จตุพร สุสวดโม้

สามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่มีเอกสารทางทะเบียน ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่มีแม้กระทั่งโรงเรียนระดับประถม
เนื่องจากมีสามเณรหลายสิบชีวิตตามพ่อแม่ญาติพี่น้องอพยพเข้ามาในไทย ต้องหนีภัยสงครามเพราะทหารพม่าทิ้งระเบิดลงหมู่บ้าน บ้านถูกเผา บางคนเป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ถูกไฟคลอกตาย วัดวาอารามพังทลาย ไม่มีที่ให้ซุกหัวนอน ต้องมาอาศัยกับเจ้าอาวาสที่วัดในจังหวัดเชียงใหม่ช่วยอนุเคราะห์ดูแล
สามเณรชาญ อายุ 10 ขวบ เรียนที่โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (โรงเรียนสาธิตบาลี มจร.) ตั้งแต่ก่อนอพยพหนีภัยสงคราม เขามีพ่อแม่เป็นแรงงานข้ามชาติทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่ พวกเขาทำงานหนักไม่มีเวลาในการดูแลลูก นานครั้งถึงจะมีโอกาสได้เจอกัน เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ รายได้ก็น้อยนิด เงินเหลือจากค่าใช้จ่ายก็ได้ถวายปัจจัยแก่พระอาจารย์เพื่อให้ช่วยดูแลต่อไป
“ตอนแรกที่เข้าบวชเพราะพ่อแม่ไม่เงินส่งให้เรียนหนังสือ เลยเข้ามาบวชเรียนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ตอนนี้อยู่กับพระอาทิตย์ที่วัดได้ศึกษาพระธรรมวินัย ได้ไปโรงเรียนอาทิตย์ละ 2 วัน และไม่อยากลาสิกขาและอยากบวชเรียนต่อไป” สามเณรชาญ เล่าถึงที่มา
มุมมองของผู้ที่เห็นต่างว่า เด็กไทยยังด้อยโอกาสทางการศึกษา แต่เอาภาษีคนไทยไปช่วยเด็กต่างด้าว อาจเป็นทัศนะหนึ่งซึ่งปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ แม้พวกเขาเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่อพยพหนีสงครามเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นเวลานานหลายปี
ในขณะที่ พระอธิการสถิตย์ สิริวิชโย เจ้าอาวาสวัดหนองบัว ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า
ตอนนี้มีสามเณรอยู่ในความดูแล 20 คน และฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (โรงเรียนสาธิตบาลีมจร.) เป็นการชั่วคราว แม้จะมีผู้ใจบุญถวายปัจจัยแต่ก็ไม่ได้เพียงพอ
“ตอนนี้ทางวัดก็ขัดสนในเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะค่าน้ำค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะมีหลายชีวิตที่ต้องดูแลและไม่มีทุนการศึกษาเพียงพอ แต่ต้องดูแลพวกเขาต่อไป เพราะหลายคนเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่หย่าร้าง ครอบครัวยากจน ไร้ผู้อุปการะ” เจ้าอาวาสวัดหนองบัว กล่าว
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลทางมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลได้มีการเปิดเผยข้อมูลสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติ ผ่านการประชุมหารือแนวทางการจัดการศึกษาให้กับสามเณรนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติ พบสามเณรนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติในระดับประถมศึกษาจำนวน 34 รูป และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 22 รูป รวม 56 รูป
มีสามเณรนักเรียนที่กําลังเรียนระดับชั้นประถมศึกษา แต่ไม่มีโรงเรียนที่เปิดสอนสําหรับสามเณรในการศึกษาระดับดังกล่าว โรงเรียนประถมศึกษาทั่วไป ก็ไม่มีนโยบายเปิดรับสามเณร ส่วนโรงเรียนปริยัติธรรม จะเปิดเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย
สําหรับการศึกษาของสํานักงานส่งเสริมการเรียนรู้(กสร.) หรือชื่อเดิมคือ กศน.นั้นแม้จะจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่มีเงื่อนไขคือผู้ที่เรียนต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ดังนั้นจึงทําให้กลุ่มสามเณรที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่สามารถเข้าเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่ใดได้เลย สามเณรเหล่านี้จึงตกหล่นจากระบบการศึกษา เพราะไม่มีสถานศึกษารองรับ แต่ในสังคมความเป็นจริงปัจจุบัน มีผู้ที่อายุน้อยในวัยระดับประถมศึกษามาบรรพชาจำนวนมากที่อยู่ในวัยเรียนแต่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ เพราะสถานที่ที่สามารถเรียนได้มีจำนวนน้อยและอยู่ห่างไกลจากวัดที่สามเณรพักอยู่อาศัย
แม้ว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่อนุญาตให้เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษาแก่สามเณร เรียกว่าโรงเรียนพระดาบสน้อย โดยจังหวัดเชียงใหม่มีการเปิดให้เรียนเพียงแห่งเดียวเท่านั้นคือ โรงเรียนวัดศรีล้อม อ.หางดง จ.เชียงใหม่ แต่เนื่องจากมีสามเณรที่พักจำพรรษาในวัดที่อยู่ต่างอำเภอ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียน ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวหรือของเจ้าอาวาสวัดที่ตนพักอยู่
ปัจจุบันมีกลุ่มสามเณรนักเรียนรหัส G ที่ไม่มีเอกสารและพ่อแม่เป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยยังไม่เปิด ให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ติดตามอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มสามเณรนักเรียนรหัส G ที่ไม่มีเอกสารและพ่อแม่เป็นผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพหรือพ่อแม่ยังอยู่ในประเทศพม่า และรัฐบาลไทยยังไม่มีนโยบายในการสำรวจ จัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มเหล่านี้
ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ทำให้เด็กเหล่านี้ในประเทศไทยคือมีสถานะบุคคลไม่ชอบด้วยกฎหมายส่งผลให้การดำเนินชีวิตแต่ละวันเกิดการละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เช่น อาศัยอยู่โดยไม่มีสิทธิอาศัย จึงทำให้อยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อการจะถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งตัวเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่ให้ที่อยู่อาศัยแก่เด็ก รวมทั้งเป็นกลุ่มคนที่จะถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายในสังคมได้โดยง่าย
เครือข่ายที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันและแก้ไขปัญหาให้กับสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติ มีแนวทางที่จะผลักดันให้คณะสงฆ์เปิดเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรมเพราะได้มีการจัดการเรียนการสอนและมีโครงสร้างของบุคลากรและครูผู้สอนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว การเปิดเรียนของคณะสงฆ์ในระดับชั้นประถมศึกษาอาจนำร่องด้วยการเปิดชั้นประถมศึกษา ป.5-ป.6
การเรียนชั้นประถมศึกษารูปแบบ Home School อาจจะเป็นอีก 1 ทางเลือก โดยขออนุญาตเปิดต่อสำนักงานการประถมศึกษาขั้นพื้นฐาน(สปฐ.) โดยมีการประเมินความพร้อมของบ้านพ่อแม่ที่จะทำการสอนและมีการติดตามเป็นระยะ แต่ปัญหาคือสามเณรหลายคนไม่ได้อาศัยกับผู้ปกครอง และอยู่ในความดูแลของเจ้าอาวาส
สำนักทะเบียนควรมีการสำรวจพระเณรที่ไม่เรียนจบระดับชั้นประถมศึกษาทุกโรงเรียนซึ่งหากมีข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระดับนโยบายอาจสามารถจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอและทำหนังสือถึงคณะกรรมการศึกษาจังหวัดของพระสงฆ์ส่งให้สำนักพุทธศาสนาและเริ่มดำเนินการนำร่อง 28 โรงเรียน 8 อำเภอ
มหาเถรสมาคมสำนักพุทธศาสนา และ สพฐ. ต้องร่วมกันสะท้อนข้อเท็จจริง หาแนวทางบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา และเรื่องสถานะบุคคล โดยมี พ.ร.บ การศึกษาแห่งชาติ,พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เพื่อนำมาพูดคุย และแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยมี สพฐ.เขตพื้นที่การศึกษา, โรงเรียนที่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่, หน่วยงาน องค์กรที่ทำงานด้านสถานะบุคคล, มหาเถรสมาคม สำนักพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการสืบทอดศาสนทายาทให้ดำรงอยู่ในพระพุทธศาสนาสืบไปในภายภาคหน้า