
สำนักข่าว Chindwin รายงานเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ระบุว่า กองทัพพม่าได้สั่งจำคุก พ.ต.สะหย่า ทุน ผู้บังคับกองพัน สังกัดกองพันที่ 301 ในเขตสะกาย เป็นเวลา 20 ปี ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งทางทหารจากผู้บังคับบัญชาเบื้องบน ในเขตสะกายซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสงครามตึงเครียดระหว่างฝ่ายต่อต้านและกองทัพพม่า แต่ไม่มีรายงานว่า รายละเอียดว่าเกี่ยวกับประเด็นไหน
แหล่งข่าวทหารเปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษของรัฐบาลทหารได้ควบคุมตัวแม้แต่ผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคเหนือเพื่อซักถาม เนื่องจากดูเหมือนว่า ขณะนี้ปัญหาผู้บัญชาการแนวหน้าไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งข้างบนนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นโดยการตัดสินใจของรัฐบาลทหารในการจับกุมและจำคุกผู้บังคับกองพันนั้นได้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของกองทัพ
ทางด้านรัฐบาล NUG ออกมาเปิดเผยว่า ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา มีทหารพม่าจำนวน 500 คน ได้แปรพักตร์เข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า ซึ่งทหารพม่าบางคนมียศถึงรองผู้บังคับกองพัน โดยบางส่วนได้หนีเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ขณะที่ทหารพม่าบางส่วนหนีไปตามลำพังไม่เข้าร่วมกับกลุ่มไหนโดยนับตั้งแต่รัฐประหารที่ผ่านมา มีทหารและตำรวจราว 15,000 คน ได้เข้าร่วมกับการประท้วงอารยะขัดขืน (CDM)
ร.อ. เท็ดเมียต เปิดเผยว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ทหารพม่าหันหลังให้กับกองทัพพม่าเพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากการปฏิวัติของประชาชนเพื่อต่อต้านกองทัพพม่า ความสูญเสียล้มตายและบาดเจ็บในกองทัพพม่าทำให้ทหารพม่าบางส่วนตัดสินใจแปรพักตร์ โดยวิกฤติการขาดแคลนทหารในกองทัพพม่านั้น ทำให้กองทัพมีท่าทีผ่อนคลายคุณสมบัติบางอย่าง รวมไปถึงการขยายระยะเวลาการรับสมัครเจ้าหน้าที่ทหารใหม่ นอกจากนี้ยังใช้กลโกงในการรับสมัครเจ้าหน้าที่ทหารใหม่ โดยโพสต์โฆษณาบนโซเชียลมีเดียที่ออกแบบมาเพื่อทำให้ผู้หางานเข้าใจผิดคิดว่านายจ้างเป็นบริษัทเอกชน
มีรายงานว่าด้วยว่า พล.อ.มินอ่องหล่าย ได้เสนอให้ทหารที่เคยได้รับบาดเจ็บสาหัสสามารถลาพักร้อนไปพักผ่อนที่ทะเล หรือการสั่งให้ผู้บังคับบัญชานั่งโต๊ะทานอาหารกับทหารชั้นผู้น้อย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ หรือแม้กระทั่งการส่งฝ่ายนันทนาการไปลดความเครียดให้กับทหารแนวหน้าเป็นต้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพพม่า แต่ในอีกด้านหนึ่งกองทัพพม่าได้ยกระดับการโจมตีที่รุนแรงขึ้นต่อพลเมืองทั่วประเทศด้วยเช่นเดียวกัน