้เรามาโดยตลอด
จึงเป็นเรื่องตลกสิ้นดีที่ผู้นำประเทศไทยกลับเพ่งพินิจอยู่กับ พล.อ.มิ้น อ่อน หลาย ผู้นำเผด็จการพม่าและผู้นำเหล่าทัพตั๊ตมาดอว์
วันนี้ผู้นำพม่าสั่งอากาศยานทิ้งระเบิดไม่ละเว้นเป้าหมาย ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน ไปจนถึงหมู่บ้านของประชาชน เพราะหวาดระแวงว่าสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน แม้แต่ในเขตพลเรือนที่เป็นคนพม่าก็ยังถูกทิ้งระเบิด
บทบาททางการทูตระหว่างไทย-พม่าไม่ควรอยู่บนหอคอยงาช้างหรือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้นำ เพราะผลสะเทือนของไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับทหารพม่าอีกแล้ว แต่เป็นภาคประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างหาก ดังนั้นเราควรทบทวนและหาทางออกกันใหม่เถอะ