Search

เยาวชน3อำเภอร่วมเรียนรู้เป็นนักสื่อสารกันคึกคัก ชาวแม่สะเรียงระดมพลค้านใหญ่วันนี้-ยื่นหนังสือถอนพื้นที่ประทานบัตรออกจากป่า

ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคม 2566 สำนักข่าวชายขอบร่วมกับสำนักข่าว TheReporters จัดการอบรมนักสื่อสารแม่สะเรียง-สาละวิน ณ หอประชุมโรงเรียนบริพัตรศึกษาอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ อ.สบเมย, อ.แม่ลาน้อย และอ.แม่สะเรียง รวมถึงผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ100 คน ทั้งนี้การจัดอบรมครั้งนี้เป็นการพัฒนาทักษะเรื่องการสื่อสารเบื้องต้นให้กับเยาวชนทั้งเรื่องการเขียนข่าวเบื้องต้น การทำคลิป การสัมภาษณ์ การไลฟ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมอบรมเป็นอย่างยิ่ง  โดยมีการลงพื้นที่ป่าดอยช้างซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทเอกชนกำลังขอประทานบัตรเหมือง และชาวแม่สะเรียงต่างออกมาต่อต้านเพราะเชื่อว่ามีผลกระทบรอบด้าน

ทั้งนี้ช่วงหนึ่งได้มีการจัดเวทีชาวแม่สะเรียงอยากได้เหมืองหรือป่าเพื่อให้นักสื่อสารได้ฝึกปฎิบัติการเขียนข่าว โดยมี ดร.ทองทิพย์ แก้วใส แกนนำชุมชนคัดค้านการสร้างเหมือง อ.แม่สะเรียง, นางยอด เกรเกอร์ สมาชิกชุมชนคัดค้านการสร้างเหมือง อ.แม่สะเรียง, นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ แกนนำภาคประชาชนเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน, นายวิชัย กองแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลยวมใต้, นายทยากร บุษยาวรรณ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์และนางพิกุล วงศ์แก้ว ตัวแทนครูโรงเรียนบริพัตรศึกษาเข้าร่วมเสวนา

ดร.ทองทิพย์ กล่าวถึงที่มาของการคัดค้านการสร้างเหมือง อ.แม่สะเรียง ว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ปิดประกาศกรณีบริษัท เชียงใหม่โรงโม่หิน จำกัด ขอประทานบัตรสร้างเหมือง 312 ไร่ ในพื้นที่ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีเวลา 60 วันให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบในเขตรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร เข้าแสดงตัวคัดค้าน ซึ่งต่อมาทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าไม่มีผู้คัดค้าน จึงต้องทำเวทีประชาคมภายใน60 วัน และในขณะนี้ทางบริษัททำหนังสือแจ้งขอระงับการทำเวทีประชาคมไปแล้ว

“เราได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านซึ่งคัดค้านการสร้างเหมืองกว่า6,000 คน ทำหนังสือนัดพบผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ป่าไม้จังหวัด เพื่อสอบถามว่าหนังสือคัดค้านที่ยื่นให้ไปนั้นมีผลอย่างไรบ้าง เป้าหมายของเราคืออยากให้ยุติการขอประทานบัตร โดยพื้นที่รอบ 312 ไร่นั้นมีหน่วยงานราชการมากมาย เช่น โรงเรียน 7 แห่ง โรงพยาบาล ศาลจังหวัด ที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง เป็นต้น ในด้านสิ่งแวดล้อมแล้วสถานที่เหล่านี้เป็นผืนป่าแม่สะเรียงอยู่ในอ้อมกอดของภูเขา หากสร้างเหมืองจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากเราสู้ 2 ทาง คือมวลชนและกฎหมายควบคู่กันไป โดยวันที่ 19 สิงหาคม เราจะยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแนบการประชาคมที่ชาวบ้านกว่า20 หมู่บ้านลงชื่อ ขอถอนให้ป่าแม่สะเรียงออกจากพื้นที่เหมืองแร่” ดร.ทองทิพย์ กล่าว

ด้าน นายทยากร บุษยาวรรณ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกับผืนป่าโป่งดอยช้างพื้นที่ขอประทานบัตร กล่าวว่าสาเหตุที่ต้องคัดค้านการสร้างเหมืองเนื่องจากโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2513 ที่ผ่านมาได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองจาก  อ.สบเมย อ.แม่ลาน้อยและอ.แม่สะเรียง ส่งลูกหลานมาเรียนอย่างยาวนาน การระเบิดหินสร้างเหมืองจะส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กๆอย่างแน่นอน

“เราเป็นโรงเรียนที่ใส่ใจดูแลความปลอดภัยสภาวะแวดล้อม การระเบิดหินในผืนป่าซึ่งติดกับโรงเรียนจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการศึกษา สิ่งที่เป็นกังวล 3เรื่อง คือหนึ่ง เสียงซึ่งอาจจะมีเวลาระเบิด เครื่องจักรทำงาน การสัญจรของรถบรรทุกหินที่มีมากถึง30-40 เที่ยวต่อวันจะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนสอง มลภาวะ โดยเฉพาะฝุ่นในโรงเรียนหรือใน อ.แม่สะเรียง มีสภาวะภูมิแพ้ ฝุ่นละอองในอากาศเข้ามามีผลกระทบ คนที่เป็นภูมิแพ้ฝุ่นจะทพให้อาการกำเริบแทรกซ้อน สมรรถภาพทางปอดลดลง เกิดปอดอักเสบ มะเร็งปอด และสามคืออุบัติเหตุ การใช้ถนนขนหินของรถบรรทุกเสี่ยงยังส่งผลให้ถนนชำรุด ผู้บริหารโรงเรียนสืบทอดเจตนารมย์การสร้างคนตั้งแต่เด็กๆ เรากังวลการจะมีเหมืองแร่ และเห็นว่าไม่ควรที่จะมี” ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ กล่าว

ด้านนางพิกุล วงศ์แก้ว ตัวแทนครูโรงเรียนบริพัตรศึกษา กล่าวว่า เสียงจากเด็กๆทำให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่วันข้างหน้า โรงเรียนบริพัตรฯเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่มีนักเรียน1,917 คน เป็นเด็กในพื้นที่ซึ่งครอบครัวไว้วางใจส่งมาเรียนถ้าจะเกิดปัญหาประเด็นใดที่กระทบกับเด็กให้การเรียนด้อยลงกระทบการศึกษาหรือกระทบภาพรวมทั้งหมด สุขภาพ เสียง ทางโรงเรียนไม่เห็นด้วย เสียงจะทำให้นักเรียนเสียสมาธิ ทราบกันดีว่าปัจจุบันเด็กสมาธิสั้น ผลกระทบจากเสียงทำให้คุณภาพเด็กแย่ลง

นางยอด เกรเกอร์ สมาชิกกลุ่มคัดค้านการสร้างเหมือง อ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า พื้นที่ อ.แม่สะเรียง เป็นแอ่งกระทะ เวลาอากาศร้อนจะร้อนมาก หนาวก็หนาวมาก หากทำเหมืองฝุ่นจะลงมาแม่สะเรียงทุกตำบลจะได้รับผลกระทบ ตนเดินทางไปต่างประเทศมาหลายแห่ง รับรู้ได้เลยว่าการทำเหมืองครั้งนี้ไม่ใช่การพัฒนาแต่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ตนต้องออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องเมืองแม่สะเรียงซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำและมีภูเขาแหล่งธรรมชาติต่างๆที่ยังบริสุทธิอยู่ไว้ให้ลูกหลาน

นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ เครือข่ายภาคประชนชนลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน 87 เปอร์เซ็นต์เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ มีโครงการจากภาครัฐลงมาเยอะมากทั้งดีและไม่ดี ฐานทรัพยากรจะถูกแย่งชิงจากคนบางกลุ่มเพื่อเอาประโยชน์เข้าตัวเอง

“ที่ผ่านมาการขอประทานบัตรสร้างเหมืองอาจจะมีการลักไก่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้และไม่มีส่วนร่วม ขั้นตอนต่างๆไม่ชัดเจนเพราะคนที่จะทำต้องชี้แจงให้ชาวบ้านอย่างถูกต้องชัดเจน นั่นจึงทำให้ประชาชนลุกขึ้นปกป้องทรัพยากรเพราะข้อมูลไม่ชัดเจนบริษัทไม่อยากฟังความคิดเห็น” นายสะท้าน กล่าว

ในขณะที่ นายวิชัย กองแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลยวมใต้ กล่าวว่ามีความกังวลที่การสร้างเหมืองจะกระทบกับแหล่งน้ำดิบซึ่งเทศบาลสูบให้ชาวบ้านใช้มาตลอด ซึ่งพื้นที่อยู่บริเวณป่าต้นน้ำ อีกทั้งชาวบ้านกลัวว่าน้ำจะแห้งหายไปเวลาระเบิดหินทั้งโรงโม่ทำให้ฝุ่นละอองกระจายทั่ว

————

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →