เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 สำนักข่าว AFP รายงานว่า สหประชาชาติ(UN)ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันออกมาตรการไม่ให้กองทัพพม่าเข้าถึงเงินตราต่างประเทศและหยุดขายอาวุธให้กับกองทัพตั้ตมะด่อว์ เนื่องจากทำให้สถานการณ์มนุษยธรรมในพม่าวิกฤติมากยิ่งขึ้น
นาย Volker Türk ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า จำเป็นจะต้องป้องกันไม่ให้มีการจัดหาอาวุธให้กับกองทัพพม่า และเรียกร้องให้มีมาตรการที่ตรงเป้าหมาย เพื่อจำกัดการเข้าถึงเงินตราต่างประเทศ เชื้อเพลิงการบิน และวิธีการอื่น ๆ ที่เอื้อต่อให้กองทัพพม่าโจมตีประชาชนของตัวเอง
ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า พม่ากำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติความรุนแรง โดยมีประชาชนต้องเสียชีวิตแล้วกว่า 3,747 คน และถูกจับมากกว่า 23,000 คน ประชาชน 1.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากบ้านเนื่องจากความรุนแรง นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน
ด้าน โทมัส แอนดรูว์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า เงินตราต่างประเทศทำให้รัฐบาลทหารพม่าสามารถหาซื้ออาวุธ จัดหาโรงงานผลิตอาวุธ และเติมน้ำมันเครื่องบินรบ โดยประเทศอื่นๆ ควรร่วมกับสหรัฐฯ ในการคว่ำบาตรสถาบันการเงินของเมียนมาร์ และเรียกร้องให้มีการประสานงานกันมากขึ้นระหว่างรัฐบาลที่ได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรไปแล้ว
ขณะที่รายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า หลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารพม่านำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยซื้อมาจาก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย จีน สิงคโปร์ อินเดีย และไทย