เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ทางการไทยส่งเด็กนักเรียนไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กลับประเทศพม่า ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่ว่าเด็กกลุ่มนี้จะเข้าเมืองด้วยกระบวนการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ควรคำนึงถึงสิทธิการศึกษาของเด็ก และควรถอดบทเรียนว่าหากมีเหตุการณ์หรือกรณีแบบนี้ และกรณีใด ๆ เกิดขึ้นอีก ควรจัดการและหากระบวนการที่เหมาะสม เท่าที่ทราบขณะนี้เด็กหลายคนกลับไปเข้าเรียนในพื้นที่ในประเทศเพื่อนบ้านและมีบางรายย้อนกลับเข้ามาเรียนในประเทศไทยผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า มีข้อสังเกต 1.ในกรณีนี้อาจจะไม่สามารถยกขึ้นมาเป็นกรณีชี้กระบวนการว่าถูกหรือผิดได้ เพราะรัฐไทยยังไม่มีกระบวนการถอดบทเรียนว่าหากในสถานการณ์ที่จำเป็นและคำนึงถึงว่าสิทธิใดควรมาเหนือสิทธิใด ๆ และควรมีวิธีการในการปฏิบัติอย่างไร เช่น สิทธิการศึกษาควรที่จะมาก่อนการโยกย้ายถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม หรือสิทธิที่อพยพมาหนีภัยสงครามเข้าเมืองนั้นๆ ควรที่จะเหนือการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า 2.ในกรณีนี้ส่งผลกระทบต่อในเชิงลบต่อการจัดการศึกษาเนื่องจากโรงเรียนทั่วประเทศไม่กล้าเปิดรับเด็กไร้สถานะทางเบียน และหน่วยงาน คือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็มีความวิตกกังวลว่าจะเกิดกรณีนี้ขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อการดูและการจัดการศึกษาในกับเด็กจำนวนหนึ่ง ควรเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
3.ในกรณีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนที่นำเด็กมาเรียน ยังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสอนและยังไม่เห็นความคืบหน้าในการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการว่ามีการส่งฟ้องหรือไม่ เพราะต้องดูข้อเท็จจริงและเจตนาประกอบ สิ่งที่ผู้อำนวยการโรงเรียนกระทำนั้นเข้าข่ายเป็นเจตนาพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจริงหรือไม่ หรือมีความหวังดีต้องการให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียน ซึ่งก็มีข้อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี แต่กระบวนการยุติธรรมนั้นได้เดินหน้าไปแล้ว ซึ่งควรช่วยกันติดตามเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างความชัดเจนให้กับหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ ในเมื่อรัฐมนตรี ศธ. ยืนยันเองว่า สิทธิการศึกษาควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ ตามหลักการ Education for all ดังนั้นก็ไม่ควรจะมีประเด็นที่เป็นข้อจำกัดใดๆ และรัฐมนตรี ศธ.ควรที่จะมีนโยบาย หรือมีหนังสือสั่งการให้ทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ใกล้กับชายแดน” นายณัฐวุฒิกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบเด็กนักเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จำนวน 126 คนที่ถูกส่งกลับมายังจังหวัดเชียงรายนั้น มีเพียง 4 คนที่ยังอยู่ในบ้านพักเด็กฝั่งไทย เนื่องจากไม่มีพ่อหรือแม่มารับ เนื่องจากพ่อเป็นผู้หนีภัยการสู้รบ ส่วนเด็ก 122 คนถูกผลักดันกลับฝั่งพม่าแล้ว โดยมี 7 คน ข้ามกลับมาเรียนในโรงเรียนฝั่งไทย 10 คน เรียนในศูนย์การศึกษาฝั่งไทย และอีก 4 คนเข้ามาทำงานรับจ้างเก็บใบชาในฝั่งไทยเนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ส่วนเด็กที่เหลืออีกกว่า 100 คน มีเพียงส่วนน้อยที่ได้เรียนในฝั่งพม่าเพราะครอบครัวมีฐานะยากจนเช่นเดียวกัน
ในขณะที่ น.ส.ลาหมึทอ อดีตเด็กไร้สัญชาติริมแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า พ่อแม่เป็นผู้อพยพมาจากประเทศพม่า ครอบครัวยากจนต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อส่งเธอเข้าเรียน และจำเป็นที่จะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อลดค่าใช้จ่าย เวลาที่เดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปโรงเรียนซึ่งต้องผ่านด่านตรวจ ทำให้รู้สึกระแวงทุกครั้ง มีความกังวลและรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่วนชีวิตในโรงเรียนถูกคนรอบข้างมองด้วยความแปลกแยก สายตาของคนอื่นที่มองมาคล้ายกับว่าเราคนไม่ปกติ
“ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เรามีโอกาสได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี แต่ถูกปฏิเสธทุนการศึกษาเพราะไม่มีสัญชาติไทย ทำให้รู้สึกด้อยค่าและโดนกีดกันทางการศึกษาในเวลาเดียวกัน ถึงแม้ว่าพ่อแม่เราจะมาจากฝั่งพม่า แต่เราเองเกิดในไทย ไม่ได้มีความผูกพันกับประเทศต้นทางเลย แต่กลับถูกตีตราว่าเป็นต่างด้าว ปัจจุบันยังมีเด็กไม่มีเอกสารทางทะเบียนอีกจำนวนมากและไม่ได้รับโอกาสตามตามที่พรบ.ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการระบุ” นางสาวลาหมึทอกล่าว