Search

ลาว-พม่าอ่วมฝนตกหนัก เขื่อนไฟฟ้าในลาวเร่งระบายน้ำ ไซยะบุรีแจ้งเตือนชาวบ้านริมโขงเฝ้าระวังน้ำท่วม นักอนุรักษ์ชี้บทพิสูจน์เขื่อนไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดภาวะน้ำท่วมหนักกว่า 8 แขวงทั่วประเทศลาว ถนนสายหลักถูกตัดขาด ดินถล่ม น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนเสียหายจำนวนมาก เขื่อนไฟฟ้าทั่วประเทศเร่งระบายน้ำ ล่าสุดบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ ที่ดำเนินกิจการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยะบุรี ออกหนังสือประกาศแจ้งสถานการณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 โดยระบุว่า ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนไซยะบุรีจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพายุฝนตกหนักและการระบายน้ำเขื่อนต่างๆลงสู่แม่น้ำโขง โดยแจ้งเตือนให้หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ทั้งท้ายน้ำและเหนือน้ำของเขื่อนเฝ้าระวังและเตรียมรับสภาพการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในเวลาเฉียบพลัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เขื่อนน้ำคาน 2, 3 ได้แจ้งการระบายน้ำออกจากเขื่อน ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำคานที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง ที่เมืองหลวงพระบาง ส่วนวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เขื่อนน้ำฮุ่ง 1 ในเขตเมืองไซยะบุรี ได้ประกาศระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง เช่นเดียวกับเขื่อนน้ำอู 4 ที่เมืองขวา แขวงพงสาลี ได้เริ่มระบายน้ำลงสู่แม่น้ำอูแล้ว

 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สื่อออนไลน์ลาวได้รายงานภาพและสถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศของลาว โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองคูน แขวงคำม่วน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ เขื่อนเทินหินบูน ซึ่งมีภาพการเปิดประตูระบายน้ำและเขื่อนน้ำเทิน 2 รายงานทางการของลาวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ระบุว่า แขวงคำม่วน ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 6 เมือง คือเมืองไซบัวทอง เมืองคูนคำ เมืองหินบูน เมืองนากาย เมืองยมมะลาดและเมืองท่าแขก ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนักมาก ต้องอาศัยหลังคาบ้านและชั้นที่ 2 ของบ้านเป็นหลัก รวมถึงดินสไลด์ ถนนสายหลักถูกตัดขาดหลายสายทั่วประเทศ รัฐบาลลาว ได้ส่งหน่วยกู้ภัยและความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่มและยารักษาโรคไปยังชาวบ้านที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในเว็บไซต์สถานีติดตามระดับน้ำแบบเรียลไทม์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำที่สถานีมะหาไซ ปรากฏว่า ระดับน้ำของแม่น้ำเซบั้งไฟเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เพิ่มขึ้น 7 เมตร ในระยะเวลา 12 ชั่วโมงและอยู่ในระดับน้ำท่วมจนถึงขณะนี้

นายชาญณรงค์ วงศ์ลา กล่าวว่า ชาวบ้านกลุ่มประมงเชียงคาน ได้เฝ้าระวังและติดตามระบายน้ำของเขื่อนไซยะบุรีอย่างใกล้ชิด ในระยะ 2 -3 วันที่ผ่านมา ระดับแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 40 เซนติเมตร และกังวลเรื่องขยะและเศษไม้จำนวนมากที่จะไหลเข้ามาติดกับแพหาปลาและแพประมงของกลุ่มประมงชาวบ้านที่เชียงคาน

นอกจากนี้มีรายงานจากในพื้นที่บ้านห้วยค้อ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ได้เกิดตลิ่งพังอย่างหนักและต่อเนื่องนับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลใจและลำบากมากเนื่องจากเป็นจุดที่สูบน้ำประปาของหมู่บ้าน

นายมนตรี จันทวงศ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง(The Mekong Butterfly)กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้ทั้งในลาวและความเสียหายของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงในไทย พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า เขื่อนไม่ได้ป้องกันน้ำท่วมอย่างที่อ้างอิงถึงเหตุผลของการสร้างเขื่อนและยังไม่ได้คิดคำนวนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการระบายน้ำออกในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนและเหนือเขื่อนในทุกแห่ง เป็นต้นทุนที่ไม่ถูกคิดรวมในการสร้างและถูกซ่อนไว้ในคำว่าอุทกภัยและภัยพิบัติแทน

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าน้ำโขงทางตอนบน ที่เชียงราย ยังมีระดับน้ำไม่สูงมาก โดยเช้าวันนี้ 8 สิงหาคม ระดับน้ำโขง ที่ อ.เชียงของ อยู่ที่ 5.10 เมตร แม่น้ำโขงในช่วงนี้ปริมาณน้ำแทบทั้งหมดรับมาจากเขื่อนจีน เนื่องจากมีลำน้ำสาขามาเพิ่มไม่มากนัก เวลานี้น้ำยังถือว่าไม่สูง หากสูงเกิน 6 เมตรที่ อ.เชียงของ น้ำก็จะท่วมถึงตลิ่งและจะหลากเข้าไปยังลำน้ำสาขาต่างๆ อาทิ แม่น้ำกก แม่น้ำอิง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ wetland ที่สำคัญของลุ่มน้ำโขงตอนบน เป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ขยายพันธุ์ของปลาอพยพ ซึ่งฤดูน้ำหลากได้หายไปจากแม่น้ำโขงตอนบนนับสองทศวรรษ หลังจากมีการสร้างเขื่อนแล้วมากถึง 13 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบน

นอกจากลาวและทางตอนบนของไทยที่ประสบน้ำท่วมใหญ่แล้ว ทางด้านฝั่งพม่าก็มีปริมาณฝนมากอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยหลายพื้นที่และถนนเชื่อมเมืองต่างๆ กำลังจมน้ำ หรือถูกตัดขาด รวมทั้งถนนสายสำคัญคือจากชายแดนไทย ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ไปยังฝั่งรัฐกะเหรี่ยง กอกาเร็ก ซึ่งเชื่อมไปถึงเมืองตะโถ่ง และย่างกุ้ง มีน้ำท่วมไม่สามารถสัญจรได้หลายจุด และถนนขาดเนื่องจากดินภูเขาทรุดในเขตรัฐกะเหรี่ยง โดยสื่อออนไลน์ต่างรายงานว่าประชาชนต้องพยายามช่วยเหลือกันเองอย่างลำบาก เช่น อพยพไปพักบนที่สูง ในขณะที่สถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นหรือมีการช่วยเหลือแต่อย่างใด

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →