Search

บทเรียน 5 ปีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก เยียวยาไม่ถึงมือชาวบ้าน องค์กรภาคประชาชนออกแถลงการณ์แฉเหตุผู้ได้รับความเสียหายไม่ได้รับการฟื้นฟู-แม่หญิงนักต่อสู้ไทยวอนกลุ่มทุนรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ภาคประชาสังคม 6 องค์กร ทั้งไทยและนานาชาติ อาทิ Mekong Watch, Fair Finance Thailand ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเนื่องในการครบรอบ 5 ปีที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในประเทศลาวแตก โดยเรียกร้องเรื่องการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ประสบภัยเขื่อนลาวแตก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 71 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัยนับพันเนื่องจากน้ำท่วมบ้านเรือนและหมู่บ้าน

แถลงการณ์มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า 5 ปีหลังจากเหตุการณ์อันน่าสลดใจ ผู้รอดชีวิตยังคงไม่ได้รับการชดเชยหรือการเยียวยาที่เพียงพอ และยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากผลกระทบของภัยพิบัติ องค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องให้บริษัทและรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทก่อสร้างคือ SK Ecoplant และผู้พัฒนาและบริหารบริษัทเซเปียน-เซน้ำน้อยพาวเวอร์ (PNPC) ตลอดจนรัฐบาลลาวและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่เป็นทางการ (ODA) ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้เป็นสมาชิกให้รับทราบการกระทำผิดและปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อให้แน่ใจว่ามีการชดใช้ค่าเสียหาย

edf

แถลงการณ์ระบุว่า บริษัท SK Ecoplant ได้ยื่นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในสิงคโปร์ ต่อบริษัทเซเปียนเซน้ำน้อยพาวเวอร์ โดยโต้แย้งว่าการพังทลายไม่ได้เกิดจากการก่อสร้างที่ผิดพลาด แต่เป็นภัยธรรมชาติ (เหตุสุดวิสัย) อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าภัยพิบัติดังกล่าวเกิดจากฝีมือมนุษย์

แถลงการณ์ระบุอีกว่าบริษัทเซเปียนเซน้ำน้อยพาวเวอร์ ระบุในจดหมายที่ส่งถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ว่าได้จ่ายเงินชดเชยจำนวน 91.2 ล้านดอลลาร์ แต่ตามบันทึกภายในของบริษัทเงินชดเชยส่วนใหญ่ (64.87 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 71% ของทั้งหมด) จ่ายให้กับรัฐบาลลาว ไม่ใช่จ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กล่าวโดยสรุปผู้รอดชีวิตจากการพังทลายของเขื่อนไม่ได้รับการฟื้นฟูให้วิถีชีวิตที่มีความยั่งยืน

วันเดียวกันที่บริเวณปากมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-เขื่อนแม่น้ำโขง ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร  ได้จัดเวทีพูดคุยในหัวข้อ “เขื่อนสร้าง เขื่อนท่วม เขื่อนแตก”  เนื่องในวันครบรอบ 5 ปี เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก โดย สดใส สร่างโศก นักวิจัยลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า  เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก สันเขื่อนตอนบน และเขื่อนย่อยได้มีความเสียหายเกิดขึ้น ในขณะที่เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จ ส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณในลุ่มน้ำตอนล่าง และเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับความเสียหาย เหตุการณ์ในวันนั้นยังติดอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดมา

“คนไทยได้รับผลกระทบโดยตรงส่งผลต่อเนื่อง ที่ใช้ไฟฟ้าจาก กพฝ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ซื้อไฟฟ้า 354 เมกะวัตต์ จากการผลิตไฟฟ้า 410 เมกะวัต ในเขื่อนประเทศลาว การซื้อไฟในปริมาณที่เหลือเฟือ ทำให้มีส่วนต่างที่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น และประชาชนต้องเป็นผู้จ่ายค่าไฟที่มูลค่ามหาศาล ตามสัญญาปี 2562 ไปอีก 27 ปี ข้างหน้า” สดใสกล่าว

นางสมปอง เวียงจันทน์ แกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล กล่าวว่า ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูลตั้งแต่ปี 2532 เนื่องจากเราเป็นแม่ค้าหาปลา ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีความเข้าใจว่า การสร้างเขื่อนที่มีความสูง 70 เมตรกั้นจากระดับน้ำเดิมนั้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างไร เป็นระยะเวลา 34 ปีที่ต่อสู้ มองเห็นภาพได้ชัดเจนว่า จากนโยบายที่จะมีการสร้างเขื่อนปากมูลเพื่อทำให้พี่น้องมีชีวิตที่ดีขึ้นนั้นไม่จริงอย่างที่คิด จึงรวมตัวกันในการคิดทบทวนเบื้องต้น และเข้าไปสอบถามสำนักนายกรัฐมนตรี คือ 1.เขื่อนปากมูลใครเป็นผู้สร้าง 2.จะส่งผลกระทบอย่างไร 3.ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้น

“เราจึงทราบว่าใครเป็นผู้ร่วมลงทุน กฟผ.เป็นผู้ให้ทุนในการสร้าง โดยกู้เงินจากธนาคารโลก ประชาชนได้ร่วมกัน มีการต่อสู้ผ่านการรณรงค์ สื่อสาร ทำหนังสือเอกสารต่างๆ เพื่อให้เป็นข่าว และทำให้ทุกคนนั้นเข้าใจปัญหาว่าประชาชนนั้นเดือดร้อน เพราะการไฟฟ้าที่พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง ในช่วงเขื่อนแตกนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่มวลน้ำที่พังทลาย แต่คล้ายกับภูเขาถล่ม รวมทั้งน้ำและดินพังทลายทับบ้านของผู้คนในลาว ไม่หลงเหลือที่อยู่อาศัยเดิม บางคนต้องอพยพมาอยู่ในประเทศไทย และในปัจจุบันพวกเขายังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่ และประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีต้องประสบอุทกภัยน้ำท่วมทุกปี ผลกระทบเหล่านี้ยังสืบเนื่องไปอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง’’ นางสมปองกล่าว

นางสอน จำปาดอก คนหาปลาแม่น้ำโขง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาว ไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิต เนื่องด้วยเป็นระยะทางที่ไกลกว่าที่อยู่อาศัย คือชุมชนสำโรง ซึ่งติดกับแม่น้ำโขง ถ้าหากมีเขื่อนกั้นและมีการปล่อยน้ำมาบ้างก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่เนื่องจากเราไม่ได้รับข้อมูลที่มากพอจึงตัดสินใจมาร่วมเข้ารับฟังและชาวบ้านมองเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ได้รับผลกระทบจึงเข้ามาร่วมคัดค้านต่อสู้ตั้งแต่ปี 2555 และยื่นฟ้อง กฟผ. ที่ศาลปกครอง โดยการต่อสู้นั้น มองเห็นว่าการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศต้องสูญหาย ชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบถึงลูกหลานในอนาคตที่จะไม่มีแหล่งทำมาหากินอีกต่อไปแล้ว จึงได้มีการพูดคุยสื่อสารกับพี่น้อง 7 จังหวัดภาคอีสาน เชื่อมโยงเครือข่ายกันเพื่อร่วมรณรงค์ต่อสู้เพื่อลูกหลานในอนาคต

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมาย ทุกคนเพียงแต่หวังว่าผู้ร่วมลงทุนในการสร้างเขื่อน ต้องคิดทบทวนข้อเท็จจริง ประเมินความเสียหายว่าการลงทุนตรงนี้ส่งผลต่อชีวิตคนอย่างไร พวกเขาได้ทำลายทรัพยากรอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบให้กับพี่น้องทั้งประชาชนประเทศไทยและประเทศลาว ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินที่สูญหายไป

และวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป  มนุษย์เราทุกคนต้องพึ่งพาธรรมชาติในการใช้ชีวิตและแม่น้ำแห่งนี้เป็นแม่น้ำนานาชาติที่ต้องใช้ร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแม่น้ำที่สูญหายไป แต่มันคือแหล่งของอาหารและชีวิต กลุ่มทุนต้องชดใช้ค่าเสียหายและเยียวยาประชาชนรวมไปถึงลูกถึงหลานในอนาคต” คนหาปลาแม่น้ำโขง กล่าว

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →