Search

คณะสส.“ก้าวไกล”ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเด็กตัว G เชียงใหม่ พระสงฆ์วอนช่วยสามเณร 81 รูปกำลังหลุดจากระบบ

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 คณะทำงานนโยบายการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนเด็กนักเรียนกลุ่ม G และการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ พรรคก้าวไกล นำโดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรค นายปารมี ไวจงเจริญ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วงเข้า ได้ร่วมสัมมนาและพบปะกลุ่มสามเณรที่ไม่ได้รับสิทธิในการศึกษา ณ ห้องประชุมศรีปริยัติยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และช่วงบ่ายลงพื้นที่ศูนย์มิตรภาพไร้พรมแดน Leadersship Hoom อ.เชียงดาว

ทั้งนี้ในเสวนาได้มีการอภิปรายถึงแนวทางและนโยบายการแก้ไขปัญหากลุ่มสามเณรตกหล่นจากระบบการศึกษาและสถานะทางกฎหมาย โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม  กล่าวว่า การมารับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เนื่องจากต้องการศึกษาประเด็นปัญหาของเด็กไร้สถานะทางทะเบียนที่ไม่สามารถลงรหัส G-Code ได้ แม้ในขณะนี้กำลังรอสภาผู้แทนฯบรรจุวาระตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) และวิสามัญ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังมีญัตติที่ค้างอยู่ 30 ฉบับ ทางพรรคก้าวไกลจึงต้องการศึกษาข้อมูลซึ่งมี 4 ประเด็นหลักที่ต้องการทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา คือ 1.ต้องการทราบสถานการณ์ของเด็ก 126 คนในจังหวัดอ่างทองที่ถูกส่งตัวกลับประเทศพม่า 2.อยากทำความเข้าใจเมื่อเด็กเหล่านี้เข้ามาในประเทศ ระบบการลงรหัส G-code นั้น จะจัดทำโดยโรงเรียน หรือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) ซึ่งมีการประสานงานกันแบบใดและมีการตกหล่นหรือไม่ 3.หากมีการลงรหัส G จะนำไปสู่การลงสถานะบุคคลให้ได้รับสัญชาติได้หรือไม่อย่างไร เป็นระบบรายปัจเจกหรือเหมารวม เช่น ในกรณีที่เขาเกิดที่ไทยควรจะได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ 4.ถ้าหากต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจังในเชิงระบบ จะต้องแก้อย่างไร แก้นโยบาย หรือกฎหมายต่างๆ

นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวว่า เรื่องการศึกษาในประเทศไทยสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องสถานะของบุคคลยังไม่มีวิธีการที่เป็นระบบมากนัก นอกจากใช้เรื่องมนุษยธรรม เด็กทุกคนนั้นอยากมีโรงเรียนมีความฝันที่ต้องการไปโรงเรียน แต่ยังมีหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาไทย หากพูดถึงเรื่อง Education for all หรือการศึกษาเพื่อคนทุกคนแท้จริงแล้วนั้น รองรับเด็กที่เคลื่อนย้ายมาตามลำพังหรือตามพ่อแม่เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่  กระทรวงการศึกษาได้พัฒนารองรับเด็กเหล่านี้เข้าไปสู่ระบบ G-Code ตั้งแต่ปี 2561 เช่น หากเด็กเข้าโรงเรียนจะต้องดูว่ามีสูติบัตร มีหลักฐานแสดงตัว ทะเบียนราษฎร์ หากไม่มีเอกสารจะต้องดูว่ามีหลักฐานอื่น ๆ ที่ข้าราชการออกให้หรือไม่ ต่อให้ไม่มีอะไรเลยเด็กเหล่านี้จะได้รับการบันทึกประวัติบุคคล เมื่อบันทึกเรียบร้อยแล้วจะนำไปสู่การขอรหัสตัว G แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นหลัก ๆ คือเด็กไม่ได้ผ่านระบบ G-Code นับเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา เด็ก 81,594 ราย ยังไม่สามารถลงรหัสตัว G ได้ และจะเกิดปัญหาใหญ่ในปีที่เด็กจบการศึกษาและต้องย้ายที่เรียนจะไม่สามารถพบข้อมูลของเด็กนักเรียน

“เร่งรัดการจัดทำทะเบียนประวัตินักเรียนกลุ่ม G จัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กเคลื่อนย้ายและทุกคนโดยเฉพาะ การจัดการให้สามเณรที่กำลังหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยระยะถัดไปคือ 1. กระบวนการพิจารณาถอนข้อสงวนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 22 ซึ่งเหลือประเทศเดียวในโลกคือประเทศไทย 2.การจัดทำแผนระดับชาติว่าด้วยความคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐาน 3.การติดตามกระบวนการยุติภาวะคนไร้รัฐให้หมดไปภายในปี 2567 ที่ได้กล่าวคำมั่นสัญญาต่อองค์กรสหประชาชาติ United Nation”สันติพงษ์ กล่าว

พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ (วงใส) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในช่วงหลัง ๆ ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในวัด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่รองรับโดยเฉพาะกลุ่มสามเณรที่เข้ามาหลักนั้นมี 3 กลุ่ม คือ 1.สามเณรเกิดในไทยที่ตกหล่นทางสถานะ 2.ลูกของแรงงานข้ามชาติ 3.กลุ่มสามเณรที่อพยพเข้ามา ซึ่งเด็กเหล่านี้เข้ามาพึ่งพาอาศัยวัดเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในชีวิตและเราจำเป็นที่จะต้องดูแล

พระมหาสมเกียรติ สิริอรุโน ผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา กล่าวว่า สามเณรที่จบการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6 และกำลังเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เด็กในช่วงวัยนี้ไม่ได้มีปัญหามากนัก เพราะมีโรงเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนปริยัติธรรมศึกษา แผนกสามัญศึกษา ซึ่งมีทั้งหมด 406 โรงเรียนทั่วประเทศรองรับ แต่ปัญหาหลัก ๆ คือสามเณรที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนคือช่วงวัยประถมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งสำรวจเพียง 3 โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ คือ โรงเรียนวัดป่าเป้า โรงเรียนวัดหนองบัว อำเภอแม่แตง โรงเรียนวัดหนองบัว อำเภอดอยสะเก็ด พบว่าสามเณรอยู่ในช่วงระดับป.1-6 จำนวน 81 รูป และจากไม่มีโรงเรียนรองรับ ทั้งนี้ต้องการแก้ไขปัญหาและเร่งหาวิธีการให้กับสามเณรเหล่านี้อย่างเร่งด่วน

ด้านสามเณรร้อนแสง ชาวไทใหญ่ อายุ 15 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ได้อพยพตามพ่อกับแม่มาอยู่ในไทยเป็นเวลา 5 ปี จำพรรษาที่วัดแห่งหนึ่ง และกำลังศึกษาที่โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยไปโรงเรียน 3 วันต่อสัปดาห์ ขณะนี้บวชเรียนได้ประมาณ 3 พรรษา เนื่องจากไร้โอกาสทางการศึกษาในระบบปกติ ส่วนตัวสนใจเรียนวิชาภาษาไทย และหากมีความรู้ความเข้าใจในการพูด อ่าน เขียนได้  ในอนาคตอาจจะใช้ความสามารถเพื่อเป็นล่ามแปลภาษาช่วยเหลือคนชาวไทใหญ่ด้วยกันได้

On Key

Related Posts

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →