
สำนักข่าว Myanmar Now รายงานเมื่อวันนี้ 14 สิงหาคม 2566 ว่าจากการเปิดเผยขององค์กร Fortify Rights ระบุถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในค่ายค็อกซ์บาซาร์ ในบังกลาเทศกำลังเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง โดยมักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นทำร้ายทรมานร่างกาย ถูกจับกุมตามอำเภอใจเพื่อเรียกไถเงิน ขณะที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในพม่าเอง พบร่างชาวโรฮิงญาเสียชีวิต 3 รายตามหมู่บ้านชายฝั่งรัฐอาระกัน หลังพยายามล่องเรือหนีออกจากพม่าเพื่อไปยังประเทศที่สาม
Matthew Smith เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Fortify Rights กล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งมายังสำนักข่าว Myanmar Now ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นที่ดูแลในค่ายค็อกซ์บาร์ซาร์กำลังรีดไถเงินชาวโรฮิงญาเหมือนเป็นตู้เอทีเอ็ม และรีดไถเงินชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนหลายพันดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกับอิสรภาพ และเหยื่อหลายรายที่เป็นชาวโรฮิงญามักถูกทำร้ายด้วยท่อนเหล็ก ก่อให้เกิดการได้รับบาดเจ็บทางร่างกายและผลกระทบทางด้านจิตใจ โดยเขาเรียกร้องให้รัฐบาลกลางของบังกลาเทศเข้ามาแก้ไขปัญหาและจัดการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นที่ทุจริตและก่อเหตุเหล่านี้
ทั้งนี้ หน่วยงานตำรวจที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาดูแลความปลอดภัยในค่ายค็อกซ์บาซาร์ คือหน่วยงานตำรวจในชื่อ Armed Police Battalion (APBn) ซึ่งเริ่มเข้ามาดูแลในค่ายค็อกซ์บาซาร์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2563 หน่วยงานตำรวจดังกล่าวก็มักเผชิญกับข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามาแล้วหลายครั้ง
ในเดือนพฤษภาคม เมื่อปี 2565 ทางฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในค่ายได้ทุบตีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่จุดตรวจ และกักขังชาวโรฮิงญาโดยพลการเพื่อเฉลิมฉลองวันอีด และจำกัดเสรีภาพในการย้ายถิ่นฐาน การทำงาน และศึกษาภายในค่ายอย่างเข้มงวด ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มเดิมได้ข่มเหงผู้ลี้ภัยซึ่งเผชิญกับความรุนแรงจากแก๊งอาชญากรและกลุ่มติดอาวุธอยู่แล้ว
“การละเมิดโดยตำรวจในค่ายคอกซ์บาซาร์ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในเงื้อมมือของกองกำลังที่ควรปกป้องพวกเขา” Shayna Bauchner นักวิจัยเอเชียจากฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในเวลานั้น
อีกด้านหนึ่ง สำนักข่าว Myanmar Now ได้รายงานว่า พบร่างหญิงชาวโรฮิงญาเสียชีวิต 3 ราย ตามชายฝั่งของเมืองชิตต่วย เมืองหลวงของรัฐอาระกัน นอกจากนี้ เรือประมงยังสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตอีกจำนวน 8 ราย โดยทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่นำตัวไป จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่าถูกพาตัวไปที่ไหน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า มีเรือนำผู้โดยสารชาวโรฮิงญาทั้งหมด 50 คน จากหมู่บ้านอะเนาก์ปวิ่น เมืองราทีดอง รัฐอาระกันเพื่อมุ่งหน้าไปยังประเทศมาเลเซียเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุเรือล่มจนถึงขณะนี้ ยังไม่ทราบชะตากรรมของชาวโรฮิงญาที่อยู่บนเรือดังกล่าว โดยชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า ทางการพม่าไม่ได้ให้ความสนใจที่จะออกตามหาผู้รอดชีวิตในครั้งนี้แต่อย่างใด
นอกจากนี้มีรายงานว่า เรือนจำทะแย็ต ในเขตมะกวย ยังคงกุมขังชาวโรฮิงญาจำนวน 80 คนต่อไป แม้ทั้งหมดจะได้รับการนิรโทษกรรม และบางส่วนต้องโทษจำคุกครบกำหนดแล้วก็ตาม โดยชาวโรฮิงญาเหล่านี้ไม่สามารถพูดภาษาพม่าได้ และถูกจับกุมระหว่างที่กำลังจะเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ สื่อพม่ารายงานว่า ผู้ต้องขังที่เป็นชาวโรฮิงญามักถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในเรือนจำทั่วประเทศพม่า เช่นผู้ต้องขังชาวโรฮิงญาที่เรือนจำต่องกะเล ในเมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยงกำลังขาดสารอาหารและไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ขณะที่ผู้ต้องขังโรฮิงญาในเรือนจำอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง มักถูกทุบตีและต้องทำงานซ่อมบำรุงส้วมและงานต่ำต้อยอื่นๆ หากพวกเขาไม่ได้ติดสินบนให้เจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นต้น