
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 พล.อ.บอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆว่า สถานการณ์ยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง 2 ปีกว่าที่รัฐบาลทหารพม่ายึดอำนาจไว้ รวมถึงความพยายามในการเคลื่อนไหวของกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ เห็นว่า ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เรายังต้องพยายามต่อไป เพราะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ และทำให้สถานการณ์ภายในประเทศจะดีขึ้นเราก็ยังต้องทำสุดกำลังต่อไป
พล.อ.บอ จ่อ แฮ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการบอกคือ การเป็นรัฐบาลนั้นต้องเป็นเพื่อประโยชน์ของประชาชน การเป็นผู้นำต้องเป็นเพื่อทำงานให้ประชาชน ปัจจุบันนี้จะพบว่า ประชาชนต้องการผู้นำที่ดี มีความยุติธรรม แต่ เมื่อยังไม่ได้ผู้นำตามที่หวัง ก็ยังคงต้องทนกับความทุกข์ยากลำบาก แต่ประชาชนต้องอย่าท้อและต้องพยายามร่วมกันโดยช่วยกันเปิดเผยความไม่ถูกต้อง เราใช้ชีวิตบนความถูกต้อง วันหนึ่งเราจะได้รับสิ่งที่คู่ควร เราจะต้องได้ผู้นำที่ดี ผู้นำที่มีความยุติธรรม และเราจะได้รับความสงบสุข
“สำหรับผมแล้วตอนนี้เรายังไม่มีความหวังที่จะได้เห็นผู้นำพม่าที่มีความยุติธรรม ประชาชนทุกคนเรายังต้องยืนหยัดด้วยความกล้า และนำเสนอในสิ่งดี พูดสิ่งที่ถูกต้อง วันหนึ่งผมหวังว่าเราจะได้ผู้นำที่มีความยุติธรรม ผู้นำต้องเป็นคนที่ใจกว้าง และมีความยุติธรรมเพื่อคนหมู่มาก รัฐบาลต้องคิดเพื่อผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ ดังนั้น ผู้นำคนหนึ่งก็ต้องคิดเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน เราต้องการผู้ที่มีคุณค่า ตอนนี้เรายังไม่เจอ เราจึงต้องช่วยกัน” รองผู้บัญชาการ KNLA กล่าว
ด้านรศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มนโยบายและท่าทีของรัฐบาลไทยที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีต่อสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศพม่าว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลเพื่อไทยมีแนวโน้มที่จะมุ่งไปที่การสร้างสันติภาพในประเทศเพื่อนบ้านที่ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนหรือรักษาโอกาสด้านการค้าการลงทุน และไม่ใช่นโยบายทางการทูตแบบก้าวหน้าหรือมีกระดูกสันหลังมากแบบพรรคก้าวไกล
รศ.ดร.ดุลยภาพกล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูนโยบายด้านนี้ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะไม่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่า แต่เข้าไปลงทุนมากกว่า รวมทั้งคิดริเริ่มในกรอบต่างๆของภูมิภาค แต่สถานการณ์ในพม่าปัจจุบันอาจแตกต่างไปจากยุครัฐบาลทักษิณเพราะในพม่ามีการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน ซึ่งประชาคมโลกและอาเซียนให้ความสนใจดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องส่งเสียงบ้างเพื่อกดดันรัฐบาลทหารพม่าล้อรับกับการประชุมอาเซียน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในนโยบายด้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ชายแดนไทยจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อาจารย์ มธ.กล่าวว่า ในอดีตฝ่ายความมั่นคงของไทยให้ความสำคัญกับเรื่องรัฐกันชนเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากับทหารพม่า แต่เมื่อรัฐบาลทักษิณเข้ามาได้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทหารพม่าโดยตรง เช่น บอกว่าทหารไทยอย่าโอเวอร์รีแอคเกินไป อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายความมั่นคงของไทยกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็ไม่ได้กลับมาแข็งแรงเหมือนในอดีตยุคสงครามเย็น
“วันนี้หากรัฐบาลไทยเอนไปทางฝ่ายประชาธิปไตยในพม่า การสนับสนุน KNU หรือ KNPP ก็จะขัดแย้งกับรัฐบาลทหารพม่าโดยตรง แต่ถ้าหากมีความสัมพันธ์กับทหารพม่าก็ต้องถูกกดดันจากเวทีนานาชาติ จึงเชื่อว่าบทบาทของรัฐบาลเศรษฐาคงออกมากลางๆ คืออาจกดดันรัฐบาลทหารพม่าในบางมุม ส่วนความสัมพันธ์กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นปกติไป และไม่น่าจะแข็งแรงหรือเป็นล่ำเป็นสันมากนัก” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว
เมื่อถามถึงความช่วยเหรือด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้ที่หนีภัยการสู้รบคิดว่าจะดีขึ้นหรือไม่ รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา กล่าวว่า อาจมีการนำเรื่องมนุษยธรรมไปผูกกับสันติภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน แต่พรรคก้าวไกลและพรรคเป็นธรรมจะเป็นผู้แสดงบทบาทตรงนี้ชัดเจนกว่า ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยก็ต้องหยิบยกมาพิจารณา ดังนั้นจึงเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับประเด็นนี้น่าจะมีมากกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่อาจไม่ถึงกับการทำให้เป็นจุดเปลี่ยน
เมื่อถามว่ามองอย่างไรก็ข้อเสนอของภาคประชาชนในชายแดนที่ต้องการให้พื้นที่บางแห่งเป็นเขตปลอดการทิ้งระเบิดเพื่อผู้หนีภัยการสู้รบจะได้อยู่อย่างปลอดภัย รศ.ดร.ดุลยภาพ กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ในบางจุด ที่ไม่มีได้สู้รบรุนแรงและพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน หรือทำเป็นพื้นที่สันติภาพซึ่งทหารไทยและทหารพม่าสามารถคุยกันในระดับคณะกรรมของพื้นที่อยู่แล้ว แต่ในพื้นที่ที่เป็นจุดต่อสู้รุนแรงหรือเป็นจุดยุทธศาสตร์ กองทัพพม่าคงไม่ยอม
เมื่อถามอีกว่า คิดว่าทำไมรัฐบาลทหารพม่าถึงมุ่งโจมตีเมืองลอยก่อและรัฐคะเรนนีอย่างหนักหน่วง รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า กองกำลังคะเรนนีเข้าไปมีส่วนสัมพันธ์กับกองกำลังประชาชน PDF และก่อรูปเป็นกองกำลังต่างๆ ทำให้การสู้รบเข้มข้น และลึกๆแล้ว ผู้นำคะเรนนีมีแนวคิดแยกตัวออกจากสหภาพ แต่มาลงที่สหพันธรัฐ ซึ่งทหารพม่ารู้ว่า PDF ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มกองกำลังคะเรนนีอยู่เยอะ และคะเรนนีก็อยากแยกรัฐอยู่แล้ว เมื่อมีการทำรัฐประหารในพม่า ทำให้มีการรื้อฟื้นเรื่องเอกราช นอกจากนี้ลอยก่ออยู่ใกล้ศูนย์กลางราชการของพม่า ขณะเดียวกันในชายแดนคะเรนนีที่ติดกับไทยมีเนิน ดง ดอย หลายจุดที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่กองทัพพม่าจำเป็นต้องยึดไว้ให้ได้ เพราะเป็นชัยภูมิที่ได้เปรียบ
“กองกำลัง KNPP และ KNU มีฐานเคลื่อนไหวเป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อมารวมกับ PDF ทำให้เข้มแข็งขึ้น ไม่นับผืนป่าที่ติดกับแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อก่อนไม่มีกองกำลังแน่นหนา แต่ PDF ได้ขยายพื้นที่มากขึ้น ทำให้ทหารพม่าต้องเข้าไปคุมพื้นที่จึงเกิดการต่อสู้ขึ้น” อาจารย์ มธ. กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดนด้านตะวันตกของไทยกล่าวว่า สิ่งที่กลุ่มกองกำลังต่างๆกำลังจับตามองคือบทบาทของรัฐบาลจีน เนื่องจากปัจจุบันคนจีนเข้ามามีผลประโยชน์จำนวนมากในประเทศพม่า โดยเฉพาะในแถบจังหวัดชายแดนไทย-พม่า ที่มีนักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนมากมาย ทั้งที่เป็นธุรกิจเปิดเผย เช่น การทำเหมืองแร่ และธุรกิจสีเท่า เช่น บ่อนคาสิโน ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าให้น้ำหนักกับจีนมาก เห็นได้จากการที่จีนประสานให้ดำเนินการกับนักธุรกิจสีเทาในพม่าที่เมืองเมียวดี ทำให้รัฐบาลทหารพม่าต้องดำเนินการในทันทีเพราะกองทัพพม่าต้องพึ่งพาอาวุธจากจีนด้วย รัฐบาลทหารพม่าฟังจีนเป็นหลัก
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางการเมืองของไทยโดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐชุดใหม่ก็เป็นที่จับตามองของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ในพม่าเช่นกัน เพราะนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะส่งผลต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง
“จริงๆ แล้วกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้มีการหารือกันตลอดและจับมือกัน เพียงแต่พื้นที่ไม่ได้อยู่ติดกัน ทำให้การหนุนเสริมด้านกำลังพล และอาวุธ มีข้อจำกัด ตอนนี้พม่าได้ใช้วิธีการแทรกแซงในทุกระดับ ขณะที่จีนยังไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะมีการปรับนโยบายอย่างไร นโยบายของรัฐบาลทหารพม่าก็ต้องขึ้นอยู่กับจีนด้วย” แหล่งข่าว กล่าว